ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมหนังสือ-การอ่าน ดันเศรษฐกิจไทย

17 ต.ค. 2567 | 22:27 น.

กรรมการยุทธศาสตร์ซอฟท์พาวเวอร์แห่งชาติ ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมหนังสือ-การอ่าน ในมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 29 ระหว่างวันที่ 10-20 ตุลาคม 2567 หนุนเศรษฐกิจไทยให้เติบโต

นายจรัญ หอมเทียนทอง ที่ปรึกษาสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) อดีตประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านหนังสือ ในคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ กล่าวว่า คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านหนังสือและกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ให้การสนับสนุนนิทรรศการและกิจกรรมหลัก ในงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 29  ตั้งแต่วันที่ 10-20 ตุลาคม 2567 ซึ่งจัดขึ้นที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เพื่อสนับสนุนการอ่านในทุกช่วงวัยให้เป็นวัฒนธรรมที่ดีงามของสังคม และช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย

ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมหนังสือ-การอ่าน ดันเศรษฐกิจไทย
โดยสนับสนุนนิทรรศการหลักซึ่งเป็นธีมของงาน “อ่านกัน ยันโลกหน้า” จัดขึ้นระหว่างฮอลล์ 6-7 ได้แก่ “นิทรรศการกระสือแอร์ไลน์” ประกอบด้วยกิจกรรมการถ่ายรูปกับ “หัวกระสือสาว” ออกแบบให้มีความทันสมัย น่ารัก และมีลิ้นยื่นยาว กิจกรรม “เพลนผีบอก” สร้างบรรยากาศให้ผู้เข้าชมรู้สึกเหมือนอยู่บนเครื่องบิน สื่อถึงการอ่านหนังสือทำให้เดินทางไปได้ไกลในอนาคต และรวดเร็วเหมือนการโดยสารเครื่องบิน แม้กระทั่งกระสือที่บินได้เองยังมาใช้บริการ เพื่อให้เดินทางได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ภายในรวบรวมคำแนะนำหนังสือเล่มโปรดจาก 30 นักเขียนที่ได้รับความนิยมของไทย นำเสนอผ่านเทคโนโลยี VDO Interview บนจอ LED ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรก 

นอกจากนี้ ยังมีนิทรรศการ “ทางออกสู่โลกหน้า” สายพานรับกระเป๋าเดินทาง จัดแสดง 100 ปกหนังสือเล่มจริงที่ได้รับการคัดเลือก จากโครงการประกวดออกแบบปกหนังสือ 100ABCD จากทั้งหมด 500 ปก ซึ่งหน้าปกถือเป็นส่วนสำคัญของหนังสือในการดึงดูดนักอ่านและนักวาดไทยก็มีความเก่งในด้านนี้ โดยได้รับความสนใจจากผู้ร่วมงานจำนวนมาก

ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมหนังสือ-การอ่าน ดันเศรษฐกิจไทย

ถัดมาคือ นิทรรศการ “Little Read Universe” เรื่องอ่านของเด็ก เล็กเท่าจักรวาลบูธ R02 เปิดพื้นที่ให้เด็กและครอบครัว รวมทั้งผู้สนใจได้มาใช้เวลาอ่านด้วยกันจากหนังสือที่บรรดาสำนักพิมพ์ร่วมสนับสนุน และสามารถหาซื้อได้ภายในงาน ประกอบด้วย กิจกรรมห้องนักอ่าน บ้านนักเขียน โดยนักเขียนและนักวาดภาพประกอบมา ส่งต่อแรงบันดาลใจด้วยการเล่านิทานพร้อมทำหนังสือของตัวเอง เพราะเชื่อว่าการปลูกฝังนิสัยรักการอ่านต้องเริ่มต้นตั้งแต่วัยเด็ก 

รวมทั้งกิจกรรม Book Swap : โซนแลกหนังสือโดยการนำหนังสือมาแลกกับหนังสือเล่มอื่นที่สนใจ ซึ่งจะจัดเป็นหมวดหมู่หนังสือ และกำหนดช่วงเวลาที่แตกต่างกันออกไปตามความสนใจของผู้เข้าร่วมกิจกรรม ภายในบูธยังมีกิจกรรมวาดภาพระบายสีในหัวข้อ Kids wall ให้ได้ร่วมสนุก, กิจกรรม Book Lab : จัดเวทีเล็กๆ ให้นักเขียนหรือนักอ่านมาแบ่งปันแลกเปลี่ยนเทคนิค ทักษะ เกร็ดความรู้จากกูรู เป็นต้น

ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมหนังสือ-การอ่าน ดันเศรษฐกิจไทย

“นิทรรศการและกิจกรรมที่เราสนับสนุน ได้ผ่านกระบวนการคิดมาอย่างดีและทุกกิจกรรมแฝงไปด้วยการอ่านหนังสือแทบทั้งสิ้น เช่น Little Read Universe ก็เป็นครั้งแรกที่จัดโซนเพื่อเด็กได้อ่านโดยเฉพาะ แต่ผู้ที่สนใจก็เข้าไปร่วมได้ ซึ่งกิจกรรมและนิทรรศการทั้งหมดก็ได้รับความสนใจอย่างมาก เพราะงานหนังสือนี้ไม่ใช่แค่งานขายหนังสือแต่อยากให้คนร่วมกิจกรรม มาอ่านหนังสือมากที่สุด” 

นายจรัญ กล่าวว่า อนุกรรมการซอฟต์พาวเวอร์ด้านหนังสือ และกรมส่งเสริมวัฒนธรรมยังให้การสนับสนุนกิจกรรมในโครงการ Global Author Spotlight โดยนำนักเขียนชื่อดังจากทั่วโลกพบปะกับผู้อ่านและนักเขียนชาวไทยอีก เพื่อสร้างสีสันภายในงาน และร่วมเสวนาบนเวทีกลางเพื่อถ่ายทอดแนวคิด เทคนิกในการสร้างสรรค์ผลงานเพื่อส่งต่อแรงบันดาลใจให้แก่นักเขียนและนักอ่านคนไทย พร้อมการแจกลายเซ็นอย่างใกล้ชิด รวมทั้งเป็นเวทีในการสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศด้วยในการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการเขียน โดยตั้งเป้าหมายให้ไทยเป็นศูนย์กลางวรรณกรรมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างผู้จัดพิมพ์ไทยและตลาดต่างประเทศ

ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมหนังสือ-การอ่าน ดันเศรษฐกิจไทย

นักเขียนที่เข้าร่วมในกิจกรรม

  • “มิกิโตะ ชิเน็น” จากญี่ปุ่น ผู้เขียนนวนิยายสืบสวนสอบสวน เรื่อง คดีฆาตกรรมนกกระเรียนพันตัว 
  • “คิมโฮ ย็อน” จากเกาหลี เจ้าของผลงาน ร้านไม่สะดวกซื้อของคุณทกโก
  • “ศาสตราจารย์ ดร.ปีเตอร์ เอ, แจ็คสัน” ผู้เขียน หนังสือเรื่อง Capitalism Magic Thailand เทวา มนตรา คาถา เกจิ : ไสยศาสตร์ยุคใหม่กับทุน (ไทย) นิยม
  • “ราติห์ คุมาลา” เจ้าของผลงานหนังสือ ซิกาแรต เกิร์ล และ เซวียซีซือ และ เซียวเซียงเสิน จากไต้หวัน ผู้เขียน ปริศนาตะเกียบอาถรรพ์ และ 
  • “จิ่วลู่เฟยเซียง” เจ้าแม่หนังสือนิยายอันโด่งดังของจีนแนวรักโรแมนติกฉบับเทพเซียน ซึ่งผลงานถูกนำมาสร้างเป็นซีรีย์ อาทิ ปฐพีไร้พ่าย,ทาสปีศาจ, ลิขิตรักนางพญามาร และสามีฟ้าประทาน เป็นต้น