เตือนภัย นั่งนิ่งนาน เสี่ยงลิ่มเลือดอุดตันปอด อันตรายถึงชีวิต

18 ต.ค. 2567 | 04:45 น.
อัปเดตล่าสุด :18 ต.ค. 2567 | 04:51 น.

สถาบันโรคทรวงอก ชี้ การเดินทางไกล นั่งนิ่งเป็นเวลานาน เสี่ยงเกิดลิ่มเลือดอุดตันปอด แนะสังเกต 3 สัญญาณอันตรายหากพบความผิดปกติควรพบแพทย์เพื่อรับการรักษาทันท่วงที

18 ตุลาคม 2567 นายแพทย์ธนินทร์ เวชชาภินันท์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ลิ่มเลือดอุดตันที่หลอดเลือดปอด มีสาเหตุเกิดจากลิ่มเลือดที่เกิดจากการอุดตันหลอดเลือดดำที่ขาหลุดไปอุดตันเส้นเลือดแดงที่ปอด เนื่องจากเลือดดำบริเวณขาซึ่งเป็นหลอดเลือดส่งเลือดกลับเข้าสู่หัวใจข้างขวาและกลับไปฟอกที่ปอด เมื่อเกิดการอุดตัน ส่งผลให้ความสามารถในการแลกเปลี่ยนออกซิเจนได้ลดลง ทำให้เกิดอาการเจ็บหน้าอกหรือเหนื่อยหอบจากระดับออกซิเจนในเลือดต่ำ

ปัจจัยที่ทำให้เกิดลิ่มเลือดบริเวณขา คือ ร่างกายไม่ได้เคลื่อนไหว หรือ หลอดเลือดดำได้รับบาดเจ็บหรือมีการอักเสบ และภาวะผิดปกติที่ทำให้เลือดแข็งตัวง่ายกว่าปกติ หรือเกิดจากการไหลเวียนของเลือดลดลง เช่น การนั่งเครื่องบินเป็นเวลานาน หรือได้รับการผ่าตัดทำให้ต้องนอนนิ่งเป็นเวลานาน

การป่วยเป็นมะเร็งบางชนิด การใช้ยาบางประเภทเป็นระยะเวลานานต่อเนื่อง เช่น ยาฮอร์โมนคุมกำเนิด การใช้ฮอร์โมนทดแทนในการรักษาอาการหมดประจำเดือนในวัยทอง หรือโรคทางพันธุกรรม เป็นต้น

ด้านนายแพทย์เอนก กนกศิลป์ ผู้อำนวยการสถาบันโรคทรวงอก กล่าวเพิ่มเติมว่า อาการของโรคในผู้ป่วยมีความหลากหลายขึ้นอยู่กับขนาดและปริมาณของลิ่มเลือดที่อุดตัน หากลิ่มเลือดมีขนาดเล็ก ผู้ป่วยอาจจะไม่มีอาการหรือมีอาการเล็กน้อยทำให้การวินิจฉัยทำได้ยาก แต่เมื่อมีการอุดตันหลอดเลือดที่ปอดมากขึ้นผู้ป่วยจะมีอาการเหนื่อยง่าย เจ็บหน้าอก และอาจมีไอเป็นเลือดจากการที่เนื้อปอดขาดเลือด

หากลิ่มเลือดมีขนาดใหญ่ ผู้ป่วยจะมีอาการเหนื่อยหอบมาก อาจมีอาการหน้ามืด ความดันต่ำ หรือหมดสติได้ อาการที่พบร่วมด้วย คือ อาการขาบวมข้างใดข้างหนึ่ง โดยผู้ป่วยอาจจะมีอาการขาบวมเป็นระยะเวลาหนึ่งก่อนมีอาการของลิ่มเลือดอุดตันที่ปอด 

สำหรับแนวทางการรักษาแพทย์จะพิจารณาจากความรุนแรงของอาการและอาการแสดง พร้อมทั้งหาสาเหตุของการเกิดลิ่มเลือด ซึ่งในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการรุนแรงมีสัญญาณชีพไม่คงที่ เช่น มีระดับความเข้มข้นของออกซิเจนในเลือดต่ำ ความดันต่ำ หรือหมดสติ

ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการทำหัตถการสวนหัวใจเพื่อดูดลิ่มเลือดที่อุดตันที่หลอดเลือดปอด หรือให้ยาละลายลิ่มเลือดอย่างทันท่วงที เพื่อลดขนาดของลิ่มเลือด และเพื่อเปิดหลอดเลือดไปเลี้ยงปอด หากมีสัญญาณชีพคงที่แพทย์จะใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือดในการรักษา โดยวิธีการใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือดฉีดเข้าเลือดดำหรือใต้ผิวหนัง หรือให้ยารับประทานทานแล้วแต่กรณี 

การป้องกันที่สำคัญ 

1.การลดปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดลิ่มเลือด

  • ควรมีการขยับร่างกายเปลี่ยนอิริยาบทบ่อย ๆ ในกรณีที่ต้องนั่งนิ่ง ๆ เป็นเวลานาน เช่นการนั่งเครื่องบินโดยสารที่ใช้ระยะเวลานาน
  • ดื่มน้ำให้เพียงพอไม่ให้ร่างกายขาดน้ำ
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาฮอร์โมนคุมกำเนิดเป็นระยะเวลานานในผู้หญิงอายุน้อย

2.หมั่นสังเกตความผิดปกติของร่างกายตนเองซึ่งอาจเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงโรคได้ เช่น

  • หากมีลักษณะอาการขาบวมข้างใดข้างหนึ่งอาจจะเป็นอาการแสดงของลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือดดำที่ขา ห้ามบีบนวดเนื่องจากจะทำให้ลิ่มเลือดหลุดไปอุดตันหลอดเลือดที่ปอดได้มากขึ้น
  • ถ้าเหนื่อยหอบกะทันหันมากผิดปกติ และมีอาการเจ็บหน้าอกร่วมด้วย ควรรีบมาพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุและรับการรักษาอย่างเหมาะสมและทันเวลา