วิธีป้องกันฝุ่น PM 2.5 พร้อมสังเกตอาการ ก่อนป่วยโรคเป็นเรื้อรัง

23 ต.ค. 2567 | 22:15 น.

เตรียมพร้อมรับมือฝุ่น PM 2.5 วิธีป้องกัน แนวทางปฏิบัติ และสังเกตอาการหากป่วยเป็นโรค เพราะอาจเป็นอันตราย ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิต

ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ ฝุ่นละออง PM 2.5 เป็นปัญหามลพิษอากาศที่สำคัญของประเทศไทยมาอย่างยาวนาน ซึ่งกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เผยถึงการคาดการณ์สถานการณ์เตือนพื้นที่ กรุงเทพฯ และปริมณฑลของประเทศไทยกำลังจะเข้าสู่ฤดูฝุ่นประจำปี 2567-2568 ในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนมีนาคม ให้พร้อมแนะนำประชาชนป้องกันตนเองจากฝุ่นอันตราย

โดยฝุ่นละออง PM 2.5 มีสาเหตุเกิดจากหลายปัจจัย ทั้งการจราจร ควันท่อไอเสียรถยนต์ การเผาป่า การเผาเศษพืชผลทางการเกษตร โรงงานอุตสาหกรรม หมอกควันข้ามแดน ปัจจัยทางสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศ ภาวะความกดอากาศสูงที่ทําให้เกิดภาวะอากาศปิด นอกจากนี้ ยังเกิดจากการรวมตัวของก๊าซอื่นๆ หากสะสมภายในปอดเป็นระยะเวลายาวนาน จะส่งผลกระทบรุนแรงต่อสุขภาพร่างกาย

วิธีป้องกันฝุ่นละออง PM2.5 

  • ใช้หน้ากากป้องกันฝุ่นทุกครั้ง เช่น หน้ากาก N95
  • เช็กค่าฝุ่นจากเเอปพลิเคชัน Air4Thai หรือ Life Dee ก่อนออกจากบ้าน
  • เลี่ยงกิจกรรมกลางเเจ้งและเฝ้าระวังสุขภาพโดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง (เด็ก ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ ผู้มีโรคประจำตัว)
  • ปิดประตู หน้าต่างให้มิดชิด หมั่นทำความสะอาดบ้านหรืออยู่ในห้องปลอดฝุ่น
  • ลดกิจกรรมก่อฝุ่น เช่น การจุดธูป การปิ้งย่าง การเผา การสูบบุหรี่ การใช้รถส่วนตัว รวมถึงเช็กสภาพรถเป็นประจำ

การป้องกันที่เหมาะสมจะช่วยให้เกิดความปลอดภัย ในการใช้ชีวิตและปฏิบัติงาน โดยควรตระหนักและเฝ้าระวังสุขภาพอย่างเป็นประจำและสม่ำเสมอ เพื่อลดโอกาสเสี่ยงในการเกิดโรคจากฝุ่นละออง ทั้งต่อตนเองและคนรอบตัว

3 แนวทางรับมือและป้องกันฝุ่น PM 2.5 “รู้-ลด-เลี่ยง”

รู้ : ตรวจสอบสภาพอากาศทุกครั้งก่อนเดินทางออกจากบ้าน ผ่านการติดตามสถานการณ์ฝุ่นละออง PM 2.5 ในแอปพลิเคชัน หรือติดตามข่าวสารตามช่องทางต่าง ๆ 

ลด : ลดการสร้างมลพิษ ลดกิจกรรมที่ก่อให้เกิดฝุ่นละออง PM 2.5 เช่น จุดธูป เผากระดาษ ปิ้งย่างที่ทําให้เกิดควัน การเผาใบไม้ เผาขยะ เผาพืชผลทางการเกษตร เป็นตน รวมถึงการติดเครื่องยนต์ในบ้านเป็นเวลานาน 

เลี่ยง : หลีกเลี่ยงการเข้าไปในสถานที่ที่มีฝุ่นละอองสูง การอยู่กลางแจ้ง หรือทำกิจกรรมนอกอาคารเป็นเวลานาน ในช่วงที่ฝุ่นละออง PM 2.5 มีปริมาณมาก โดยปราศจากอุปกรณ์ป้องกัน

อาการป่วยจากฝุ่น PM 2.5 

1.ไอ จาม และภูมิแพ้ : พบได้เมื่อมีฝุ่นละอองเข้าไปสะสมในโพรงจมูกเวลาที่หายใจเข้าและออก ซึ่งจะทำให้เกิดการระคายเคืองในจมูกและลำคอ มีเสมหะ ไอ จาม โดยเฉพาะผู้ที่ป่วยเป็นโรคภูมิแพ้จะมีอาการภูมิแพ้กำเริบได้ง่ายกว่าคนทั่วไป

2.โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง : พบได้ในกรณีที่เป็นอาการไอต่อเนื่องนาน 3-8 สัปดาห์ขึ้นไป มีเสมหะเป็นสีขาว สีเหลือง หรือมีเลือดปน นอกจากนี้จะรู้สึกเกิดอาการเหนื่อย โดยอาจเพิ่มมากขึ้น กระทบต่อการทำกิจกรรมในชีวิตประจำวัน

3.โรคหลอดเลือดและหัวใจเรื้อรัง : พบได้ในกรณีที่ฝุ่นละอองเกิดการติดเชื้อเข้าสู่กระแสเลือด อาจทำให้เกิดการอุดตันในหลอดเลือดและผนังหัวใจ อาการที่พบคือ มีอาการเจ็บหน้าอก เหงื่อออก ใจสั่น เหนื่อยหรือแน่นขณะออกแรง ซึ่งอาจทำให้เป็นลม หมดสติ หรือเสียชีวิตได้

4.โรคปอดเรื้อรัง และมะเร็งปอด : พบได้ในกรณีที่สูดเอาฝุ่นละออง PM 2.5 สะสมเข้าไปเป็นระยะเวลานาน ทำให้มีอาการไอเรื้อรัง มีเสมหะมากหมดเรี่ยวแรง หายใจลำบาก เหนื่อยหอบ ซึ่งอาจรุนแรงและกลายเป็นเซลล์มะเร็งที่อาจลุกลามไปทั่วปอด เกิดเป็นโรคมะเร็งปอดได้

โดยฝุ่นละออง PM 2.5 ส่งผลกระทบต่อทุกคนที่พบเจอ และอาจเป็นอันตรายต่อกลุ่มเสี่ยงที่มีแนวโน้มอาจเกิดโรคได้ง่ายกว่าคนทั่วไป เช่น เด็กเล็ก เด็กนักเรียน ผู้สูงอายุ สตรีมีครรภ์ ผู้ที่มีโรคประจำตัว รวมถึงผู้ที่ต้องปฏิบัติงานหรือออกกำลังกายในสถานที่กลางแจ้ง เป็นต้น

 

ที่มา : กรมอนามัย และ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข