14 พฤศจิกายน 2567 วันเบาหวานโลก เปิดที่มาและความสำคัญ

13 พ.ย. 2567 | 06:00 น.
อัปเดตล่าสุด :14 พ.ย. 2567 | 02:23 น.

14 พ.ย. วันเบาหวานโลก องค์การอนามัยโลกและสมาพันธ์เบาหวานนานาชาติจัดกิจกรรมรณรงค์เพิ่มความตระหนักรู้เกี่ยวกับภัยคุกคามที่เพิ่มขึ้นของโรคเบาหวาน ชวนเปิดประวัติ-ความสำคัญเพื่อปรับเปลี่ยนการดำเนินชีวิตที่เหมาะสม มุ่งสู่การป้องกัน จัดการโรคอย่างมีประสิทธิภาพ

วันเบาหวานโลก (World Diabetes Day) เกิดขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1991 โดย สมาพันธ์เบาหวานนานาชาติ (IDF) และองค์การอนามัยโลก (WHO) เพื่อตอบสนองต่อความกังวลที่เพิ่มมากขึ้นเกี่ยวกับภัยคุกคามด้านสุขภาพที่ทวีความรุนแรงขึ้นอันเนื่องมาจากโรคเบาหวาน โดยสหประชาชาติมีมติกำหนดให้วันที่ 14 พฤศจิกายน ซึ่งเป็นวันเกิดของ Sir Frederick Banting ผู้ค้นพบอินซูลิน ร่วมกับ Charles Best เมื่อปี ค.ศ. 1922 เป็น "วันเบาหวานโลก" อย่างเป็นทางการในปี ค.ศ. 2006

โรคเบาหวาน เกิดจากอะไร

โรคเบาหวาน เกิดจากการทํางานของฮอร์โมนผิดปกติส่งผลให้เกิดภาวะนํ้าตาลในเลือดสูง หากน้ำตาลในเลือดสูงเป็นระยะเวลานานจะส่งผลให้อวัยวะเสื่อมสภาพเป็นเหตุให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่ตา ไต หลอดเลือดหัวใจและหลอดเลือดสมอง

โรคเบาหวาน แบ่งตามสาเหตุของการเกิดโรค  

 

โรคเบาหวานชนิดที่ 1 (type 1 diabetes mellitus, T1DM)

  • เกิดจากเซลล์ตับอ่อนถูกทำลายจากภูมิคุ้มกันของร่างกาย ทำให้ขาดอินซูลิน มักพบในเด็ก

โรคเบาหวานชนิดที่ 2 (type 2 diabetes mellitus, T1DM)

  • เป็นชนิดที่พบได้บ่อยที่สุด ร้อยละ 95 ของผู้ป่วยเบาหวานทั้งหมด เกิดจากภาวะดื้ออินซูลิน ในระยะแรกอาจไม่มีอาการ  มักตรวจพบเมื่อเช็คสุขภาพโดยบังเอิญในผู้ที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป มีน้ำหนักเกินหรืออ้วนร่วมด้วย

โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ (gestational diabetes mellitus, GDM)

  • เป็นโรคเบาหวานที่เกิดขึ้นขณะตั้งครรภ์ มักเกิดเมื่อไตรมาส 2-3 ของการตั้งครรภ์

โรคเบาหวานที่มีสาเหตุจำเพาะ (specific types of diabetes due to other causes)

  • มีได้หลายสาเหตุ เช่น โรคทางพันธุกรรม โรคของตับอ่อน โรคทางต่อมไร้ท่อ ยาบางชนิด เป็นต้น

สถานการณ์โรคเบาหวานในประเทศไทย 

ข้อมูลจากรายงานสถิติสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข ประเทศไทยพบอุบัติการณ์โรคเบาหวานมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในปี 2566 มีผู้ป่วยรายใหม่ เพิ่มขึ้น 3 แสนคนต่อปี ในปี พ.ศ. 2565 มีผู้ป่วยโรคเบาหวานสะสมจำนวน 3.3 ล้านคนเพิ่มขึ้นจากปี พ.ศ. 2564 มากถึง 1.5 แสนคน

สำหรับการคัดกรองผู้ป่วยรายใหม่ในปี 2566 พบว่า การคัดกรองผู้ป่วยโรคเบาหวานในประชาชนอายุ 35 ปีขึ้นไป ยังไม่ได้รับการคัดกรองโรคเบาหวานมากถึง 5 ล้านคนจากเป้าหมายทั่วประเทศ 22 ล้านคน

ดังนั้น ประชาชนที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไปควรตรวจคัดกรองโรคเบาหวานปีละ 1 ครั้ง ค่าระดับน้ำตาลในเลือดควรน้อยกว่า 100 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ซึ่งหากตรวจพบตั้งแต่เริ่มแรกและรักษาได้เร็วจะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรงและอาจถึงแก่ชีวิตได้

ปัจจัยเสี่ยงโรคเบาหวาน 

ปัจจัยเสี่ยง โรคเบาหวานเกิดจากการมีประวัติครอบครัวเป็นโรคเบาหวาน มีภาวะอ้วน น้ำหนักเกิน รอบเอวเกิน เป็นโรคความดันโลหิตสูง ชอบรับประทานอาหารรสหวาน มีกิจกรรมทางกายไม่เพียงพอ สูบบุหรี่ และดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ดังนั้น การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจึงเป็นสิ่งสำคัญในการป้องกันโรคเบาหวาน ทำได้โดยการเลือกรับประทานอาหารให้หลากหลาย เน้นผัก ผลไม้ และธัญพืชต่าง ๆ

ลดอาหารประเภทหวาน มัน เค็ม ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อย 30 นาที สัปดาห์ละ 3-5 ครั้ง ทำจิตใจให้แจ่มใส นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ 7-8 ชั่วโมงต่อวัน ไม่สูบบุหรี่และดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์

หากมีอาการปัสสาวะบ่อยและมาก กระหายน้ำ หิวน้ำบ่อย กินจุหิวบ่อย น้ำหนักลด เป็นแผลง่ายและหายยาก คันตามผิวหนัง ตามัว และชาตามปลายมือปลายเท้า ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยต่อไป

ที่มา : สมาพันธ์เบาหวานนานาชาติ, องค์การอนามัยโลก, สหประชาชาติ, สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย, กระทรวงสาธารณสุข