รศ.นพ.นเรนทร์ โชติรสนิรมิต ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ปัจจุบันเทรนด์การแพทย์ของประเทศไทยเริ่มหันมาใช้ระบบดิจิตอลมากขึ้น ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา โรงพยาบาลหลายแห่งกลายเป็น Digital Hospital ใช้เทคโนโลยีมาบริหารจัดการและให้บริการทางการแพทย์หลายระบบ และที่กำลังเข้ามามีบทบาทอีกอย่างคือ Artificial Intelligence (AI) ซึ่งจะถูกพัฒนาอย่างต่อเนื่องไปในอนาคตอีก 3-4 ปี ไม่ว่าจะเป็นการอ่านผลเลือด ตรวจเม็ดเลือด เอ็กซเรย์ เป็นต้น
เช่นเดียวกันกับโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ภายใต้คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่เริ่มปรับเปลี่ยนหันมาใช้ระบบดิจิตอลมากขึ้น ล่าสุดได้ลงทุนกว่า 100 ล้านบาท ปรับห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ระบบอัตโนมัติแบบครบวงจร (Complete Integrated Total Lab Automation) นำเทคโนโลยีทางห้องปฏิบัติการสูงสุดมาใช้เป็นแห่งแรกและแห่งเดียวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยเทคโนโลยีทางห้องปฏิบัติการสูงสุด ยกระดับมาตรฐานการให้บริการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ
จากข้อมูลในปี 2566 พบว่ามีผู้เข้ามารับบริการเจาะเลือดกว่า 2.4 แสนราย การตรวจวิเคราะห์มากถึง 5.4 ล้านรายการทดสอบ และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 7% ในทุกปี จึงจำเป็นต้องยกระดับห้องปฏิบัติการ เพื่อรองรับจำนวนผู้ป่วยและเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจวิเคราะห์ให้มากขึ้น เพื่อลดระยะเวลาของการเจาะเลือดจนถึงส่งเข้าในระบบตรวจได้อย่างรวดเร็ว โดยห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ระบบอัตโนมัติแบบครบวงจร จากเดิมเคยส่งตรวจได้ประมาณ 9,000 หลอด/ชั่วโมง เพิ่มขึ้นเป็น 12,000 หลอด/ชั่วโมง ย่นระยะเวลารอผลตรวจเฉลี่ยจาก 120 นาที เหลือเพียง 90 นาที ในกรณีที่ตรวจเพียง 1 รายการทดสอบ อาจใช้เวลาแค่ 20-30 นาที เท่านั้น
“สิ่งที่เราทำคือเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจวิเคราะห์ รองรับจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้น ช่วยให้แพทย์สามารถตัดสินใจได้อย่างแม่นยำและรวดเร็ว เริ่มตั้งแต่จัดการคิวอัจฉริยะด้วยระบบคิวอัตโนมัติ เชื่อมต่อกับฐานข้อมูลของโรงพยาบาล เพิ่มความแม่นยำในการเตรียมและติดฉลากหลอดเลือด ลดความแออัดของผู้รับบริการและรองรับได้มากถึง 300 รายต่อชั่วโมง ไปจนถึงการลำเลียงหลอดเลือด คัดแยก การจัดเก็บในตู้เย็นโดยใช้แขนกลส่งหลอดเลือดเข้าระบบราง โดยมีคนคอยตรวจดูความถูกต้องเท่านั้น”
รศ.นพ.นเรนทร์ กล่าวว่า ปกติโรงพยาบาลหลายแห่งไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลรัฐหรือโรงพยาบาลเอกชนมีระบบอัตโนมัติให้บริการผู้ป่วยอยู่แล้ว แต่มักจำแนกเฉพาะส่วนเชื่อมโยงถึงกัน ฉะนั้นห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ระบบอัตโนมัติแบบครบวงจรของโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ จึงถือได้ว่าประสานการทำงานกันในระบบอย่างสมบูรณ์ เป็นจุดการเรียนรู้ใหม่ที่สามารถนำองค์ความรู้ไปปรับเปลี่ยนพัฒนาบริการให้ดียิ่งขึ้นได้
นอกจากนี้ ยังมีระบบ AI และ Machine Learning ใช้สำหรับการวินิจฉัยตรวจโรคในเชิงลึก ที่ยังอยู่ในขั้นตอนของการพัฒนาโดยบุคลากรทางการแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ โดยเป้าหมายอยากให้มีระบบจัดการแบบองคาพยพ ก้าวหน้าในนวัตกรรมและในปี 2568 จะปรับเปลี่ยนกระบวนการวินิจฉัยทางกายภาพรังสีบางประการเพิ่มขึ้นรวมถึงระบบบริหารจัดการเครื่องมือปลอดเชื้อ การจัดยา และระบบ Personal Health Record ให้กับผู้ป่วยสำหรับบริการทางไกล (Telemedicine)
ด้าน ศาสตราจารย์ (เชี่ยวชาญพิเศษ) นพ.บรรณกิจ โลจนาภิวัฒน์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ มีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยผู้ป่วยโรคซับซ้อนก็เพิ่มขึ้นในทุกปี จากช่วงก่อนเกิดโควิด-19 มีจำนวนผู้ป่วยกว่า 1.3 ล้านคน/ปี ปัจจุบันเพิ่มขึ้นเป็น 1.6 ล้านคน/ปี ฉะนั้น ต้องปรับเปลี่ยนระบบเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ป่วยที่มาใช้บริการให้มากขึ้น ทั้งในด้าน 1.เพิ่มประสิทธิภาพทางการแพทย์ด้วยเทคโนโลยีสูงสุด 2.สร้างระบบให้มีความรวดเร็วยิ่งขึ้น 3.สร้างความแม่นยำในการตรวจ ลดความผิดพลาด โดยเฉพาะการตรวจในระบบห้องปฏิบัติการที่ช่วยลดให้ระยะเวลารอคอยของผู้ป่วยได้อย่างชัดเจน
“เราตั้งวิสัยทัศน์การเป็นโรงเรียนแพทย์ในดวงใจ สอดคล้องกับทิศทางของโรงพยาบาลกับการเป็นโรงพยาบาลในดวงใจของผู้ป่วย โดยได้ดำเนินงานเพื่อความเป็นเลิศด้วย 3 ภารกิจหลักคือ การบริการ การศึกษา และการวิจัย พร้อมเสริมสร้างศักยภาพด้านการแพทย์ด้วยเทคโนโลยี เพื่อไปสู่การเป็นโรงพยาบาลดิจิทัลในอนาคตด้วย”