“พรรคประชาชน”รุกหนักสอบที่ดินเขากระโดง

30 พ.ย. 2567 | 00:30 น.

“พรรคประชาชน”รุกหนักสอบที่ดินเขากระโดง : พรรคประชาชน ใช้ทั้ง กมธ.การที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม และ กมธ.การทหาร สภาผู้แทนราษฎร ที่มี สส.ของพรรคตัวเองเป็นประธาน ลุยสอบปมที่ดินเขากระโดง หวังทวงคืนที่หลวง

KEY

POINTS

 

  • พรรคประชาชน ใช้ทั้ง กมธ.การที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม และ  กมธ.การทหาร สภาผู้แทนราษฎร ที่มี สส.ของพรรคตัวเองเป็นประธาน ลุยสอบปมที่ดินเขากระโดง หวังทวงคืนที่หลวง
  • จี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องส่งเอกสารเพิ่มเติมภายใน 15 วัน ก่อนประชุมตรวจรายละเอียด และลงพื้นที่ตรวจสอบเขากระโดง
  • “วิโรจน์ ลักขณาอดิศร”แฉค่ายทหารยังต้องเลี่ยงพื้นที่เขากระโดง เรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแจงเค้นหาความจริง 
     

ข้อพิพาทปัญหา “ที่ดินเขากระโดง” ตำบลอิสาณ อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ ที่มีการยืนยันว่าเป็นที่ดินของการถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) แต่ก็ยังไม่สามารถเพิกถอนสิทธิการครอบครองของเอกชน เพื่อนำกลับมาเป็น “ที่หลวง” ได้

ทำให้ “พรรคประชาชน” ต้องใช้กลไลของ  2 คณะกรรมาธิการ (กมธ.) สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีคนของพรรคเป็นประธาน ดำเนินการตรวจสอบหาช่องทางแก้ไขและทวงคืนที่ดินดังกล่าว 

ประกอบด้วย กมธ.การที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร ที่มี นายพูนศักดิ์ จันทร์จำปี สส.บัญชีรายชื่อ เป็นประธาน และ กมธ.การทหาร สภาผู้แทนราษฎร ที่มี นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ เป็นประธาน

โดยเมื่อวันที่ 27 พ.ย. 2567 มีการประชุม กมธ.การที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ที่มี นายพูนศักดิ์ จันทร์จำปี เป็นประธาน. ได้พิจารณาข้อพิพาทที่ดินเขากระโดง เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าชี้แจง

 

ในส่วนของ รมว.มหาดไทย ได้ส่ง นายทรงศักดิ์ ทองศรี รมช.มหาดไทย เข้าร่วมประชุม พร้อมกับ นายพรพจน์ เพ็ญพาส อธิบดีกรมที่ดิน ขณะที่ รมว.คมนาคม ได้ส่ง ผอ.กองกฎหมาย ส่วนการรถไฟฯ  มี นายเอก สิทธิเวคิน รองผู้ว่า รฟท. เข้าร่วมประชุม

ก่อนการประชุม นายพูนศักดิ์ ให้สัมภาษณ์ว่า การตรวจสอบของ กมธ.จะเน้นการพิจารณาในข้อกฎหมาย หากพบประเด็นใดที่ควรแก้ไขเปลี่ยนแปลงกฎหมาย จะเสนอให้แก้ไข ซึ่งรวมถึงการตั้งคณะกรรมการเพิกถอนเอกสารสิทธิ หรือ กรรมการที่ดินที่พิจารณาในข้อพิพาทเรื่องที่ดิน ที่มีหน้าที่เพิกถอน และออกเอกสารสิทธิต่างๆ หากพบกระบวนการจัดตั้งไม่ถูกต้อง ต้องแก้ไขระเบียบ หรือ กฎหมาย
การประชุม กมธ.จะเน้นระเบียบวิธีปฏิบัติของคณะกรรมการมาตรา 61 มีข้อบกพร่องอย่างไร และหากมีข้อบกพร่องจะดำเนินอย่างไร 

ประชาชน 900 รายรอพิสูจน์สิทธิ

สำหรับบรรยากาศในการประชุม กมธ. ช่วงแรก ได้อนุญาตให้สื่อมวลชนเข้าสังเกตการณ์และบันทึกภาพ โดย นายทรงศักดิ์ รมช.มหาดไทย กล่าวช่วงหนึ่งว่า 

“เรื่องเขากระโดง ไม่ได้กระทบกับสิทธิของคนคนเดียว ส่วนของประชาชน ผมเห็นตัวเลขก็รู้สึกเห็นใจ 900 กว่าราย ที่ได้ครอบครองที่ดินมาโดยชอบด้วยกฎหมาย หลายคนก็เข้าใจว่า เมื่อศาลมีคำพิพากษาแล้วถึงที่สุด ที่ดินดังกล่าวเป็นของการรถไฟทั้งหมด แม้ว่าคำพิพากษานั้นถึงที่สุด ก็ต้องยอมรับ แต่จะเป็นที่สุดเฉพาะคู่ความ ส่วนคู่ความคนอื่นที่ไม่ได้เป็นคู่ความ ก็ต้องมีการพิสูจน์สิทธิว่า การเพิกถอนเอกสารสิทธิ หากเพิกถอนทั้งหมด จะเป็นธรรมต่อประชาชนหรือไม่” นายทรงศักดิ์ ระบุ

กมธ.ที่ดินจะลงพื้นที่บุรีรัมย์

ภายหลังการประชุมที่ใช้เวลากว่า 2 ชั่วโมง นายพูนศักดิ์ แถลงว่า หน่วยงานที่ชี้แจงไม่มีความชัดเจน ดังนั้นกมธ.จึงลงความเห็นว่า ต้องตรวจสอบเพิ่มเติมในหลายประเด็น เช่น กรรมสิทธิของ รฟท.

เนื่องจากไม่มีข้อยุติเรื่องแผนที่แนบท้ายพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดินของ รฟท. ที่ไม่ชัดเจนว่า ครอบคลุมสนามแข่งรถ หรือ สนามกีฬา หรือไม่ 

ส่วนการดำเนินการเพิกถอนสิทธิที่ดินของกรมที่ดิน กมธ.ขอหนังสือเพิ่มเติมในการแต่งตั้งกรรมการ ตามประมวลกฎหมายที่ดิน ส่วนการแก้ไขความเดือดร้อนของประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ 5,000 ไร่ ซึ่งพบว่า มีเอกสารสิทธิ และโฉนดที่ดินที่ภาครัฐออกให้ และมีข้อพิพาทว่าออกโดยชอบหรือไม่ รฟท.และกรมที่ดินไม่มีความชัดเจนในการแก้ปัญหา

“ปัญหาที่ดินเขากระโดงมีหลายประเด็น ต้องตรวจสอบเพิ่มเติม ซึ่งกมธ.ได้ทำหนังสือขอเอกสารเพิ่มเติมจากหน่วยงาน โดยขอให้ส่งมาให้กมธ.ภายใน 15 วัน จากนั้น เมื่อรับเอกสารแล้วจะประชุมเพื่อตรวจสอบรายละเอียดก่อนลงพื้นที่เขากระโดงอีกครั้ง และจากนั้น กมธ.จะนัดประชุมใหญ่ ช่วง ม.ค. 2568 ก่อนสรุปว่า จะแก้ปัญหาดังกล่าวอย่างไร” นายพูนศักดิ์ ระบุ

จี้กรมที่ดินยึดคำพิพากษาศาล

ด้าน นายเลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล เลขานุการ กมธ.ที่ดิน กล่าวว่า การเพิกถอนสิทธิที่ดินตามผลคำพิพากษา ไม่ว่าข้อเท็จจริง หรือ การโต้แย้งจะเป็นอย่างไร เมื่อมีคำพิพากษาว่าเป็นกรรมสิทธิของ รฟท. ต้องปฏิบัติตาม 

อีกทั้งกรณีเขากระโดง ไม่ใช่แนวเส้นทางรถไฟ หรือ สถานี แต่ รฟท.เคยใช้ประโยชน์ จึงได้กรรมสิทธิ ดังนั้น กรมที่ดินต้องบังคับให้เป็นไปตามคำพิพากษา แต่เหตุผลที่ไม่สามารถเพิกถอนได้ เพราะไม่มีแผนที่ของ รฟท.ที่ชัดเจน

อย่างไรก็ตาม แม้มีการรังวัดที่ดิน แต่ไม่ปรากฎแผนที่ที่ดินที่ชัดเจน ทำให้กมธ.ตั้งข้อสังเกตว่า ต้องทำแผนที่ที่ชัดเจน เพื่อให้กรมที่ดินสามารถบังคับตามคำพิพากษาได้ และขอให้กรมที่ดินจัดส่งเอกสารแผนที่ให้กมธ.อีกครั้ง 

ส่วนกรณีที่กรมที่ดินชี้แจงว่า ไม่สามารถเพิกถอนสิทธิได้ เพราะกระบวนการออกเอกสารสิทธิถูกต้องตามกระบวนการ นายเลาฟั้ง ตอบว่า เป็นการอธิบายตามหน้าที่ ส่วนกรณีที่กรมที่ดินชี้แจงว่า กรมที่ดินไม่ใช่คู่ความในข้อพิพาท ถือว่าไม่ถูกต้อง เพราะกรมที่ดินเป็นหน่วยงานรัฐ มีหน้าที่บริหารและกำกับที่ดิน 

แม้ตามประมวลฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จะระบุว่าให้มีผลผูกพันคู่กรณี แต่มีข้อยกเว้นเรื่องกรรมสิทธิที่ดิน เมื่อมีคำพิพากษาที่มีผู้ได้รับประโยชน์สามารถอ้างอิงกับบุคคลภายนอกได้ ดังนั้นพื้นที่กว่า 5,000 ไร่ จึงเป็นกรรมสิทธิของรฟท.ทั้งหมด

                               “พรรคประชาชน”รุกหนักสอบที่ดินเขากระโดง

สร้างค่ายทหารทับพื้นที่พิพาท 

ด้านความเคลื่อนไหวของ กมธ.การทหาร ที่มี นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร เป็นประธาน เมื่อวันที่ 28 พ.ย.2567 กมธ.มีวาระตรวจสอบตามที่มีผู้ร้องเรียน เกี่ยวกับการอนุญาตให้สร้างค่ายทหาร มณฑลทหารบกที่ 26 (มทบ.26) หรือ ค่ายสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกผิดที่ จากเดิมที่กองทัพบกขออนุญาตไว้เมื่อปี 2521 ซึ่งเป็นพื้นที่อยู่ติดกับเขากระโดง จ.บุรีรัมย์ โดยได้เชิญผู้ว่าฯ บุรีรัมย์ ผู้ว่า รฟท. อธิบดีกรมที่ดิน อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง ผู้บัญชาการ มทบ.26 เข้าชี้แจง

นายวิโรจน์ เผยว่า ในประเด็นที่เป็นปัญหานั้น พบว่า มทบ.26 ขออนุญาตสร้างค่ายทหารในพื้นที่ 400 ไร่ แต่ในการก่อสร้างกลับพบว่า ได้สร้างค่ายไม่ตรงกับพื้นที่ที่ขอไว้ และได้นำที่ดินไปสร้าง “สนามกอล์ฟ” นอกจากนั้นในพื้นที่ 400 ไร่ พบว่า มีพื้นที่ที่เป็นที่ดินพิพาท ของนายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ จำนวน 24 ไร่ ซึ่งพบคำพิพากษาของศาลฎีกาว่า พื้นที่ดังกล่าวนั้นเป็นของ รฟท.

“ประเด็นที่ต้องตรวจสอบ คือ มทบ.26 มีรายละเอียดขอพื้นที่สร้างค่ายทหารอย่างไร มีข้อเท็จจริงหรือไม่ กรณีที่สร้างนอกพื้นที่ที่ขออนุญาต ซึ่งกระทบกับประชาชนในพื้นที่ สำหรับพื้นที่ที่ขออนุญาต แต่ทหารเว้นพื้นที่ไม่ก่อสร้าง ซึ่งมีข้อสงสัยว่า เกรงกลัวอิทธิพลของใครที่มีนามสกุลใหญ่ สกุลดัง ในพื้นที่บุรีรัมย์หรือไม่” นายวิโรจน์ ระบุ 

เปลี่ยนหลักหมุดที่ดิน 3 ครั้ง

ขณะที่ นายต่อพงษ์ จีนใจน้ำ อดีตผู้สมัคร สส.บุรีรัมย์ พรรคก้าวไกล ในฐานะที่ปรึกษา กมธ. ระบุว่า พบข้อสงสัยต่อกรณีที่กองพันทหารราบที่ 4 กรมทหารราบที่ 23 หรือ ร.23 พัน.4 มทบ.26 ในขณะนั้น ได้ขออนุญาตจังหวัดบุรีรัมย์ ในการสร้างค่ายทหารกองพันทหารราบเบา เมื่อวันที่ 30 เม.ย. 2521 ซึ่งผู้ว่าฯ บุรีรัมย์ ได้อนุญาตให้สร้าง เมื่อวันที่ 1 พ.ค. 2521 จนเป็น ร.23 พัน.4 ในปัจจุบัน

แต่เมื่อพิจารณาที่ตั้งของค่ายในปัจจุบัน และเปรียบเทียบกับหนังสืออนุญาตการก่อสร้างแล้ว กลับพบข้อสงสัย ที่ค่ายทหารดังกล่าวอาจสร้างผิดที่ เพราะเดิมที่ดินที่ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้าง เป็นพื้นที่ทางเหนือติดกับเขากระโดง มีผู้ซื้อที่ดินต่อจากบ้านใหญ่บุรีรัมย์ไป และมีการฟ้องร้องกับ รฟท. จนสุดท้าย “ศาลฎีกา” ได้พิพากษาให้เป็นที่ดินของ รฟท. และค่ายทหารดังกล่าวก็ได้ไปสร้างในอีกพื้นที่หนึ่ง ซึ่งไม่ได้มีการขออนุญาต และอยู่ห่างจากที่ดินที่ได้รับอนุญาตไป 2 กิโลเมตร รวมถึงยังเป็นที่ที่มีราษฎรอาศัยอยู่ จนเกิดการฟ้องร้องขับไล่กันต่อมา

“เชื่อว่า ที่ที่กองทัพก่อสร้างค่ายทหารฯ ดังกล่าวผิดที่ตั้งแต่แรก และไม่ทราบว่า กองทัพได้มีการขออนุญาตก่อสร้างบนที่ดินดังกล่าวตั้งแต่เมื่อใด รวมถึงเหตุใดกองทัพจึงไม่สร้างค่ายทหารดังกล่าวบนที่ดินที่มีการขออนุญาตตั้งแต่แรก ในจังหวัดบุรีรัมย์มักมีเรื่องแปลก ๆ เกิดขึ้นอยู่เสมอ โดยเฉพาะการเปลี่ยนหลักหมุดที่ดินในจังหวัดถึง 3 ครั้ง” นายต่อพงษ์ ระบุ

                            +++++++++


ร้องป.ป.ช.สอบเจ้าหน้าที่รัฐ
ไม่เพิกถอนสิทธิ์เขากระโดง

"พรรคสังคมประชาธิปไตยไทย"ยื่นร้อง ป.ป.ช.ให้ตรวจสอบ เจ้าหน้าที่รัฐ ไม่เพิกถอนสิทธิ์เขากระโดง

เมื่อวันที่ 28 พ.ย. 2567 พรรคสังคมประชาธิปไตยไทย นำโดย นายสาวิทย์ แก้วหวาน หัวหน้าพรรค  กรรมการบริหารพรรค และ สมาชิกพรรค ได้เข้ายื่นหนังสือถึงประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อให้ตรวจสอบการการฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ กรณีไม่เพิกถอนเอกสารสิทธิ์ที่ดินบริเวณเขา กระโดง ตามคำพิพากษาของศาล 

นายสาวิทย์ กล่าวว่า ตามที่เกิดข้อพิพาทและการโต้แย้งสิทธิในการเข้าครองครองที่ดินของประชาชนในที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทยบริเวณแยกเขากระโดง ตำบลอิสาณ อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ ด้วยข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาศาลฎีกา ที่ศาลปกครองกลาง มีคำตัดสินว่าที่ดินจำนวน 5,083 ไร่เศษ เป็นที่ดินของการรถไฟฯ 

ทั้งนี้ กรมที่ดิน เป็นหน่วยงานของรัฐมีหน้าที่ และเป็นผู้ดำเนินการออกเอกสารสิทธิในที่ดินบริเวณเขากระโดง ไปก่อนหน้านี้ ให้แก่ประชาชนจำนวนหนึ่ง ซึ่งศาลก็พิพากษาว่าออกโดยไม่ชอบ  และในชั้นการไต่สวน สอบสวน พยานหลักฐานทั้งเอกสาร บุคคล ล้วนถูกนำขึ้นโต้แย้งกันครบถ้วนในชั้นพิจารณาคดี จนศาลมีคำพิพากษาที่เป็นแนวทางเดียวกันทั้งหมด

                                  “พรรคประชาชน”รุกหนักสอบที่ดินเขากระโดง

จึงเป็นประเด็นที่สังคมตั้งคำถามกันทั่วประเทศในเวลานี้ เจ้าหน้าที่รัฐได้ปฏิบัติหน้าที่โดยชอบหรือไม่ ในการปกป้องประโยชน์สาธารณะ ประโยชน์ของแผ่นดิน พรรคสังคมประชาธิปไตยไทย ขอให้ประธานและคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติตรวจสอบการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 

เช่น รัฐมนตรีที่กำกับดูแล อธิบดีกรมที่ดิน คณะกรรมการสอบสวนที่อธิบดีกรมที่ดินตั้งขึ้น ว่า กระทำการที่ทุจริตต่อหน้าที่หรือไม่ ปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ไม่ปกป้องผลประโยชน์ของรัฐหรือไม่ ชอบด้วยจริยธรรมในการทำหน้าที่หรือไม่ 

โดยมี นายวัฒนชัย ส้มมี ผู้ช่วยเลขาธิการ ปปช. เป็นผู้รับหนังสือ