หลังจากสิ้นสุดช่วงเทศกาลปีใหม่ 2568 ผู้คนเริ่มออกเดินทางกันอย่างหนาแน่นอีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นทางรถ เรือ เครื่องบิน หลายคนมักเจอกับปัญหารู้สึกเวียนหัวจนอยากอาเจียน ซึ่งเรียกว่า “เมารถ (Carsick)” โดยสาเหตุของอาการเมารถเกิดจากประสาทรับรู้การเคลื่อนไหวของหูชั้นใน ทำงานที่ไม่สัมพันธ์กันกับภาพที่ดวงตามองเห็น สมองจึงสับสนเพราะได้รับสัญญาณภาพที่ขัดแย้งกัน
ส่งผลให้เกิดเป็นอาการเมารถในที่สุด และอาการเมารถสามารถเกิดขึ้นได้จากการนั่งยานพาหนะที่เคลื่อนที่แบบโคลงเคลง, เหวี่ยงไปเหวี่ยงมา หรือคดเคี้ยวเป็นระยะเวลานาน ซึ่งอาการเมารถไม่จำเป็นต้องเข้ารับการวินิจฉัยจากแพทย์ แต่หากมีอาการเกิดขึ้นบ่อย อาจจำเป็นต้องเข้าพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยบริเวณดวงตาและหู เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริง
วิธีป้องกันหรือบรรเทาอาการเมารถ
- การรับประทานยาแก้เมารถ หากเป็นผู้ขับขี่ยานพาหนะ การรับประทานยาควรอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์ เพราะยาบางชนิดอาจมีฤทธิ์ทำให้เกิดอาการง่วงขึ้นได้
- ควรเลือกนั่งรถเบาะหน้า หากเป็นการเดินทางด้วยเครื่องบินหรือเรือ ให้เลือกที่นั่งบริเวณตรงกลาง เพื่อลดแรงเหวี่ยงหรือลดการโคลงเคลงของยานพาหนะลง
- พยายามอย่าอ่านหนังสือ หรือเล่นโทรศัพท์ขณะยานพาหนะกำลังเคลื่อนที่ โดยให้มองไปที่ไกล ๆ แทน และอย่าจ้องมองวัตถุที่มีการเคลื่อนไหวอยู่ภายนอกนาน ๆ
- การหลับตา หรือใส่แว่นกันแดดอาจจะช่วยให้บรรเทาอาการเมารถลงได้
- สูดอากาศบริสุทธิ์
- หากแวะตามจุดพักระหว่างทาง ให้ลงไปสูดอากาศบริสุทธิ์ภายนอกหรือผ่อนคลายอิริยาบถ
- รับประทานอาหารมื้อเล็ก งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนก่อนออกเดินทาง
- ดมยาดมหรือใช้น้ำมันหอมระเหย จะสามารถช่วยลดความรุนแรงของอาการเมารถได้
ข้อมูลจาก :โรงพยาบาลเพชรเวช