ภาษีบุหรี่ใหม่ แก้ไม่ตรงจุด เกาไม่ถูกที่คัน

08 ต.ค. 2564 | 08:20 น.
อัปเดตล่าสุด :08 ต.ค. 2564 | 15:20 น.

การประกาศอัตราภาษีบุหรี่ใหม่ของกรมสรรพสามิตเมื่อวันที่ 30 กันยายน เพื่อให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2564 ได้สร้างความผิดหวังให้กับคนในวงการอย่างยิ่ง และถูกมองว่า เป็นการหลงประเด็น แก้ปัญหาไม่ตรงจุด และเกาไม่ถูกที่คัน

เหตุเพราะอัตราภาษีบุหรี่ใหม่ที่ประกาศออกมานั้น ยังมี 2 อัตราที่เคยสร้างปัญหาในอดีต เพียงแค่ขยับตัวเลขให้สูงขึ้นเท่านั้น โดยบุหรี่ซิกาแรต ที่มีราคาขายปลีกแนะนำไม่เกินซองละ 72 บาท ตามมูลค่าให้ใช้อัตราภาษี 25% และตามปริมาณ 1.25 บาทต่อมวน และ ราคาขายปลีกแนะนำเกินซองละ 72 บาท ตามมูลค่าให้ใช้อัตราภาษี 42% และตามปริมาณ 1.25 บาทต่อมวน

  การจัดเก็บภาษีบุหรี่ซิกาแรต

จากอัตราภาษีบุหรี่ที่ใช้มาตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2560 คือ บุหรี่ซิกาแรต ที่มีราคาขายปลีกแนะนำไม่เกินซองละ 60 บาท ตามมูลค่าให้ใช้อัตราภาษี 20% และตามปริมาณ  1 บาทต่อมวน และราคาขายปลีกแนะนำเกินซองละ 60 บาท ตามมูลค่าให้ใช้อัตราภาษี 40%  และตามปริมาณ 1 บาทต่อมวน

การกำหนดขั้นอัตราภาษีเป็น 2 ระดับในขณะนั้น เป็นการประกาศใช้เฉพาะกาล เพื่อให้ผู้ประกอบการปรับตัว โดยเฉพาะโรงงานยาสูบ หรือ การยาสูบแห่งประเทศไทย  ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจและเป็นผู้ผลิตบุหรี่รายใหญ่ของไทย และเป็นไปตามเป้าหมายการจัดเก็บภาษีสินค้าฟุ่มเฟือยและมีผลกระทบต่อสุขภาพ คือ สินค้าราคาแพงย่อมจ่ายภาษีที่สูงกว่า

 

ผลที่เกิดขึ้นในช่วง 4 ปีกลับกลายเป็นว่า นอกจากจะไม่ทำให้อัตราการสูบบุหรี่ลดลงแล้ว ยังพบว่า มีการลักลอบนำเข้าบุหรี่เถื่อนจากประเทศเพื่อนบ้านจำนวนมาก เพราะมีราคาถูกกว่าบุหรี่ในไทย 2-3 เท่าตัวแถมบางกลุ่มยังหันไปสูบยาเส้น ซึ่งทำลายสุขภาพมากกว่า แต่ราคาถูกลงสะท้อนจากความต้องการยาเส้นเพิ่มขึ้นเท่าตัวจาก 12,000 ล้านมวนในปี 2559 เป็น 34,000 ล้านมวนในปี 2563

ขณะเดียวกันบริษัทผู้นำเข้าบุหรี่จากต่างประเทศยังลงมาเล่นในตลาดที่ราคาตํ่ากว่า 60 บาทอีกด้วย เพื่อหวังเสียภาษีที่น้อยลง ทำให้โรงงาน ยาสูบ ซึ่งเป็นผู้ขายรายใหญ่ถูกแย่งตลาดไป ทำให้ยอดขายลดลงอย่างมากสะท้อนจากรายได้ปี 2559 ที่มีรายได้อยู่ที่ 65,238 บาท เมื่อหักหักภาษีและส่งเงินเข้ากองทุนต่างๆ แล้วมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 8,861 ล้านบาท แต่เมื่อมีภาษีเป็น 2 อัตรา พบว่า ผลประกอบการและกำไรลดฮวบเหลือเพียง 593 ล้านบาท ในปี 2563 หลังหักภาษีและส่งเงินเข้ากองทุนต่างๆ แล้ว

 

ผลต่อเนื่องยังกระทบต่อเกษตรกรผู้ปลูกยาสูบอีกด้วย เพราะโรงงานยาสูบต้องลดการรับซื้อใบยาสูบจากเกษตรลงจากเดิม 28 ล้านกิโล กรัมต่อปี เหลือ 13 ล้านกิโลกรัมต่อปีส่งผลกระทบต่อรายได้เกษตรกรหายไปประมาณ 50% และรัฐบาลก็ต้องมาชดเชยความเสียหายส่วนนี้อีกหลายร้อยล้านบาท

 

จึงเกิดข้อเรียกร้องมาตลอดที่จะให้มีการแก้ไขและปรับอัตราภาษีให้เป็นอัตราเดียว แต่โครงสร้างอัตราภาษีบุหรี่ใหม่ ก็ยังคงแนวคิดและหลักการเดิมไว้ 2 อัตรา และแถมอัตราที่เพิ่มขึ้น จะทำให้ราคาขายปลีกถีบตัวสูงขึ้นอีก จะยิ่งไปซํ้าเติมให้บุหรี่เถื่อนที่มีการลักลอบนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้านทะลักเข้ามาอีก จากเดิมที่ถูกกว่าบุหรี่ในไทย 2-3 เท่าตัว ก็ จะยิ่งถูกกว่ามาก

 

ผู้เชี่ยวด้านภาษีและด้าน สุขภาพหลายท่านยังออกมาบอกว่า การกำหนดภาษี 2 อัตรายังไม่สอดคล้องกับหลักสากลขององค์การอนามัยโลกและธนาคารโลก เพราะสินค้าเหมือนกัน ควรเก็บภาษีอัตราเท่ากันเพื่อความเรียบง่าย และป้องกันการลดราคาของผู้ผลิตอีกด้วย

 

ข้อกังวลต่างๆ เหล่านี้ จึงไม่แน่ใจว่า โครงสร้างภาษีบุหรี่ใหม่สามารถตอบโจทย์ 4 เรื่องหลักตามที่กรมสรรพสามิตลั่นไว้ได้หรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นการดูแลเกษตรกร สุขภาพของประชาชน ปราบปรามบุหรี่เถื่อนและการจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพสมิต แม้ว่าคณะรัฐมนตรี (ครม.) จะมอบนโยบายว่า โครงสร้างภาษีบุหรี่ในอนาคต ควรจะเป็นอัตราเดียว

 

ด้วยปัจจัยการเมือง สภาพแวดล้อมต่างๆ ก็ไม่แน่ว่า ช่วงเวลาไหนจึงจะเป็นเวลาที่เหมาะสมในการก้าวไปสู่อัตราเดียว เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายสรรพสามิต เพื่อดูแลสุขภาพประชาชนที่แท้จริง

 

หน้า 8  หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,720 วันที่ 7 - 9 ตุลาคม พ.ศ. 2564