หลังโรงพยาบาลจุฬาภรณ์เปิดให้จองวัคซีนทางเลือกเพื่อฉีดเป็นเข็มกระตุ้นภูมิคุ้มกัน (Booster Dose) ทั้งวัคซีนซิโนฟาร์ม และวัคซีนโมเดอร์นาสำหรับองค์กรนิติบุคคลและโรงพยาบาลดูเหมือนจะไม่มีปัญหาอะไร หากไม่สร้างความสงสัยให้กับผู้ที่จองวัคซีนทางเลือกอย่าง “โมเดอร์นา” ผ่านทางโรงพยาบาลเอกชนทั่วไป ที่มีมากกว่า 8 ล้านโดส ว่าทำไม ราคาถึงแตกต่างกันมากกว่า 1 เท่านั้น
ปริศนาราคาที่ต่างกัน อาจเกิดขึ้นแบบปัจจุบันทันด่วน หากไม่ได้ดูในเงื่อนไขและรายละเอียดของการ จอง ทำให้หลายคนต้องย้อนกลับไปดูเอกสารหลักฐานว่า วัคซีนที่ตนเองจองไปนั้นมีปริมาณหรือที่เรียกว่า “ขนาดความแรง” เท่าไร
จะว่าไปแล้วการเปิดจองวัคซีนเข็มกระตุ้นภูมิคุ้มกันของโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ มีการระบุชัดเจนว่า เป็นวัคซีนเข็มกระตุ้นภูมิคุ้มกัน Moderna (50 ไมโครกรัม) อัตราเข็มละ 555 บาท พร้อมร่วมบริจาค 10% ของจำนวนวัคซีนที่ขอรับจัดสรรให้กับกลุ่มเปราะบาง (ยอดบริจาคนิติบุคคลนำไปลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่าผ่านระบบ E-Donation)
แนะนำใช้เป็นเข็มกระตุ้นภูมิคุ้มกันในปี 2565 (โดยฉีดเป็นวัคซีนเข็ม 3 หรือ 4) โดยฉีดห่างจากวัคซีนเข็มล่าสุด 3-6 เดือน (แล้วแต่ชนิดวัคซีนที่ได้รับก่อนหน้านั้น) โดยโรงพยาบาลที่ขอรับการจัดสรรสามารถกำหนดอัตราค่าวัคซีนเข็มกระตุ้นภูมิคุ้มกันตามความเหมาะสมและเป็นอัตราที่รวมประกันในการรักษาอาการข้างเคียงทั้งผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน
ขณะที่การเปิดจองวัคซีนโมเดอร์นาของโรงพยาบาลเอกชนถูกกำหนดโดยองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ที่ขนาดความแรง 100 ไมโครกรัม ในอัตราเข็ม (โดส) ละ 1,100 บาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม ค่าขนส่ง และค่าประกันภัยรายบุคคล) โดยสมาคมโรงพยาบาลเอกชนกำหนดให้คิดค่าบริการต่างๆ ได้ไม่เกิน 550 บาทต่อการให้บริการ 1 ครั้งหรือ 1 โดส ดังนั้นราคาค่าให้บริการฉีดวัคซีนทางเลือก “โมเดอร์นา” จึงอยู่ที่ 1,650 บาทต่อโดส
คำถามที่เกิดขึ้นคือ ทำไมรพ.จุฬาภรณ์ถึงฉีด 50 ไมโครกรัม ส่วนรพ.เอกชน ทำไมฉีด 100 ไมโครกรัม ซึ่งแน่นอนว่า การฉีดเข็มกระตุ้นในหลายประเทศเริ่มขึ้นแล้ว และมีการฉีดทั้งขนาด 50 ไมโครกรัม และ 100 ไมโครกรัมซึ่งต่างสร้างภูมิคุ้มกันได้สูง
“โมเดอร์นา” อ้างอิงถึงผลวิจัยการฉีดวัคซีนเข็ม 3 สำหรับผู้เข้าร่วมการทดลองในสหรัฐอเมริกา ซึ่งได้ฉีดในปริมาณ 50 ไมโครกรัม พบว่า การทดลองมีประสิทธิภาพในการกระตุ้น การตอบสนองของแอนติบอดี้ต่อโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้าได้ดีกว่าหลังฉีดวัคซีนเข็มที่ 2
ขณะที่ล่าสุด นพ.โอภาส การย์กวินพงษ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าว ว่า กระแสการฉีดวัคซีน mRNA เพื่อเป็นบูสเตอร์ โดส แบบครึ่งโดสหรือ 50 ไมโครกรัมนั้น แม้จะมีงานวิจัยออกมา ระบุว่า ครึ่งน่าจะเพียงพอในการกระตุ้นภูมิคุ้มกัน แต่ยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนว่าภูมิคุ้มกันนั้นจะอยู่ได้นานเท่าไร คณะกรรมการ สร้างเสริมภูมิคุ้มกันฯ จึงแนะนำให้ฉีดวัคซีนเต็มโดสคือ 100 ไมโครกรัม
ด้านนายแพทย์เฉลิม หาญพาณิชย์นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน กล่าวแสดงความคิดเห็นว่า ผลการศึกษาวิจัยในสหรัฐอเมริกา จะเห็นว่า เข็ม 1 และเข็ม 2 ต่างฉีดด้วยวัคซีน mRNA ดังนั้นเมื่อฉีดบูสเตอร์โดส จึงใช้ขนาดความแรง 50 ไมโครกรัมเท่านั้นก็สามารถกระตุ้นภูมิให้สูงขึ้นได้ แตกต่างจากประเทศไทย ที่การฉีดวัคซีนเข็ม 1 และเข็ม 2 ส่วนใหญ่เป็นวัคซีนเชื้อตาย จึงยังไม่มีการวิจัยถึงภูมิต้านทานที่เพิ่มขึ้นเพื่อฉีดด้วยวัคซีน mRNA
“ครึ่งโดสน่ากลัว เพราะบ้านเราไม่ได้ฉีด mRNA มาก่อน ในต่างประเทศสูตรฉีดวัคซีนจะเป็น โมเดอร์นา + โมเดอร์นา เมื่อบูสเตอร์ด้วยโมเดอร์นาฉีดแค่ครึ่งโดส ก็อาจเกิดภูมิต้านทานสูงได้ แต่บ้านเราบูสเตอร์ คือฉีดเข็มกระตุ้นต้องไปดูต้นทางว่าฉีดอะไรมา บ้านเรา ฉีดซิโนแวค 22 ล้าน ซิโนฟาร์มอีก 8 ล้าน รวมเป็น 30 ล้านโดส ไขว้ไป ไขว้มาอีก”
ดังนั้นใครที่จะจองวัคซีน ต้องคิดให้ดี ศึกษาให้รอบคอบ ดูรายละเอียดด้วยเพราะจริงๆ แล้ววัคซีนขนาดความแรงไม่เท่ากันจะเทียบกันไม่ได้ เหมือนแข่งรถ คนละรุ่น จะเทียบกันไม่ได้