ก่อนโควิด-19 ในปี 62 สนามบินดอนเมืองมีผู้โดยสารใช้บริการมาก ถึง 41 ล้านคน มีปริมาณเที่ยวบินกว่า 273,586 เที่ยวบินต่อปี แต่นับจากเกิดโควิดส่งผลให้ในปีงบประมาณ 64 มีผู้โดยสารใช้บริการอยู่ที่ 10 ล้านคน มีเที่ยวบินอยู่ที่ 68,492 เที่ยวบินเท่านั้นและส่วนใหญ่เป็นเที่ยวบินภายในประเทศเป็นหลัก และทอท.ยังคาดการณ์ว่ากว่าปริมาณการจราจรทางอากาศจะกลับมาเท่าก่อนเกิดโควิด ต้องรอถึงปี 67 ดังนั้นทอท.จึงเดินหน้ายกเครื่องสนามบินดอนเมืองในหลายเรื่อง ในระหว่างที่รอการท่องเที่ยวฟื้นตัว
ทั้งนี้นอกจากสนามบินดอนเมืองจะดำเนินการก่อสร้างอาคารบริการผู้โดยสาร สำหรับกรุ๊ปทัวร์ บริเวณลานจอดรถของสมาคมไทยธุรกิจท่องเที่ยว(แอตต้า) ซึ่งเป็นอาคารที่เชื่อมต่อกับอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศอาคาร 1 ด้านทิศเหนือ พื้นที่ใช้งานประมาณ 3,000 ตารางเมตร สำหรับให้ผู้โดยสารกลุ่มกรุ๊ปทัวร์ได้ใช้เป็นพื้นที่จัดกระเป๋าเดินทางก่อนขึ้นเครื่อง รวมถึงมีสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เพื่อบรรเทาปัญหาความแออัดภายในอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ รองรับได้สูงสุด 2,300 คน ซึ่งดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จ และเตรียมพร้อมในการเปิดให้บริการเมื่อสถานการณ์ด้านการบินกลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว
ปิด1รันเวย์ซ่อมครั้งใหญ่
ล่าสุดสนามบินดอนเมืองยังอยู่ระหว่างเตรียมปิดรันเวย์ 21R/03L ด้านทิศตะวันตก ความยาว 3,700 เมตร ความกว้าง 60 เมตร ซึ่งจะปิดรันเวย์เส้นนี้ทั้งเส้นตั้งแต่วันที่ 3 พ.ย. 64 - 23 ก.พ. 65 ภายใต้งบลงทุน 331 ล้านบาทซึ่งดำเนินการโดยกิจการร่วมค้า TH ซึ่งก็คือกลุ่มบริษัทถนอมวงศ์และกลุ่มบริษัทหาดใหญ่ ที่เสนอราคามาตํ่ากว่าราคากลางที่กำหนดไว้ 417 ล้านบาท
อย่างไรก็ตามแม้สนามบินดอนเมืองจะเหลือเพียง 1 รันเวย์ที่จะเปิดให้บริการ คือรันเวย์ด้านทิศตะวันออก ก็ยังถือว่ารองรับไหว โดยตามแผนงานผู้รับเหมาจะเร่งสำรวจพื้นที่เตรียมแผนก่อสร้าง ซึ่งจะมีการปิดรันเวย์ด้านตะวันตกบางส่วนเพื่อดำเนินการปรับปรุงประมาณ 30 วัน และจะมีการปิดรันเวย์ทั้งเส้นตลอด 24 ชม. ประมาณ 90 วันทำให้เหลือรันเวย์ทิศตะวันออก 21L/035 ใช้งานเพียง 1 เส้น ซึ่งประเมินว่าจะไม่กระทบต่อการให้บริการการบินแต่อย่างใดเนื่องจากช่วงนี้เที่ยวบินมีไม่มาก โดยรันเวย์ฝั่งตะวันออกสามารถรองรับได้กว่า 400 เที่ยวบิน/วัน ถือว่าเพียงพอ
หรือหากมีการคลายล็อกในการเดินทางและส่งผลให้สถานการณ์การบินมีการปรับเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด หรือมีเที่ยวบินเกินกว่า 400 เที่ยวบิน/วัน จะใช้แผนสำรองในการปรับปรุงรันเวย์ด้านตะวันตก โดยจะปิดรันเวย์เฉพาะเวลากลางคืนแทนการปิด 24 ชม. และไปเจรจาปรับขยายเวลาให้ผู้รับจ้างทด แทน ซึ่งเรื่องนี้ผู้รับจ้างรับทราบแล้ว
ร.ต.ธานี ช่วงชู ผู้อำนวยการ ท่าอากาศยานดอนเมือง กล่าวว่า การปิดซ่อมรันเวย์ในครั้งนี้ได้วางแผนล่วงหน้าไว้นานแล้ว ตั้งแต่ช่วงที่การบินของสนามบินดอนเมืองลดลงต่อเนื่องจากโควิด-19 และจากการเปิดประเทศของรัฐบาลตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.นี้ เมื่อพิจารณาจากตารางการบินในเดือนพ.ย.นี้ของสนามบินดอนเมือง เรายังไม่กังวลว่าจะเกิดปัญหาแออัด เพราะยังไม่มีสายการบินจองสล็อตในเส้นทางระหว่างประเทศเข้ามาเลย ขณะที่เส้นทางในประเทศมีการจองสล็อตบินเข้ามาเพียง 50% หรือประมาณ 50 เที่ยวบินต่อวันเท่านั้น จากปกติวันละ 500 เที่ยวบิน ซึ่งรันเวย์ฝั่งตะวันออกเส้นเดียวก็สามารถรองรับได้เพียงพออย่างแน่นอน
ทุ่ม3.6หมื่นล้านขยายเฟส3
ขณะเดียวกันทอท.ยังอยู่ระหว่างเตรียมแผนในการลงทุนโครงการพัฒนาท่าอากาศยานดอนเมือง ระยะที่ 3 มูลค่าการลงทุน 3.6 หมื่นล้านบาท ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการทบทวนปรับแผนการก่อสร้างให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันที่จะมีการปรับการใช้สอยงานบางส่วนภายในอาคารผู้โดยสาร รวมทั้งอาจจะนำโครงการก่อสร้างหลุมจอดอากาศยานทางด้านทิศเหนือของท่าอากาศยานดอนเมืองเพิ่มเติม 12 หลุมจอดเข้ามาร่วมในโครงการนี้ด้วย และทอท. จะจัดทำรายละเอียดเงื่อนไขการประกวดราคา (ทีโออาร์) เพื่อหาผู้รับจ้างออกแบบรายละเอียด (Detail Design)โครงการ
นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายงานวิศวกรรมและการก่อสร้าง บริษัท อากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. กล่าวว่าขณะนี้ยอมรับว่าการ พัฒนาท่าอากาศยานดอนเมือง เฟส 3 จะล่าช้ากว่าแผนที่วางไว้ประมาณ 1 ปี ซึ่งเดิมมีแผนจะก่อสร้างประมาณต้นปี 65 ใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี แล้วเสร็จ และเปิดให้บริการประมาณปี 68 แต่ความล่าช้าที่เกิดขึ้นจะไม่ส่งผลกระทบต่อการให้บริการผู้โดยสาร เพราะสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ยังรุนแรง ผู้โดยสารยังใช้บริการท่าอากาศ ยานดอนเมืองค่อนข้างน้อย กว่าผู้โดยสารจะกลับมาสู่สภาวะปกติ คาดว่าจะต้องใช้เวลาไม่ตํ่ากว่า 3-4 ปี เมื่อถึงเวลานั้นโครงการพัฒนาท่าอากาศยานดอนเมืองเฟส 3 จะก่อสร้างแล้วเสร็จพอดี
ปัจจุบันโครงการพัฒนาท่าอากาศยานดอนเมืองระยะที่ 3 ทางสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) ได้ส่งหนังสือตอบกลับให้ทอท. ดำเนินการออกแบบรายละเอียดโครงการฯแล้ว โดยจะจ้างที่ปรึกษาออกแบบรายละเอียดฯ ใช้เวลา 1 ปี ก่อนจะเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในกลางปี 2565 และดำเนินการเปิดประมูลเพื่อหาผู้รับจ้างโครงการฯและได้ราคากลางที่ชัดเจนภายในเดือนตุลาคม 2565 คาดได้ตัวผู้รับจ้างภายในเดือนพฤศจิกายน 2565 และจะเริ่มก่อสร้างภายในต้นปี 2566 ระยะเวลาก่อสร้าง 2 ปีครึ่ง เปิดให้บริการช่วงต้นปี 2569
สำหรับโครงการฯ ดังกล่าว จะเปิดให้เอกชนร่วมทุนในรูปแบบ PPP ในส่วนของกิจกรรมเชิงพาณิชย์ เช่น อาคารจอดรถโครงการก่อสร้างอาคาร JUNCTION BUILDING อายุสัญญาสัมปทาน 30 ปี ส่วนทอท.จะใช้เงินลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคเช่น อาคารผู้โดยสาร และให้เอกชนร่วมลงทุน PPP กิจกรรมเชิงพาณิชย์ เช่น ร้านค้า ที่จอดรถ
ส่วนการก่อสร้างที่สำคัญ ประกอบด้วย โครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารแห่งที่ 3 พื้นที่ 155,000 ตารางเมตร รองรับผู้โดยสารได้ 18 ล้านคนต่อปี วงเงินลงทุน 30,000 ล้านบาท (รองรับผู้โดยสารระหว่างประเทศเป็นหลัก), การปรับปรุงอาคารผู้โดยสารหลังที่ 1 เพื่อปรับเปลี่ยนให้รองรับผู้โดยสารภายในประเทศ ร่วมกับอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2, โครงการก่อสร้างอาคาร JUNCTION BUILDING, ระบบขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ (APM) วงเงิน 10,000 ล้านบาท
ทั้งหมดเป็นการขยับของสนามบินดอนเมืองที่จะปรับโฉมครั้งใหญ่ที่จะเกิดขึ้น เพื่อรองรับดีมานต์การท่องเที่ยวจะฟื้นกลับมาอีกครั้งในช่วง 2-5 ปีนี้