นายมงคล สุขเจริญคณา ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์สมาคมการประมงแห่งประเทศไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า สมาคมการประมงแห่งประเทศไทย ลงนามโดย นายกำจร มงคลตรีลักษณ์ ลงนาม เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2564 เรียกประชุมใหญ่วิสามัญครั้งที่ 1/2565 จากการร้องขอสมาชิกฯ จำนวน 26 องค์กร เพื่อเสนอให้เปิดประชุมใหญ่วิสามัญ ในวันที่ 13 มกราคมนี้ จะเชิญพล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล หรือ “บิ๊กโจ๊ก” ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะประธานคณะทำงานเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจสอบ ควบคุม เฝ้าระวังการทำการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายเข้ามาประชุมหารือร่วมกันเพราะเกรงว่าหากได้ข้อมูลไม่ถูกต้อง อาจจะไม่ใช่สิ่งที่เข้าใจก็ได้
โดยเฉพาะคณะที่ตั้งเข้ามาส่วนใหญ่เป็นตำรวจทั้งนั้นจะเข้าใจอาชีพประมงได้อย่างไร เพราะที่ผ่านมาได้เรียกร้องการแก้กฎหมายที่ไม่เป็นธรรมกับชาวประมง มีปัญหาอยู่ถ้าจะมาบังคับใช้กฎหมายกับชาวประมงจริง ก็ต้องบังคับทั้งประเทศ ตั้งแต่พวกหาบเร่ แผงลอย คนขายของริมถนน และนี่คือวัตถุประสงค์จริงถึงที่มาของการประชุมใหญ่
“ไม่ใช่เอะอะอะไรจะไปรบกับรัฐบาล เราอยู่เงียบๆมา 2 ปีแล้ว ทำตัวเป็นเด็กดี ที่ผ่านมาได้เรียกร้องตามกระบวนการ เรียกร้องให้แก้ปัญหาก็ได้เสนอไป แก้กฎหมายประมงก็ผ่านสภา ไม่ได้เอาม็อปไปกดดันอะไร แต่มาวันนี้กับตั้งคณะนี้ขึ้นมา เปรียบเหมือนยักษ์หลับอยู่ ก็เอาไม้ไปแหย่ให้ตื่น อยากจะฝากไปว่าถ้าไม่ทำความเข้าใจกับพวกเราว่ามีปัญหาอะไร ถึงได้ตั้งคณะนี้ขึ้นมา ต้องชี้แจง ทำความเข้าใจ ทางสมาคมและสมาชิกประมงพร้อมที่จะต้อนรับ”
นายมงคล กล่าวว่า อยากจะฝากถึงรัฐบาล สมาคมประมงกำลังทำคู่มือ ท่านอดีตสมาชิกวุฒิสภา “วิชาญ เอกชัยศิริวัฒน์” ได้รวบรวมความเสียหายของพี่น้องชาวประมง 22 จังหวัด กำลังจะออก เพื่อให้รัฐบาลได้รับทราบว่าสิ่งที่ท่านทำ โดยเฉพาะการติดกระดุมเม็ดแรกผิดก็กลายเป็นความเสียหายที่แก้ไม่จบไม่สิ้น เป็นการแก้แบบลิงแก้แห ก็เพราะไปออกกฎหมายเละเทะ ก็เพราะต้องทำตามอียู
ส่วนเรือที่มีการจับกุมนั้น เรือประมงเหล่านี้ ทำการประมงอยู่ในประเทศมาเลเซียมานาน ก่อนที่ไทยจะโดน เรื่อง IUU Fishing เสียอีกครับเรือประมงกลุ่มนี้เขาชักธง 2 สัญชาติ (ไทยและมาเลเซีย )มานานแล้วพอประเทศไทยโดน IUUFishing ใบเหลืองรัฐบาลได้ตั้งหน่วยงาน ศปมผ.ขึ้นมาแก้ไขปัญหาIUU มีการออกกฎหมายห้ามเรือประมงเป็นเรือประมง 2 สัญชาติ โดยต้องเลือกสัญชาติ ระหว่างไทยกับมาเลเซีย (ชาวประมงที่เขาทำประมงอยู่2ประเทศ ไทยและมาเลเซีย)เขาก็ต้องเลือกบางส่วนก็เลือกเป็นเรือประมงไทย บางส่วนก็เลือกเป็นเรือประมงมาเลเซีย เพราะเขาจับปลาอยู่ที่มาเลเซียอยู่แล้ว
พอปีนี้อินโดนีเซียจะมีการเปิดให้เข้าไปทำการประมงใหม่ ได้ ชาวประมงเขาก็ต้องการจะเข้าไปจับปลาที่อินโดนีเซีย ก็จะต้องมีการโอนเรือประมงไปเป็นเรือประมงสัญชาติอินโดนีเซีย โดยการร่วมทุนกับชาวประมงอินโดนีเซีย โดยที่จะต้องไปจดทะเบียนเป็นเรือประมงอินโดนีเซียถึงจะเข้าไปจับปลาได้ แต่ด้วยสภาพเรือไม่พร้อมเพราะเรือไม่ได้ซ่อมแซมมานานเนื่องจากทางมาเลเซียไม่อนุญาตให้เอาเรือประมงเข้ามาซ่อมที่ไทย
แต่เมื่อได้ดำเนินการขั้นตอนเตรียมที่จะโอนเรือประมงไปเป็นสัญชาติอินโดนีเซีย ก็ต้องการเอาเรือประมงเข้ามาซ่อมที่ประเทศไทยให้สามารถเดินทางไปประเทศอินโดนีเซียได้โดยไม่อันตรายระหว่างเดินทาง และเนื่องจากอู่ซ่อมเรือไทยมีความพร้อมมากกว่ามาเลเซียจึงเอาเรือมาเข้าซ่อมที่อู่ซ่อมเรือประเทศไทย
“เคยไปร้องเรียนท่านพล.อ.ประวิตร ในช่วงที่ท่านมาที่จังหวัดปัตตานี ท่านพล.อ.ประวิตร ได้สั่ง ให้อธิบดีกรมประมง(มีศักดิ์)กับพล.ต.ท.จารุวัฒน์ ไปเจรจาที่ประเทศมาเลเซีย โดยตรง กับอธิบดีกรมประมงมาเลเซีย โดยขอให้อธิบดีกรมประมงมาเลเซียเซ็นต์อนุญาตให้เรือประมงกลุ่มนี้ที่ไปถือสัญชาติมาเลเซีย ให้สามารถเข้ามาซ่อมที่ประเทศไทยได้ แต่อธิบดีกรมประมงมาเลเซียไม่ยอมเซ็นต์เพราะถือว่าเป็นเรือประมงมาเลเซีย ทำให้เรือประมงกลุ่มนี้ไม่สามารถเข้ามาซ่อมที่ประเทศไทยได้ “
แต่เมื่อทางอินโดนีเซียกำลังจะเปิดให้สามารถเข้าไปทำการประมงได้โดยการร่วมทุนกับคนอินโดนีเซีย เรือประมงกลุ่มนี้ก็กำลังจะโอนเรือประมงไปยังประเทศอินโดนีเซียโดยการดำเนินการตามขั้นตอน ซึ่งจะต้องมีการซ่อมแซมเรือประมงให้มีความพร้อมในการเดินทางก็แค่นั้นเองแต่ระบบเอกสารยังไม่เรียบร้อย ทำให้เกิดความผิดพลาด