ความยากจนปัญหาเรื้อรัง แทบทุกรัฐบาลประกาศจะแก้ปัญหานี้ให้หมดไป แต่สุดท้ายไทยยังมี “คนจน” และยิ่งเผชิญวิกฤติิแต่ละระลอก ไม่ว่าจากภัยพิบัติธรรมชาติ วิกฤติเศรษฐกิจ หรือจากโรคระบาด ก็ส่งผลกระทบให้จำนวน “คนจน” กลับมาเพิ่มมากขึ้น เพราะยังเข้าไม่ถึง“คนจน” ตัวจริง และขาด “ยา” สูตรที่รักษาโรคของแต่ละคน ให้กลับมาแข็งแรงยืนบนลำแข้งตนเองได้
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้ผลักดัน “การพัฒนาเชิงพื้นที่และลดความเหลื่อมลํ้าเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนอย่าง เบ็ดเสร็จและแม่นยำ” เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนจนให้ดีขึ้น โดยใช้องค์ความรู้วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีวิจัยและนวัตกรรม ด้วยการประสานพลังความร่วมมือของผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนมาตั้งแต่ปี 2563
ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ในสังกัด อว. และใช้ทุนวิจัยเป็นกลไกหนึ่งในการเชื่อมประสานการผนึกกำลัง ระหว่างกระทรวงมหาดไทย กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) มหาวิทยาลัยในพื้นที่ ร่วมกับภาคประชาสังคม ในการแก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ ให้คนและกลไกในพื้นที่ลุกขึ้นมาแก้ปัญหาตนเอง
“บพท. ได้เดินหน้าผลักดันโครงการการพัฒนาในเชิงพื้นที่มาระยะหนึ่งแล้ว และเริ่มเห็นผล อย่างเป็นรูปธรรม มีตัวอย่างความสำเร็จของพื้นที่ในโครงการวิจัยและนวัตกรรมแก้ปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและยั่งยืนเกิดขึ้นมากมาย”
กลไกและโครงสร้างการทำงานเริ่มจากพัฒนาแพลตฟอร์ม แผน งานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อการแก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ (Personalized Poverty Alleviation: PPA) เพื่อใช้เป็นดัชนีชี้วัดและคัดกรองกลุ่มเป้าหมาย โดยใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง เพื่อหาคำตอบของ 3 คำถามหลัก 1. คนจนคือใครอยู่ที่ไหน 2. ทำไมถึงจนและมีอะไรเป็นทุนในมือบ้าง และ 3. จะแก้ความจนอย่างไรด้วยตนเอง
ทั้งนี้ มีการจัดตั้งศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (ศจพ.) ทั้งในระดับชาติจนถึงระดับจังหวัด มี หน้าที่บริหารและขจัดความยากจน โดยใช้ระบบข้อมูลคนยากจนที่เรียกว่า TP-MAP (Thai People Map and Analysis Platform) ส่วนของ บพท. ได้ตั้งแพลตฟอร์มงานวิจัยขึ้นมา โดยมุ่งเป้าไปที่จังหวัดที่มีดัชนีความก้าวหน้าของคนและรายได้ภาคครัวเรือนตํ่าที่สุดรวม 20 จังหวัด ในปี 2563-2564 เป็นพื้นที่นำร่อง
ส่วนที่ 1 ศพจ.จังหวัดจะค้นหาคนจนจากฐานข้อมูล (บิ๊กดาต้า) ตาม TP-MAP และลงสนามทำงานร่วมกับภาคประชาสังคมในพื้นที่ เพื่อดึงชุมชนมาร่วมค้นหาและสอบทานกันเอง โดยมีมหาวิทยาลัยเป็นตัวกลาง
ส่วนที่ 2 ทำระบบวิเคราะห์ปัญหาและฐานทุนครัวเรือนยากจน หรือ PPPConnext
ส่วนที่ 3 คือระบบการส่งต่อความช่วยเหลือเร่งด่วน โดยสำหรับครัวเรือนยากจน ซํ้าซาก หน่วยงานดูแลระบบสวัสดิการระบบสงเคราะห์เข้าถึงได้ทันที ส่วนครัวเรือนที่มีฐานทุน จะเข้าสู่
ส่วนที่ 4. โดยนักวิชาการจากมหาวิทยาลัย เข้าร่วมศึกษาออกแบบโมเดลแก้จน ยกระดับศักยภาพอาชีพเพื่อสร้างรายได้ให้ พ้นภาวะยากจนต่อไป
การขับเคลื่อนในปี 2563-2564 ของ บพท. ใน 20 จังหวัด ที่มีรายได้ภาคครัวเรือนตํ่าที่สุด ซึ่ง จากการสอบทานอย่างละเอียด พบข้อมูลคนยากจน 7.8 แสนคน เพื่อส่งต่อเข้าระบบความช่วยเหลือขององค์กรภาครัฐ
ในปี 2565 ได้ต่อยอดกระบวน การถ่ายทอดองค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ในการพัฒนาอาชีพ/ยกระดับคุณภาพชีวิต มีเป้าหมายช่วยเหลือคนจนไม่น้อยกว่า 10,000 ครัวเรือน รวม 40,000 คน ตามแผนงาน 3 ปี จะสร้างอำเภอต้นแบบในการแก้ปัญหาคนจนให้ได้ทั้งอำเภอ เพื่อนำแนวทางนี้ขยายผลไปทั่วประเทศต่อไป
ผลการขับเคลื่อนเริ่มปรากฎรูปธรรม “แก้จน” อาทิ ศูนย์หัตถกรรมกระจูดพัทลุง ได้ยกระดับการผลิตพัฒนาลาย ลดต้นทุนการย้อมสีและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ปรับรูปแบบผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับตลาด สามารถเพิ่มมูลค่า ทำให้สมาชิกมีรายได้เพิ่ม 2-3 เท่า ที่อุบลราชธานี มีการจัดตั้งกองทุนข้าวปันสุข กองทุนตากมัน ตั้งกลุ่มเพาะเห็ด เลี้ยงสัตว์ชาวบ้านมีรายได้พึ่งพาตนเอง เกิดความมั่นคงในชีวิต เป็นต้น
แก้จนสูตร 3 ประสาน ภาครัฐ ประชาสังคม มีองค์ความรู้เชื่อมร้อย ของอว. สามารถชี้ “คนจน” ตัวจริงได้ตรง ทำงานร่วมกันวิเคราะห์หา “เหตุความจน” แล้วสังเคราะห์องค์ความรู้ออกแบบเป็น “สูตรแก้จน” ได้ตรงจุด คนจนลุกขึ้นแก้ปัญหาด้วยตนเอง โดยมีเจ้าหน้าที่รัฐและชุมชนเป็นพี่เลี้ยงช่วยประคับประคอง จนเกิดผลสำเร็จได้ “อำเภอไร้จน” ต้นแบบ
หากสำเร็จได้จะเป็นอีก นวัตกรรมไทย “แก้จน” แม่นยำและยั่งยืน
หน้า 8 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,777 วันที่ 24-27 เมษายน พ.ศ.2565