ปรับเพิ่ม "ค่าบริการไปรษณีย์ไทย" ครม.เคาะสังคายนา กู้วิกฤติขาดทุน

26 เม.ย. 2565 | 11:54 น.
อัปเดตล่าสุด :26 เม.ย. 2565 | 19:07 น.

มติครม. อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวง สังคยนา รื้อค่าบริการไปรษณีย์ไทย ทั้งส่งจดหมาย-พัสดุ-ค่าธรรมเนียม ให้เหมาะกับยุคสมัย แก้ปัญหาการขาดทุน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) วันที่ 26 เม.ย.65 มีวาระสำคัญในการกู้วิกฤติการขาดทุนของบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด รัฐวิสาหกิจภายใต้ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม  (ดศ.) ด้วยการปรับเพิ่มค่าบริการไปรษณีย์ไทย

 

ทั้งการส่งจดหมาย การส่งพัสดุ และค่าธรรมเนียมอื่นๆ ให้สอดรับกับภาวะเศรษฐกิจ หลังจากไม่ได้ปรับมาเป็นเวลานาน และต้องแบกต้นทุนเอาไว้


ฐานเศรษฐกิจ ตรวจสอบมติครม.ดังกล่าว พบว่า เป็นมติครม. ที่อนุมัติหลักการ “ร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราไปรษณียากรและค่าธรรมเนียมอื่น พ.ศ. ….” ตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้ 

ในที่ประชุมครม. กระทรวงดิจิทัล เสนอต่อที่ประชุมครม.ว่า กฎหมาย 3 ฉบับ มีผลใช้บังคับมาเป็นระยะเวลานานแล้ว ได้แก่

  • กฎกระทรวงกำหนดอัตราไปรษณียากรและค่าธรรมเนียมอื่นตามพระราชบัญญัติไปรษณีย์ พ.ศ. 2477
  • กฎกระทรวงกำหนดอัตราไปรษณียากรและค่าธรรมเนียมอื่นตามพระราชบัญญัติไปรษณีย์ พ.ศ. 2547
  • กฎกระทรวงกำหนดอัตราไปรษณียากรสำหรับไปรษณียภัณฑ์ภายในประเทศที่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนด พ.ศ. 2549

 

ซึ่ง บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) ไม่ได้ขอปรับอัตราราคาค่าบริการไปรษณีย์พื้นฐานในประเทศ ในขณะที่ต้นทุนเพิ่มขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อ 

 

และจากผลการศึกษาโครงการปรับปรุงอัตราค่าบริการไปรษณียากรของจดหมายและไปรษณียบัตรในประเทศของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เมื่ออิงกับดัชนีราคาผู้บริโภค และอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจากข้อมูลธนาคารแห่งประเทศไทย ที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ณ ปัจจุบันปรับสูงขึ้นร้อยละ 38.46 จากปี 2547 

 

พบว่าในปี 2562 อัตราค่าบริการจดหมายในประเทศที่ควรจะเป็นคือ 4.13 บาทต่อฉบับ ในขณะที่ ปณท ได้พยายามบริหารจัดการต้นทุนให้อยู่ในกรอบอัตราเงินเฟ้อมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถบริการไปรษณีย์พื้นฐานในประเทศโดยทั่วถึงแก่ประชาชนในอัตราเริ่มต้นที่ 3 บาท 

มีผลให้ ปณท มีภาระเชิงสังคมต้นทุนของบริการพื้นฐานในประเทศเพิ่มสูงขึ้น

 

จากข้อมูลปี 2554 – 2563 เป็นจำนวนสูงถึง 18,380 ล้านบาท (เฉลี่ยปีละ 1,838 ล้านบาทและมีแนวโน้มสูงขึ้น โดยในปี 2563 มีภาระการให้บริการเชิงสังคม 3,072 ล้านบาท) 

 

ประกอบกับ ปณท ต้องปรับมาตรฐานการฝากส่งให้เป็นไปตามสหภาพสากลไปรษณีย์ (The Universal Postal Union : UPU) จากมาตรฐานการฝากส่งรูปแบบเดียว เป็นมาตรฐานการฝากส่ง 2 รูปแบบ คือ ประเภทหีบห่อ (กล่อง) และประเภทซอง

 

“กระทรวงดิจิทัล พิจารณาแล้วเห็นว่า ปณท ได้ใช้อัตราค่าบริการไปรษณีย์พื้นฐานเดิมมาเป็นเวลานาน กิจการไปรษณีย์ในปัจจุบันมีแนวโน้มประสบปัญหาขาดทุน เห็นควรปรับอัตราไปรษณียากรสำหรับบริการไปรษณียภัณฑ์ในประเทศใหม่ ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้ประชาชนเดือดร้อน จึงได้ยกร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราไปรษณียากรและค่าธรรมเนียมอื่น พ.ศ. …. ขึ้น ซึ่งในการประชุมคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ครั้งที่ 3/2564 เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2564 ได้มีมติเห็นชอบด้วยแล้ว”

 

กระทรวงดิจิทัล อธิบายต่อครม.ต่อไปว่า การปรับอัตราไปรษณียากร จะทำให้กิจการไปรษณีย์ของ ปณท มีเงินทุนหมุนเวียนเพียงพอสำหรับการให้บริการพื้นฐานแก่ประชาชนทั่วไปได้ เพิ่มประสิทธิภาพและพัฒนาบริการได้บรรลุเป้าหมาย 

 

รวมทั้งเป็นการลดต้นทุนในการดำเนินกิจการของผู้ใช้บริการและเป็นการส่งเสริมให้มีการใช้บริการไปรษณีย์ อันช่วยยกระดับมาตรฐานให้อยู่ระดับสากลตามมาตรฐานของ UPU

 

อีกทั้งในระยะยาวภาครัฐสามารถนำเงินมาพัฒนาบริการการส่งไปรษณียภัณฑ์รูปแบบดั้งเดิมเป็นดิจิทัลด้วยการเป็นผู้ให้บริการจัดการเอกสารอิเล็กทรอนิกส์แบบครบวงจร (Total Document Handling : TDH) 

 

เพิ่มขีดความสามารถในการให้บริการด้วยการพัฒนาระบบงานเพื่อให้บริการ Data Address Cleansing Tool (DAC) บริการไปรษณีย์ตอบรับในประเทศทางอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Acknowledgement of Receipt : eAR)

 

รวมทั้งพัฒนาระบบบริหารจัดการฐานข้อมูล เพื่อให้ ปณท สามารถเป็น THP Digital Centre รองรับความต้องการใช้งานข้อมูลในรูปแบบต่าง ๆ ได้มากขึ้น 

 

“ปณท ยืนยันว่า การปรับอัตราไปรษณียากรในระยะ 3 ปีแรก จะไม่ส่งผลกระทบต่อภาคประชาชนแต่ประการใด เนื่องจากเป็นการปรับอัตราไปรษณียากรเฉพาะบริการประเภทจดหมายซึ่งภาคประชาชนส่วนใหญ่มาใช้บริการฝากส่งอยู่ในช่วงพิกัดน้ำหนัก 0 – 10 กรัม ซึ่งมีอัตราไปรษณียากร 3 บาท (เท่าเดิม) และแม้ว่าจะส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจสำหรับกลุ่มการเงิน กลุ่ม e-Commerce และกลุ่มขนส่งและสื่อสารก็ตาม แต่เป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้นอย่างไม่มีนัยสำคัญจนอาจเกิดการผลักภาระค่าใช้จ่ายดังกล่าวไปยังผู้ใช้บริการแต่อย่างใด”

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับสาระสำคัญของร่างกฎกระทรวงฉบับใหม่ เป็นการขอยกเลิกกฎกระทรวงเดิม

 

และปรับปรุงใหม่เป็น “ร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราไปรษณียากรและค่าธรรมเนียมอื่น พ.ศ. ….” โดยปรับอัตราไปรษณียากรสำหรับบริการไปรษณียภัณฑ์ในประเทศใหม่ ดังนี้  

 

จดหมาย 

จำแนกออกเป็น 2 ประเภท คือ 

  1. จดหมาย ประเภทซอง 
  2. จดหมาย ประเภทหีบห่อ (กำหนดเพิ่มเติมให้สอดคล้องกับ UPU) โดยมีอัตราค่าบริการให้แยกประเภทซอง/หีบห่อ เป็น 2 ระยะ  คือ
  • ระยะแรก (พ.ศ. 2565 – 2567)  

(1) จดหมาย ประเภทซอง ยังคงอัตราค่าบริการพิกัดน้ำหนักแรกไว้ที่ 3 บาท สำหรับพิกัดน้ำหนักไม่เกิน 10 กรัม  

 

(2) จดหมาย ประเภทหีบห่อ มีอัตราค่าบริการในพิกัดน้ำหนักแรก 30 บาท สำหรับพิกัดน้ำหนักไม่เกิน 500 กรัม และมีอัตราค่าบริการสูงสุด 55 บาท สำหรับพิกัดน้ำหนักเกิน 1,000 กรัม แต่ไม่เกิน 2,000 กรัม 

 

  • ระยะที่สอง ตั้งแต่ปี 2568 เป็นต้นไป 

              (1) จดหมายประเภทซอง จะปรับอัตโนมัติโดยมีอัตราค่าบริการในพิกัดน้ำหนักแรก 4 บาท สำหรับพิกัดน้ำหนักไม่เกิน 10 กรัม และมีอัตราค่าบริการสูงสุด 62 บาท สำหรับพิกัดน้ำหนักเกิน 1,000 กรัม แต่ไม่เกิน 2,000 กรัม 

 

                (2) จดหมายประเภทหีบห่อ จะปรับอัตโนมัติโดยมีอัตราค่าบริการในพิกัดน้ำหนักแรก 34 บาท สำหรับพิกัดน้ำหนักไม่เกิน 500 กรัม และมีอัตราค่าบริการสูงสุด 62 บาท สำหรับพิกัดน้ำหนักเกิน 1,000 กรัม แต่ไม่เกิน 2,000 กรัม   
                  

ไปรษณียบัตร ของตีพิมพ์ และพัสดุไปรษณีย์ 

 

ไม่เปลี่ยนแปลงอัตราค่าบริการในระยะแรก (พ.ศ. 2565 – 2567) เป็นระยะเวลา 3 ปี และระยะที่สองจะปรับอัตโนมัติตั้งแต่ปี 2568 เป็นต้นไป 

 

กำหนดอัตราไปรษณียากรพิเศษ

 

สำหรับไปรษณียภัณฑ์ภายในประเทศที่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนด โดยมีส่วนลดสูงสุดไม่เกินร้อยละ 44 จากอัตราที่ขอปรับขึ้นใหม่ โดยกำหนดเงื่อนไขในการใช้บริการ 

 

เช่น ฝากส่งเป็นประจำต่อเนื่อง ฝากส่งต่อเดือนตั้งแต่ 500,000 ฉบับต่อเดือนขึ้นไป มีการคัดแยกเพื่ออำนวยความสะดวกในการส่งต่อในระบบงานไปรษณีย์ ฝากส่งและนำจ่ายในเขตพื้นที่เดียวกัน เป็นต้น

 

ปรับอัตราไปรษณียากรสำหรับบริการไปรษณียภัณฑ์ในประเทศใหม่ ดังนี้ 

  1. อัตราไปรษณียากรสำหรับจดหมาย ประเภทซอง จดหมาย ประเภทหีบห่อ ไปรษณียบัตร ของตีพิมพ์ เครื่องอ่านสำหรับคนเสียจักษุ และพัสดุไปรษณีย์
  2. อัตราไปรษณียากรต่ำกว่าอัตราไปรษณียากรทั่วไป สำหรับ
  • ลูกค้าฝากส่งอย่างเป็นประจำต่อเนื่อง
  • เป็นจดหมาย ประเภทซอง ที่มีปริมาณงานฝากส่งต่อเดือนตั้งแต่ 500,000 ฉบับขึ้นไป
  • มีการดำเนินการคัดแยกตามรหัสไปรษณีย์ หรือดำเนินการอื่นใดเพื่ออำนวยความสะดวก ในการคัดแยกและส่งต่อในระบบงานไปรษณีย์
  • ฝากส่ง ณ ศูนย์รับฝากไปรษณีย์จำนวนมาก หรือที่ทำการไปรษณีย์รับจ่ายเท่านั้น
  • ฝากส่งและนำจ่ายในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล หรือฝากส่งและนำจ่ายในพื้นที่จังหวัดเดียวกันสำหรับภูมิภาค
  • ฝากส่งภายในเวลา 15.00 น. ของวันจันทร์ - ศุกร์ หรือภายใน 10.00 น. ของวันเสาร์ - อาทิตย์ และวันหยุดราชการประจำปี
     

ปรับเพิ่ม \"ค่าบริการไปรษณีย์ไทย\" ครม.เคาะสังคายนา กู้วิกฤติขาดทุน ปรับเพิ่ม \"ค่าบริการไปรษณีย์ไทย\" ครม.เคาะสังคายนา กู้วิกฤติขาดทุน