ครม. ร้อนฉ่า “ดอน-จุรินทร์” ถกเดือดปม CPTPP ต่างคนต่างมองคนละมุม

30 พ.ค. 2565 | 12:16 น.
อัปเดตล่าสุด :30 พ.ค. 2565 | 19:21 น.

ควันหลงประชุมครม. วันนี้ 2 รองนายกรัฐมนตรี “ดอน-จุรินทร์” ถกปมข้อตกลง CPTPP เดือดกลางวงครม. หลังจากต่างคนต่างมองคนละมุม หวั่นไทยเสียประโยชน์ ไปดูเหตุผลของแต่ละคนกันว่ามองมุมไหน ยังไง แล้วใครอย่าศึก สุดท้ายมีทางออกที่จะเดินต่อยังไง

ยังคงไม่ได้ข้อสรุป สำหรับ CPTPP หรือ ข้อตกลงความครอบคลุมและความก้าวหน้าเพื่อหุ้นส่วนทางการค้าภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก กับการตัดสินใจเข้าร่วมการเจรจาของประเทศไทย โดยล่าสุดในช่วงระหว่างการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ครั้งล่าสุด รัฐบาลก็ได้หยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาถกกันอีกครั้ง

 

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล ระบุถึงเรื่องนี้ว่า นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ขึ้นมาในช่วงระหว่างครม. กำลังพิจารณาร่างกรอบการเจรจากรอบความตกลงว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือรอบด้านระหว่างสหภาพยุโรปและรัฐสมาชิกกับราชอาณาจักรไทย (Partnership and Cooperation Framework Agreement: PCA)

 

“รองนายกรัฐมนตรี ระบุว่ากลัวไทยจะตกขบวน  CPTPP โดยจริง ๆ แล้ว การเข้าร่วมเจรจาข้อตกลงดังกล่าว ไทยก็แค่เข้าไปคุยก่อนก็ได้ ไม่ต้องเข้าไปร่วมข้อตกลง แต่ไม่เข้าใจว่าทำไมท่าทีของไทยจึงไม่ยอมไปคุย จะเข้าหรือไม่เข้าก็ค่อยมาว่ากันทีหลัง และกลัวจะเหมือน FTA ไทย-อียู ที่ทำมานานถึง 14 ปี ก็ยังไม่จบ และอาจทำให้ไทยเสียโอกาสไป”

 

แหล่งข่าวระบุว่า รองนายกฯ ขยายความถึงเรื่องนี้ด้วยว่า แม้ว่าไทยจะเข้าหรือไม่เข้าก็ไม่ควรหลีกเลี่ยงการเข้าร่วมเจรจาข้อตกลง หากไม่เอาข้อให้ก็สามารถที่จะขอสงวนเอาไว้ได้ แต่ไม่ใช่ปฏิเสธตั้งแต่ตอนแรก อย่างน้อยก็ลองไปคุยเสียก่อน เพราะเรื่องนี้หลายคนก็อยากรู้คำตอบว่ารัฐบาลไทยจะเดินอย่างไรต่อ 

ขณะที่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ อธิบายข้อสงสัยของรองนายกฯ ดอน ว่า กระทรวงพาณิชย์ ยังคงแสดงความเป็นห่วงในเรื่องข้อตกลงนี้ เพราะเมื่อเข้าไปโดยไม่พร้อมก็อาจทำให้เกิดปัญหาตามมาก และปัจจุบันรัฐบาลก็มีหลายข้อตกลงยังเดินหน้าได้

 

ทั้งนี้ รองนายกฯ จุรินทร์ ได้อธิบายต่อว่าจริง ๆ แล้วรัฐบาลก็ไม่อยากให้ประเทศไทยตกขบวน CPTPP แม้ตอนนี้จะยังไม่ได้เดินหน้าอะไรมากนัก แต่ยังติดกลไกในสังคมบางส่วนยังไม่เห็นพ้อง ดังนั้นจึงยังไม่ได้เดินหน้าในทันที ก็คงต้องคุยให้เข้าใจกันก่อน โดยต้องศึกษาแนวทางของประเทศอื่นประกอบเกี่ยวกับการค่อย ๆ เจรจาไปก่อนได้

 

อย่างไรก็ดีจากการยกประเด็นนี้ขึ้นมาหารือเป็นระยะเวลาค่อนข้างนาน แต่ยังไม่มีข้อสรุปอะไรเกิดขึ้น ทำให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงหลาโหม ต้องกล่าวขึ้นมาภายหลัง โดยขอให้ไปคุยกันใหม่ให้ได้ข้อสรุป 

ด้าน น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ขยายความถึงเรื่อง CPTPP ว่า ในการเข้าร่วมการเจรจาข้อตกลง CPTPP ของไทย จะทำด้วยความรอบคอบยึดถึงประโยชน์ของทุกกลุ่ม และปกป้องกลุ่มที่จะได้รับผลกระทบควบคู่กับ ขณะที่เดินหน้าเรื่องนี้ก็ยังไม่ใช่การเข้าร่วมข้อตกลงทันที เพียงแค่เข้าไปเจรจาดูก่อนเท่านั้น

 

“ขอให้มั่นใจว่าหากไทยจะเข้าสู่การเจรจา CPTPP จะทำอย่างรอบคอบ หากไม่ได้ข้อสรุปที่น่าพอใจ ก็ไม่เดินหน้าต่อ แต่หากได้ข้อสรุปที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศ ก็ต้องนำเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญมาตรา 178 ต่อไป” น.ส.รัชดา กล่าวทิ้งท้าย