แหล่งข่าวในวงการสื่อสารและโทรคมนาคม เปิดเผยว่า กรณีที่นักวิเคราะห์หลักทรัพย์บางสำนักออกมาให้ข้อมูลแก่นักลงทุน ถึงดีลควบรวมกิจการ"ทรู-ดีแทค" ที่กำลังเป็นประเด็นสุดฮอตของสังคม และเผือกร้อนในมือของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.)อยู่ในเวลานี้
เบื้องต้นเข้าใจว่า คงต้องการนำเสนอมุมมองให้เวทีโฟกัสของเหล่านักวิชาการที่กำหนดจัดในวันที่ 7 มิ.ย.65 ได้คิดสักนิด โดยพยายามนำเสนอมุมมองที่ว่า การควบรวมทรู-ดีแทคนั้น เป็นเรื่องปกติของธุรกิจ เป็นการปรับตัวของผู้ประกอบการโทรคมนาคมบ้านเราที่ต้องตามเทรนด์ตามกระแส และผลของการควบรวมฯยังจะช่วยลดช่องว่างส่วนแบ่งตลาด ทำให้ผู้ให้บริการที่ตกเป็นรองมาตลอดมีโอกาสได้ลืมตาอ้าปากต่อกรกับเจ้าตลาดได้เสียที ผู้ใช้บริการเองก็มีโอกาสจะได้รับบริการใหม่ๆ
โดย ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่และที่ปรึกษาการลงทุน ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน)ที่ออกโรงหนุนดีลควบรวมทรู-ดีแทค เต็มสตรีมด้วยเชื่อว่า จะทำให้ภาพรวมการบริการมีคุณภาพมากขึ้น ทำให้ผู้ให้บริการรายเล็กมีศักยภาพแข็งแกร่งมากพอที่จะแข่งขันกับรายใหญ่ได้อย่างทัดเทียม โดยไม่เกิดช่องว่างจากส่วนแบ่งการตลาดที่ห่างกันมากเหมือนปัจจุบัน ผู้บริโภคเองก็น่าจะได้ประโยชน์ เพราะกิจการที่ควบรวมจะมีต้นทุนลดลง เนื่องจากลดค่าใช้จ่ายที่ซ้ำซ้อนลงได้ หากมีการนำเงินจากต้นทุนที่ลดลงได้ไปลงทุนพัฒนา Product หรือ Service ใหม่ ๆ ให้หลากหลาย แต่ต้องระวังในเรื่องการเลิกจ้างพนักงานที่ซ้ำซ้อน ซึ่งหากทรู-ดีแทคประกาศนโยบายดูแลพนักงานให้ชัด ก็น่าจะคลายกังวลไปได้
ขณะที่ ดร.เชาว์ เก่งชน ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า การควบรวมของผู้ประกอบการโทรคมฯจะส่งผลให้เกิดการเพิ่มศักยภาพและความแข็งแกร่งของผู้ประกอบการในการให้บริการ และมีการพัฒนาเทคโนโลยีในระยะถัดไป ส่วนประเด็นที่เกี่ยวกับผู้บริโภคนั้นจะต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วนก่อนตีความว่าจะส่งผลกระทบ เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลในระดับที่จะวิเคราะห์ได้ว่า ประโยชน์ของผู้บริโภคจะเพิ่มขึ้นหรือลดลงอย่างไร
มีการหยิบยกกรณีการควบรวม บมจ.ทีโอทีกับบมจ.กสท.โทรคมนาคมหรือ CAT ซึ่งหลังการควบรวมได้กลายเป็นผู้ประกอบธุรกิจที่มีอำนาจเหนือตลาด เป็นเจ้าของเกตเวย์ระหว่างประเทศ และตลาดค้าปลีกบริการโทรศัพท์ประจำที่ถึง 80% แต่ไม่ได้ทำให้ประชาชนผู้ใช้บริการเดือดร้อนแสดงให้เห็นว่าหน่วยงานกำกับดูแลอย่างกสทช.นั้น สามารถจะกำกับดูแลได้เป็นอย่างดี
จากมุมมองของนักวิเคราะห์ที่มีชื่อเสียงดังกล่าว อ่านแล้วก็ทำให้ถึงกับอึ้งกิมกี่ เพราะสิ่งที่นักวิเคราะห์และนักลงทุนเหล่านี้สะท้อนออกมานั้น มุ่งโฟกัสแต่ในเรื่องโอกาสในการลงทุน หวังเพียงให้หุ้นหรือหลักทรัพย์ที่บริษัทเข้าไปให้คำปรึกษาได้อานิสงค์จากการควบรวมเท่านั้น โดยไม่ยี่หระเลยว่า แล้วผลกระทบที่มีต่อประชาชนผู้ใช้บริการ และอุตสาหกรรมโทรคมนาคมของประเทศในระยะยาวจะเป็นอย่างไร การที่ผู้เล่นในตลาด หรือผู้ให้บริการโทรคมนาคมในตลาดที่เดิมก็มีการผูกขาดอยู่แค่ 3 ราย และอำนาจเหนือตลาดเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ต้องลดลงไปเหลือแค่ 2 ราย ไม่เลือกค่าย A ก็ต้องเลือกค่าย B เท่านั้น ประชาชนผู้ใช้บริการจะอยู่ตรงไหนหรือ
มันมีช่องทางไหนที่จะทำให้เกิดผู้ให้บริการโทรคมนาคมใหม่ ๆ เบียดแทรกขึ้นมาได้ และหากการควบรวมธุรกิจในลักษณะนี้ มันดีเลิศขนาดนั้นจริงๆ หน่วยงานกำกับดูแลของประเทศต่างๆทั่วโลกก็คงจะเห็นดีเห็นงามไปกับดีลควบรวมกิจการในลักษณะนี้กันไปหมดแล้ว คงไม่ออกข้อกำหนดออกมาตรการห้ามสุดเข้มงวด
บางประเทศถึงขั้นสั่งห้ามไม่อนุมัติ หรือหากจะอนุมัติก็ต้องออกมาตรการบังคับขายกิจการบางส่วนหรือบังคับคืนคลื่นความถี่ คืนใบอนุญาตบางส่วนออกมาเพื่อให้รายใหม่ได้เบียดแทรกเกิดขึ้นมาได้
ก็ไม่รู้นักวิเคราะห์และนักลงทุนท่านเคยได้ยินภาษิตโบร่ำโบราณที่ว่า “ธรรมชาติของเสือมันต้องกินเนื้อ ธรรมชาติของวัวควายยังไงมันก็ต้องกินหญ้า ไปล่ามโซ่ ล้อมคอกให้ตายยังไง หากมีโอกาสยังไงมันก็ต้องเผยทาสแท้ออกมา
น่าแปลกใจที่นักวิเคราะห์เหล่านี้ ไม่พิจารณาไปถึงเรื่องของความยั่งยืนของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมของประเทศในอนาคตเลย และละเลยไม่พิจารณาปัจจัยด้านการผูกขาดที่จะเกิดขึ้น หากอุตสาหกรรมโทรคมนาคมของประเทศเหลือผู้เล่นหลักเพียง 2 รายแล้วมันจะเป็นอย่างไร และการที่หน่วยงานกำกับดูแลปล่อยให้เกิดการผูกขาด เปิดช่องให้บริษัทสื่อสารโทรคมนาคมง้างอำนาจหน้าที่ของตนเองได้ จนมีอำนาจเหนือตลาด ผูกขาดธุรกิจได้ง่ายดายเช่นนี้แล้ว จะไปเพรียกหาการลงทุนจากต่างประเทศได้อย่างไร
“ก็เหมือนกรณีที่คณะกรรมการแข่งขันทางการค้า(กขค.)เคยไฟเขียวการควบรวมธุรกิจค้าปลีก-ค้าส่งให้กลุ่มทุนยักษ์กินรวบประเทศไทยไปก่อนหน้านั่นแหล่ะ ที่ไปออกมาตรการก่อนการควบรวมห้ามนั่น โน้น นี่ 3 ปี 5 ปีนั้น พวกท่านช่วยไปหาข้อดีต่อประชาชนผู้บริโภคมาสักข้อทีเถอะว่าเขาได้ทำตามไหม”
เอาแค่ในปัจจุบันที่ทุกฝ่ายต่างก็เห็นกันอยู่โทนโท่ว่า ผู้ให้บริการโทรคมนาคมในตลาดเมืองไทยนั้น อยู่ในลักษณะกึ่งผูกขาดและถือว่ามีอำนาจเหนือตลาดเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว โดยอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานกำกับดูแลอย่าง กสทช.นั้น จำเป็นต้องออกมาตรการป้องกันการผูกขาด ป้องกันการเอารัดเอาเปรียบและต้องหาช่องทางส่งเสริมให้เกิดผู้ประกอบการรายใหม่ ๆ เบียดแทรกเข้ามาในตลาดเพื่อประโยชน์ของผู้บริโภคนั้น จนวันนี้ก็ยังไม่เห็นจะมีอะไรเป็นรูปธรรม
ส่วนที่ไปหยิบยกกรณีการควบรวม บมจ.ทีโอที กับบมจ.กสท.โทรคมนาคม หรือ CAT เป็นบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ(NT) ซึ่งหลังการควบรวมก็กลายเป็นผู้ประกอบธุรกิจที่มีอำนาจเหนือตลาด อาทิครองตลาดเกตเวย์ระหว่างประเทศ และ ตลาดค้าปลีกบริการโทรศัพท์ประจำที่ถึง 80% แต่ก็ไม่ได้ทำให้ประชาชนผู้ใช้บริการเดือดร้อนอะไรนั้น
พวกท่านคงคงลืมไปแล้วว่า 2 บริษัทสื่อสารของรัฐต่างมีกระทรวงการคลังหรือรัฐเป็นผู้ถือหุ้นมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว และเหตุที่ต้องควบรวมกิจการนั้น ก็เพื่อลดการลงทุนซับซ้อนของรัฐเอง และลดการแข่งขันกันเองของสองรัฐวิสาหกิจด้านการสื่อสารของรัฐ และถึงแม้จะควบรวมกิจการกันไปเป็น NT แล้ว
ซึ่งบริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ(หน้า)ของรัฐ ยังมีส่วนแบ่งในตลาดไม่ถึง 5%เสียด้วยซ้ำ แล้วจะไปเขย่าตลาดอะไรได้ ส่วนที่ไปยกตัวอย่างว่า ถือครองตลาดโทรศัพท์บ้านตั้ง 80% ถือครองเกตเวย์ะหว่างประเทศตั้ง 65% นั้นต่อให้ถือทั้ง 100% ก็ยังไม่มีผลต่อตลาดใดๆเลย เพราะเป็นโครงข่ายสื่อสารที่แทบจะเรียกได้ว่าเอาท์โลกไปแล้ว ซึ่งถามจริงพวกท่านยังเห็นหรือว่า”ยังมีใครใช้โทรศัพท์(สับ)บ้านๆ หมุนกันมือหงิกอยู่ในยุคนี้”
การควบรวมสองบริษัทสื่อสารเป็น NT นั้นจึงไม่ต่างจากเป็นเจ้าตลาด 1-2 จี ที่แทบไม่มีความหมายอะไรเลยแม้แต่น้อย หากเป็นภาษาธุรกิจเขาเรียกถือครองโครงข่ายที่เป็น Sulk Cost จะเอาไปทำมาหากินอะไรได้หรือ ขนาดควบรวมกันไปแล้ววันนี้ก็ยังไม่รู้จะไปแข่งขันกับชาวบ้านร้านรวงเขายังไงต่อดี แค่หาซีอีโอเข้าบริหารเป็นปียังไม่มีใครกล้ารับ
ไม่งั้นสหภาพและผู้บริหาร NTจะออกมาร้องแรกแหกกระเชอคัดค้านค้านดีลควบรวมกิจการในครั้งนี้อย่างสุดลิ่มทิ่มประตูทำไม เพราะกลัวจะไม่เหลือช่องให้บริษัทได้หายใจนั่นปะไร