เปิดศึกปมขัดแย้ง สรรหา “เลขาธิการ กสทช.” คนใหม่ หลังว่างเว้น 2 ปี

16 ส.ค. 2565 | 06:28 น.
อัปเดตล่าสุด :16 ส.ค. 2565 | 13:50 น.

เปิดศึกปมขัดแย้ง สรรหา “เลขาธิการ กสทช.” คนใหม่ วาระร้อน อนุที่ปรึกษากฎหมาย กสทช.ประชุมนัดแรก แต่โดนดึงเกม ยังไม่เคาะเปิดสรรหา

วันนี้ 16 สิงหาคม 2565  เรื่องร้อนแรงภายในสำนักงาน กิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ซึ่งเป็นองค์กรกลางในการกำกับดูแลกิจการสื่อสารของประเทศ ที่ไม่ใช่ประเด็นการควบรวมกิจการของ 2 บริษัทโทรคมนาคมระหว่างบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ  TRUE กับ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC แต่กลับกลายเป็นเรื่องตำแหน่ง เลขาธิการ สำนักงาน กสทช. ตำแหน่งสำคัญที่ช่วยผลักดันขับเคลื่อนองค์กรให้เดินไปข้างหน้า

ตำแหน่ง เลขาธิการ กสทช.ว่างเว้นมานานตั้งแต่ “นายฐากร ตัณฑสิทธิ์” อดีตเลขา กสทช. ลาออกจากตำแหน่งตั้งแต่เดือน กรกฎาคม 2563 จนถึงปัจจุบันเป็นเวลากว่า 2 ปีแล้ว ที่ กสทช.ยังไม่มีการคัดเลือกผู้ดำรงตำแหน่ง เลขาธิการ กสทช. ตัวจริง ทั้งๆ ที่มีคณะกรรมการ กสทช.ชุดใหม่จำนวน 5 คนมารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 14 เมษายน 2565 ซึ่งตามกฎหมายแล้ว บอร์ด กสทช.จะต้องมีทั้งหมด 7 คน แต่ผ่านกระบวนการคัดสรรและโหวตเลือกจากสมาชิกวุฒิสภามา  5 คน ซึ่งสามารถปฏิบัติงานได้ทุกอย่างตามกฎหมาย

 

บอร์ดกสทช.ทั้ง 5 คนประกอบไปด้วย

  • ศาสตราจารย์คลินิก สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานกรรมการ  (ด้านคุ้มครองผู้บริโภค)
  • พลอากาศโท ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ กรรมการ (ด้านกิจการกระจายเสียง)
  •  ศาสตราจารย์พิรงรอง รามสูต กรรมการ (ด้านกิจการโทรทัศน์)
  • นายต่อพงศ์ เสลานนท์ กรรมการ (ด้านการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน)
  •  รองศาสตราจารย์ศุภัช ศุภชลาศัย กรรมการ (ด้านอื่นๆ ที่จะยังประโยชน์ต่อการปฏิบัติหน้าที่ของ กสทช. ( ด้านเศรษฐศาสตร์)

 

วันแรกที่เริ่มต้นการทำงาน บอร์ด กสทช. ทั้ง 5 คน ได้มีการประชุมเรื่อง การสรรหาเลขาธิการ กสทข. คนใหม่ แต่เนื่องจากบอร์ดมีเพียง 5 คนเท่านั้น บอร์ดบางคนเกรงว่าจะขัดกฎหมาย ที่ประชุมจึงมีมติให้ตั้งอนุกรรมการที่ปรึกษากฎหมาย เพื่อพิจารณาเรื่องนี้อย่างเร่งด่วน โดย ศาสตราจารย์คลินิก สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานกรรมการ กสทช.  ได้มีการเซ็นต์คำสั่งแต่งตั้งอนุกรรมการที่ปรึกษากฎหมายอย่างเป็นทางการเมื่อ 8 กรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งรายชื่อคณะอนุที่ปรึกษากฎหมายนี้ ล้วนแต่เป็น “บิ๊กเนม”ในวงการกฎหมายของเมืองไทย โดยมี “ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ” เป็นประธาน

 

 หลังจากนั้น คณะอนุที่ปรึกษากฎหมายได้เปิดประชุมนัดแรก ในวันที่ 3 สิงหาคมที่ผ่านมา ได้ถกเรื่อง การสรรหาตำแหน่งเลขาธิการ กสทช. ตามที่บอร์ด กสทช.มีมติส่งให้คณะอนุที่ปรึกษากฎหมายพิจารณา ว่า บอร์ด กสทช. ทั้ง 5 คน สามารถที่จะสรรหาเลือกเลขาธิการได้หรือไม่

 

มติที่ประชุมของคณะอนุที่ปรึกษากฏหมายของบอร์ด กสทช. ที่เป็นผู้คร่ำหวอดในวงการกฎหมายของไทย สรุปว่า พิจารณาตามกฎหมายในปัจจุบัน แม้ว่า บอร์ด กสทช.มีเพียง 5 คน ต่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ครบทุกอย่าง

 

ดังนั้นบอร์ด กสทช. ทั้ง 5 คน สามารถเริ่มกระบวนการสรรหา เลือกผู้มาดำรงตำแหน่งเลขาฯได้ และควรจะเร่งกระบวนการคัดเลือกดังกล่าวด้วย เพราะเป็นตำแหน่งที่มีความสำคัญต่อองค์กร อีกทั้งองค์กร ไม่มีผู้รับตำแหน่งดังกล่าวมาตั้งแต่เดือน ส.ค.2563 รวมเป็นเวลากว่า 2 ปีแล้ว

 

หลังจากบอร์ดรับทราบมติดังกล่าวแล้ว แต่ปรากฎว่ายังไม่มีคำสั่งจาก คณะกรรมการบอร์ด แต่อย่างใด เนื่องจากมีการลืออย่างหนักว่า เลขาธิการ กสทช.คนใหม่ที่จะเปิดการสรรหายังไม่พอใจสำหรับบอร์ดบางคน นอกจากนี้พร้อมชี้แจงต่อคณะอนุกรรมการที่ปรึกษากฎหมายด้วยตัวเองในวันที่ 23 สิงหาคมนี้

 

“ดูเหมือนคนใหญ่คนโตใน กสทช. จะไม่พอใจกับคำปรึกษาของเหล่าอนุที่ปรึกษากฎหมาย จนต้องลงมาชี้แจงด้วยตัวเอง  ทั้งๆที่ มติวันที่ 3 สิงหา ชัดเจน และเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ว่าจำเป็นต้องเลือกเลขา กสทช. ให้เร็วที่สุด เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนองค์กร” แหล่งข่าวใน กสทช.กล่าว

 

ก่อนหน้านี้ ศ.คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) แถลงผลงาน 3 เดือน ได้ตอบคำถามเรื่องการสรรหา เลขา กสทช. ว่า ข้อดูข้อกฎหมายก่อนว่าจะสามารถเลือกได้เลยหรือไม่ หรือ ต้องรอ กรรมการ กสทช.ครบทั้ง 7 คน

รายละเอียดคำสั่ง แต่งตั้งคณะอนุกรรมการที่ปรึกษาด้านกฎหมาย ของ กสทช.

เมื่อวันที่ 8 ก.ค.2565 ศ.คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ลงนามคำสั่ง กสทช. ที่ 43/2565 เรื่อง แต่งตั้งคณะอนุกรรมการที่ปรึกษาด้านกฎหมายของ กสทช. เพื่อทำหน้าที่เสนอความเห็นเกี่ยวกับข้อกฎหมายในการปฏิบัติตามกฎหมายต่างๆกับ กสทช. โดยคณะอนุกรรมการฯดังกล่าวจะมีวาระการดำรงตำแหน่ง 6 เดือน

สำหรับหนังสือคำสั่ง กสทช. ดังกล่าว ระบุว่า เพื่อให้การปฏิบัติงานของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติตามพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 และที่แก้ไขเพิ่มเติม รวมตลอดถึงบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่เกี่ยวข้องเป็นไปด้วยความถูกต้อง รอบคอบ ครบถ้วน สมบูรณ์ และมีประสิทธิภาพ

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 33 แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2560

ประกอบกับมติที่ประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ครั้งที่ 10/2565 เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 5 พฤษภาคม 2565 และครั้งที่ 17/2565 เมื่อวันพุธที่ 6 กรกฎาคม 2565 คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ จึงมีคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการที่ปรึกษาด้านกฎหมายของ กสทช. โดยมีองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้

  • ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานอนุกรรมการ
  • ศาสตราจารย์พิเศษ จรัญ ภักดีธนากุล อนุกรรมการ
  •  ศาสตราจารย์พิเศษ เข็มชัย ชุติวงศ์ อนุกรรมการ
  • ศาสตราจารย์ ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ อนุกรรมการ
  •  ศาสตราจารย์ ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อนุกรรมการ
  •  นายวราวุธ ศิริยุทธ์โยธิน อนุกรรมการ
  •  นายวีรพล ปานะบุตร อนุกรรมการ
  • นายเพิ่มสิน วิชิตนาค อนุกรรมการ
  •  นางพงษ์สวาท กายอรุณสุทธิ์ อนุกรรมการ
  •  พันตำรวจเอก ดร.ศิริพล กุศลศิลป์วุฒิ อนุกรรมการ
  • นางสุพินญา จำปี เลขานุการ
  • นางสาวพรพักตร์ สถิตเวโรจน์ ผู้ช่วยเลขานุการ
  •  นางสาวสมพร อมรชัยนพคุณ ผู้ช่วยเลขานุการ

อำนาจหน้าที่

  • เสนอความเห็นเกี่ยวกับข้อกฎหมายในการปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม กฎหมายว่าด้วยการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ กฎหมายว่าด้วยการประกอบกิจการโทรคมนาคม กฎหมายว่าด้วยวิทยุคมนาคม รวมตลอดถึงกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ และคำสั่งอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
  •  เสนอความเห็นเกี่ยวกับข้อกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานของ กสทช. หรือตามที่ กสทช. มอบหมาย
  •  เรียกให้พนักงาน ลูกจ้าง หรือผู้ปฏิบัติงานของสำนักงาน กสทช. ตลอดจนบุคคลที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูลหรือชี้แจงตามที่เห็นสมควร
  • รายงานผลการปฏิบัติหน้าที่ต่อ กสทช. ตามระเบียบคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติว่าด้วยการแต่งตั้ง การปฏิบัติหน้าที่ และการจ่ายค่าตอบแทนของคณะอนุกรรมการ พ.ศ. 2561
  • ปฏิบัติหน้าที่อื่นใดตามที่ กสทช. มอบหมาย

ให้คณะอนุกรรมการมีวาระ 6 เดือน นับตั้งแต่วันที่มีคำสั่งแต่งตั้ง โดยให้ได้รับค่าตอบแทนเป็นเบี้ยประชุมในอัตราตามข้อ 16 (1) ของระเบียบคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติว่าด้วยการแต่งตั้ง การปฏิบัติหน้าที่ และการจ่ายค่าตอบแทนของคณะอนุกรรมการ พ.ศ. 2561.

 

คณะอนุกรรมการ กสทช.

อนุกรรมการ กสทช.