ศบค. หรือ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ได้ฤกษ์นับถอยหลัง "เตรียมยุบศูนย์" ตุลาคมนี้ เป็นที่แน่นอนแล้ว
หลังจากสถานการณ์โควิด "กลายเป็นโรคประจำถิ่น" แม้จะมีผู้ป่วยและเสียชีวิตทุกวัน แต่อยู่ในระดับที่เบาลงกว่าการระบาดระลอกแรกๆ ที่ขณะนั้นยังไม่มีวัคซีนป้องกัน
หมอทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศบค. แถลงมติศบค.ชุดใหญ่วันที่ 19 สิงหาคม 65 ถึงความชัดเจนในการ "ยุบศบค." ว่า ตั้งแต่เดือน ต.ค.เป็นต้นไป บทบาทของ ศบค.จะลดลง โดยจะใช้กลไกของศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข (EOC) กระทรวงสาธารณสุข
รวมถึงคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด คณะกรรมการโรคติดต่อ กทม. จะเข้ามาดำเนินการในส่วนนี้
"แต่ในวันนี้ที่ประชุมยังไม่ได้มีการพูดถึงการยกเลิกการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จะประเมินสถานการณ์กันต่อไป เนื่องจากยังเหลือระยะเวลาการประกาศใช้จนถึงสิ้นเดือน ก.ย. ที่ประชุมจะรอดูสถานการณ์ต่อไป"
หมอทวีศิลป์ ยังได้ฉายภาพให้เห็นของการรับมือในอนาคตด้วยว่า ในที่ประชุมศบค. ได้มีการหารือถึงความคืบหน้าในการจัดทำกรอบนโยบายแนวทางปฏิบัติและห้วงเวลาในการดำเนินการเปลี่ยนผ่านสู่ภาวะ Post-Pandemic หรือระยะหลังการระบาดใหญ่
โดยหารือด้านการป้องกันว่าขณะนี้สถานการณ์ทั่วโลกยังมีการเพิ่มผู้ติดเชื้อ แต่จำนวนอาการรุนแรงและเสียชีวิตไม่สูง
ภาพรวมประชาชนในประเทศไทยมากกว่าร้อยละ 90 มีภูมิคุ้มกัน ผู้ฉีดวัคซีนสามเข็มไม่ว่าสูตรใดสามารถป้องกันการป่วยรุนแรงและการเสียชีวิตได้มากกว่าร้อยละ 90 หลังจากนี้ลักษณะการเกิดโควิด-19 จะคล้ายคลึงกับไข้หวัดใหญ่ ซึ่งจะพบผู้ป่วยตลอดทั้งปี
ด้านการรักษาอาการผู้ป่วยส่วนใหญ่จะไม่รุนแรง ยกเว้นในกลุ่มเสี่ยง การใช้ยาและการรักษาที่โรงพยาบาลควรใช้เฉพาะกลุ่มผู้มีอาการ สำหรับการแยกกักตัวจะใช้เวลา 10 วัน คือ แยกกักตัว 5 วัน และอีก 5 วัน ให้ปฏิบัติตนแบบ DMH อย่างเคร่งครัด โดยกรอบระยะเวลานั้น ในเดือน ก.ย. จะให้โควิด-19 เป็นโรคติดต่อเฝ้าระวัง จากนั้นตั้งแต่เดือน ต.ค.-ธ.ค. จะปรับให้โรคระบาดเฉพาะพื้นที่
ด้าน "พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ ศบค." บอกว่า การยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉิน อยู่ในขั้นตอนการพิจารณา การมี พ.ร.ก.ฉุกเฉินก็เพื่อที่จะเสริมเท่านั้นเอง ถ้าสามารถที่จะลดระดับลงได้ก็พร้อมที่จะลดให้
ซึ่งวันนี้ยังหารือกันอยู่ในความจำเป็น เรื่องการบูรณาการ การใช้หน่วยงาน การมีไว้ใช้จะเป็นการสำรองไว้ เพราะไม่ได้มุ่งหวังใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินเพื่อประเด็นอื่นเลย
ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในเรื่องของโควิด-19 เท่านั้น คือสิ่งสำคัญ เพื่อให้หลายหน่วยงานได้ทำงานร่วมมือกัน อย่างวันนี้เรื่องน้ำท่วมอะไรต่างๆ เหล่านี้ก็ต้องร่วมมือกันทุกอัน
ซึ่งจะเห็นได้ว่าทุกหน่วยงานพยายามที่จะเข้าไปช่วยเหลือเต็มที่ ขอให้มองในแง่ดีบ้าง มีแล้วมันเกิดประโยชน์อะไร ถ้าไม่มีมันจะเกิดอะไรขึ้นก็ลองดูแล้วกัน ขึ้นอยู่กับประชาชนจะเข้าใจหรือไม่เข้าใจ อยู่ที่สื่อมวลชนด้วยช่วยกันทำความเข้าใจ
ส่วน นายแพทย์อุดม คชินทร ที่ปรึกษาศบค. การพิจารณายกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ต้องรอเข้าที่ประชุมศบค.ชุดใหญ่ในคราวหน้าก่อน และต้องรอให้ถึงวันที่ 30 ก.ย.นี้ที่เป็นวันสิ้นสุดของการใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
"แต่เรารู้ว่าจะไม่ต่ออายุการใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯอยู่แล้ว เพราะสถานการณ์ดีขึ้น และนายกรัฐมนตรีก็รับทราบแล้ว จึงต้องรอให้ถึงเดือนก.ย.ก่อน"