โครงการฝนหลวง เกิดขึ้นจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่9 เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2498 นับตั้งแต่นั้น พระองค์ทรงทุ่มเทพระวรกายในการคิดค้น วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการทำฝนหลวงจนประสบความสำเร็จ และช่วยให้ประเทศชาติรอดพ้นวิกฤตภัยแล้งมาได้จนถึงปัจจุบัน
ดังนั้น เพื่อแสดงความรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณที่มีต่อปวงชนชาวไทย คณะรัฐมนตรีจึงมีมติเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดช มหาราช บรมนาถบพิตร โดยกำหนดให้วันที่ 14 พฤศจิกายน ของทุกปี เป็นวันพระบิดาแห่งฝนหลวง เพื่อให้ประชาชนทั้งในปัจจุบัน และอนุชนรุ่นหลัง ได้มีโอกาสแสดงความจงรักภักดี ชื่นชมในพระบารมี และร่วมกันถวายสดุดีเฉลิมพระเกียรติในทุกปี
ความเป็นมาของวันที่ 14 พฤศจิกายน "วันพระบิดาแห่งฝนหลวง"
นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้น อันกอปรด้วยพระอัจฉริยภาพ พระวิสัยทัศน์อันกว้างไกล พระราชอุตสาหะวิริยะและการที่ทรงสละเวลาส่วนพระองค์แม้ในยามดึกดื่นค่ำคืนอย่างเหน็ดเหนื่อยตรากตรำ พระวรกายมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน นับตั้งแต่ที่เสด็จพระราช ดำเนินทรงเยือนราษฎรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เมื่อวันที่14พฤศจิกายน พ.ศ.2498
ทรงพบว่าราษฎรเดือดร้อนพืชผลเสียหายจากทั้งฝนแล้งและน้ำท่วม ทำให้ทรงเกิดแนวคิดในการแก้ปัญหาทุกข์ร้อนของราษฎรอย่างฉับพลันในขณะนั้นว่า ”สมควรที่จะสร้างฝายหรือเขื่อนขนาดเล็ก (Check dams) และอ่างเก็บน้ำจำนวนมากขวางทางน้ำ เพื่อป้องกันหรือลดความรุนแรงการไหลบ่า และเก็บกักน้ำไว้ในฤดูแล้งซึ่งเป็นการบรรเทาสภาวะแห้งแล้งได้ทางหนึ่ง”
ที่สำคัญทรงเกิดประกายความคิดด้วยความมั่นพระทัยว่าน่าจะนำกระบวนการทางวิทยาศาสตร์มาช่วยให้เกิดฝนได้ และน่าจะมีวิธีการที่จะรวมเมฆที่กระจายอยู่ในท้องฟ้าแต่ลอยผ่านพื้นที่แห้งแล้งไปหมดดังที่ทรงสังเกตเห็น ในขณะนั้นให้เมฆเหล่านั้นรวมตัวกันเกิดเป็นฝนตกลงสู่พื้นที่แห้งแล้งดังกล่าวได้ อันเป็นต้นกำเนิดของแนวพระราชดำริที่ได้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องมาจนเป็น “โครงการพระราชดำริฝนหลวง” ในปัจจุบัน
นับแต่วันนั้นมา ทรงถ่ายทอดและพระราชทานแนวพระราชดำริแก่ ม.ร.ว.เทพฤทธิ์ เทวกุล ผู้เชี่ยวชาญและนักประดิษฐ์ด้านเกษตรวิศวกรรมของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้ร่วมทำการศึกษาทบทวนเอกสารวิชาการที่เกี่ยวข้อง และให้วิจัยและค้นคว้าหาลู่ทางที่จะทำให้แนวพระราชดำริมีความเป็นไปได้ตั้งแต่ พ.ศ.2498 เป็นต้นมา
จนสามารถทำการค้นคว้าทดลองในท้องฟ้าได้เป็นครั้งแรกในปี พ.ศ.2512 ซึ่งประสบความสำเร็จตามข้อสมมติฐานที่ทรงคาดหมายไว้ สร้างความเชื่อมั่นในแนวพระราชดำริยิ่งขึ้น จึงได้มีการดำเนินการ ในรูปโครงการค้นคว้าทดลองทำฝนเทียมในปี 2513 โดยให้ ม.ร.ว.เทพฤทธิ์ เทวกุล เป็นผู้อำนวยการโครงการมิ ใช่เพียงทรงก่อให้เกิดแนวพระราชดำริขึ้นมาเท่านั้น แต่ทรงร่วมในการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี และโปรดเกล้าฯ ให้นำเทคโนโลยีที่ทรงค้นพบ ไปประยุกต์ในการปฏิบัติการฝนหลวงหวังผล ด้วยพระองค์เองอย่างต่อเนื่องใกล้ชิตตลอดมา
รวมทั้งทรงบัญชาการปฏิบัติการสาธิตเพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยี และทรงบัญชาการคณะปฏิบัติการฝนหลวงพิเศษที่โปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งขึ้นเมื่อเกิดภาวะแห้งแล้งรุนแรงจนเกินกำลังของคณะปฏิบัติการฝนหลวงของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่มีอยู่อย่างจำกัด
ด้วยพระปรีชาสามารถ การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีฝนหลวง จึงก้าวหน้าอย่างรวดเร็วจนทรงสามารถสรุปขั้นตอนกรรมวิธีการดัดแปลงสภาพอากาศให้เกิดฝน คือ ก่อกวน เลี้ยงให้อ้วน และโจมตีพระราชทาน ให้ใช้เป็นเทคโนโลยีในการปฏิบัติการฝนหลวงแบบหวังผลตั้งแต่ พ.ศ.2561เป็นต้นมา
นับว่าจุดหมายขั้นตอนการวิจัยแล้ว แต่การพัฒนากรรมวิธียังมิได้สิ้นสุดหรือหยุดยั้งเพียงนั้น ยังทรงพัฒนาเทคนิคที่จะเสริมให้การปฏิบัติการในแต่ละขั้นตอนกรรมวิธีให้เหมาะสมกับสภาพภูมิประเทศ และภูมิอากาศ สภาพอากาศประจำวันในแต่ละช่วงเวลา และฤดูกาลของแต่ละพื้นที่เป้าหมายปฏิบัติการที่แตกต่างกัน และให้สอดคล้องกับทรัพยากรสนับสนุนของแต่ละคณะปฏิบัติการ เช่น เทคนิคที่โปรดเกล้าฯ ให้เรียกว่า “เทคนิคการโจมตี เมฆอุ่นแบบ SANDWICH”เทคนิคการชักนำกลุ่มเมฆฝนจากเทือกเขาสู่ที่ราบ การชักนำฝนจากพื้นที่ที่ไม่ต้องการฝนไปยังพื้นที่ที่ต้องการ
เทคนิคการใช้สารเคมีแบบสูตรสลับกลุ่มเมฆที่ก่อตัวในหุบเขาให้เกิดฝน เป็นต้นเทคนิคดังกล่าวเป็นเทคนิคการทำฝนจากเมฆอุ่น ใช้ในการปฏิบัติการหวังผล ต่อเมื่อมีแต่เครื่องบินแบบไม่ปรับความดันให้ใช้ในการปฏิบัติการเท่านั้น เทคนิคเหล่านั้นยังคงใช้ในการปฏิบัติการฝนหลวงอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน
จนถึง พ.ศ.2542 ได้เกิดสภาวะแห้งแล้งรุนแรงในปี พ.ศ.2541ต่อเนื่องมาจนถึงฤดูแล้งของปี พ.ศ.2542ถึงขั้นเกิดภาวะวิกฤติต่อพื้นที่เกษตรกรรม ปริมาณน้ำเก็บกักในเขื่อน สภาพสิ่งแวดล้อม (เช่น ไฟป่า น้ำเค็มขึ้นสูง เป็นต้น) และการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคของราษฎรในท้องถิ่นทุรกันดาร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จัดส่งคณะปฏิบัติการฝนหลวงกู้ภัยแล้ง พ.ศ.2542ในการปฏิบัติการนี้
นอกจากจะทรงฟื้นฟู ทบทวนเทคนิค และเทคโนโลยีฝนหลวงที่เคยใช้อย่างได้ผลมาแล้วในอดีตแล้ว ยังพระราชทานข้อแนะนำทางเทคนิคเพิ่มเติมรวมทั้งทรงพัฒนาเทคนิคการโจมตี โดยทรงนำผลการทดสอบเทคนิคการโจมตีเมฆเย็นที่สัมฤทธิผลอย่างน่าพอใจ มารวมกับเทคนิคการโจมตีเมฆอุ่นและโปรดเกล้าฯให้เรียกว่า “เทคนิคการโจมตี แบบ SUPER SANDWICH”
อันเป็นนวัตกรรมใหม่ที่พระราชทานให้ใช้เป็น เทคโนโลยีฝนหลวงล่าสุด พระราชทานให้เริ่มใช้ในการปฏิบัติการฝนหลวงกู้ภัยแล้ง พ.ศ.2542 เป็นครั้งแรกอย่างได้ผลเป็นที่น่าพอใจ สามารถกอบกู้ภัยแล้งให้คืนสู่สภาวะปกติได้อย่างทันท่วงที จึงเป็นการพัฒนาเทคโนโลยีฝนหลวงให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้นอีกระดับหนึ่งและพระราชทานให้ใช้เป็น"ตำราฝนหลวงพระราชทาน” ตั้งแต่วันที่ 21 มีนาคม พ.ศ.2542เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน
จากความสำเร็จในการปฏิบัติการฝนหลวงกู้ภัยแล้ง พ.ศ.2542 ในพระราชวโรกาสที่โปรดเกล้าฯ ให้ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นำคณะนักวิทยาศาสตร์และนักบินฝนหลวงเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เมื่อวันที่ 17 เมษายน พ.ศ.2542ทรงพระกรุณาพระราชทานพระบรมราโชบายในการดำเนินการโครงการพระราชดำริฝนหลวง ทั้งด้านการพัฒนาเทคโนโลยีการปฏิบัติการฝนหลวง การปฏิบัติการตามตำราฝนหลวงพระราชทาน
รวมทั้งข้อแนะนำทางเทคนิคพระราชทานและทรงให้ถือรูปแบบการปฏิบัติการฝนหลวงกู้ภัยแล้ง พ.ศ.2542 เป็นแบบอย่างในการปฏิบัติการฝนหลวง ให้เป็นไปในกรอบและทิศทางเดียวกัน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้น้อมเกล้าฯ รับพระบรมราโชบายดังกล่าว มากำหนดเป็นนโยบายมาถือปฏิบัติเป็นนโยบายที่มีความสำคัญเป็นอันดับแรก และได้มีการปฏิบัติตามแนวพระบรมราโชบายในระหว่าง พ.ศ.2542-2545 อย่างสัมฤทธิผล
ด้วยพระปรีชาสามารถ การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีฝนหลวง ได้ดำเนินก้าวหน้าเป็นขั้นตอนตามกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ตามลำดับ และสัมฤทธิผลตามข้อสมมติฐานที่หวังผล อย่างแน่นอนชัดเจนและมีทิศทางจนปี พ.ศ.2530 จึงได้มีการทำแผนพัฒนาฝนหลวง พ.ศ.2531-2535เป็นครั้งแรกที่พอจะเรียกว่าเป็นโครงการพระราชดำริฝนหลวงได้ แต่เป็นแผนพัฒนาที่มีกำหนดเวลาสิ้นสุด หลังจาก พ.ศ.2535 เป็นต้นมา ไม่มีการทำแผนพัฒนาฝนหลวงต่อเนื่องในระยะต่อมา
อย่างไรก็ดี ในการดำเนินการ ตามแผนพัฒนาฝนหลวง พ.ศ.2531-2535 มีการจัดตั้งโครงการวิจัยทรัพยากรบรรยากาศประยุกต์ (Applied Atmospheric Resources Research Project) ร่วมกับนักวิทยาศาสตร์ของสหรัฐอเมริกา ได้มีการร่วมกันประมวลพัฒนาการของฝนหลวงขึ้นมา (Assessment on the Royal Rainmaking in the Kingdom of Thailand) โครงการวิจัยทรัพยากรบรรยากาศประยุกต์นับเป็นกิจกรรมที่มีแผนงานวิจัยและพัฒนาในรูปโครงการที่มีกำหนดเวลาเป็น 2 ระยะต่อเนื่องกัน
ระยะที่ 1 ระหว่าง พ.ศ.2531 – พ.ศ.2537 และระยะที่ 2 ระหว่าง พ.ศ.2538– พ.ศ.2542 แต่เมื่อสิ้นสุดโครงการฯ และมีผลยืนยันทางสถิติในระดับหนึ่งแล้ว ไม่มีการทำโครงการอย่างต่อเนื่องในระยะต่อไปเช่นกันฉะนั้นโครงการลักษณะแม่บทจึงขาดหายไปเป็นช่วงๆ
แต่นับว่าโชคดีที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้ทรงพระกรุณาวางรูปแบบการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีไว้อย่างเป็นขั้นตอนตามกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ รวมทั้ง การปฏิบัติการหวังผลอย่างมีเป้าหมายที่ชัดเจน โครงการพระราชดำริจึงได้พัฒนาก้าวหน้ามาถึงระดับนี้ในปัจจุบัน
อีกทั้งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ยังได้จัดทำ “โครงการพระราชดำริฝนหลวงเฉลิมพระเกียรติ” ขึ้น เพื่อให้เป็นแม่บทหลักที่ถาวรในการถือปฏิบัติให้อยู่ในกรอบพระบรมราโชบายไปในทิศทางเดียวกัน นอกจากเพื่อเฉลิมพระเกียรติในวาระอันเป็นมหามงคลยิ่งและสำนึกในพระกรุณาธิคุณล้นพ้นแล้ว ยังเพื่อให้โครงการพระราชดำริฝนหลวง พัฒนาก้าวหน้าสัมฤทธิผลตามพระบรมราโชบาย พระราชประสงค์ และพระราชปณิธานอย่างมั่นคงสถาพรสืบไปชั่วกาลนาน
ความสำคัญของโครงการฝนหลวง
ในระยะเริ่มแรกของการบุกเบิกโครงการพระราชดำริฝนหลวง พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงบริหารโครงการด้วยพระองค์เองอย่างใกล้ชิด โดยทรงตั้งศูนย์อำนวยการ ซื่งต่อมาเรียกว่า ศูนย์อำนวยการปฏิบัติการฝนหลวงพิเศษขึ้น ณ อาคารสถานีวิทยุ อ.ส.พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เพื่อทรงใช้เป็นศูนย์บัญชาการถ่ายทอดพระราชกระแส และข้อแนะนำทางเทคนิคพระราชทานในการวิจัยค้นคว้าทดลอง และพัฒนากรรมวิธีการทำฝนหลวง
รวมทั้งทรงบัญชาการปฏิบัติการฝนหลวงพิเศษด้วยพระองค์เองเป็นครั้งคราว ทั้งโดยตรงหรือผ่านข่ายวิทยุตำรวจ ข่ายโทรพิมพ์ส่วน พระองค์ ข้าราชการสำนักที่โปรดเกล้าฯ ให้มีส่วนร่วม เช่น องคมนตรี ราชเลขาธิการสมุหราชองครักษ์ ศ.ร.ภ. สำนักพระราชวัง เป็นต้น ทรงระดมบุคลากรทั้งที่เป็นข้าราชการสำนักที่มีรหัสเรียกขานว่า ศุภราช ซึ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง (ส่วนใหญ่เป็นข้าราชการที่เกษียณอายุแล้ว เช่น องคมนตรีบางท่าน อดีตอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา อธิบดีกรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ เป็นต้น)
สำหรับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ม.ร.ว.เทพฤทธิ์ เทวกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านเกษตรวิศวกรรม (ในขณะนั้น) และนักวิชาการฝนหลวงรุ่นแรกบางนายเข้าไปร่วมและต่อเนื่องมาจนผ่านพ้นช่วงการวิจัย จนถึงการทดลองปฏิบัติการพัฒนากรรมวิธี และการปฏิบัติการกู้หรือขจัดภัยแล้งอย่างหวังผลมาจนถึงปัจจุบัน
หลังจากการก่อตั้งสำนักงานปฏิบัติการฝนหลวง เป็นหน่วยราชการถาวรขึ้น ในสำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตั้งแต่ พ.ศ. 2517 เป็นต้นมา ในฐานะองค์กรรองรับการปฏิบัติการตามโครงการพระราชดำริฝนหลวงโดยตรง ได้มีการจัดตั้งคณะปฏิบัติการฝนหลวงเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ จึงทรงว่างเว้นพระราชกรณียกิจด้านการวิจัยและพัฒนาลงบ้าง แต่ยังทรงพัฒนาเทคนิคและเทคโนโลยีฝนหลวงและทรงติดตามผลปฏิบัติการ
โดยโปรดเกล้าฯ ให้คณะปฏิบัติการฝนหลวงแต่ละคณะ ถวายรายงานการปฏิบัติการอย่างสม่ำเสมอมาจนถึงปัจจุบัน และยังคงพระราชทานข้อแนะนำทางเทคนิค เพื่อพัฒนาขั้นตอนการปฏิบัติการตามเทคโนโลยีให้มีศักยภาพและประสิทธิภาพยิ่งขึ้น รวมทั้งโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งคณะปฏิบัติการฝนหลวงพิเศษที่ทรงมีส่วนร่วมและบัญชาการอย่างใกล้ชิดเป็นครั้งคราวตลอดมา
นอกจากนั้นยังโปรดเกล้าฯ ให้ ฯพณฯ องคมนตรีบางท่าน เช่น ฯพณฯ องคมนตรี พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ จักรพันธ์ มาตรวจเยี่ยมสำนักงานและคณะปฏิบัติการฝนหลวงอยู่เนืองๆ เพื่อพระราชทานขวัญและกำลังใจและแสดงถึงพระมหากรุณาธิคุณว่ามิได้ทอดทิ้ง แต่ทรงมีพระราชกรณียกิจอื่นอีกมากมาย ศูนย์อำนวยการปฏิบัติการฝนหลวงพิเศษจึงยังคงมีอยู่ถึงปัจจุบัน
ดังจะเห็นได้ว่าทรงมีพระราชกระแสถึงศูนย์อำนวยการปฏิบัติการฝนหลวงพิเศษ และคณะปฏิบัติการฝนหลวงเคลื่อนที่เร็วติดตามพระองค์ เมื่อครั้งที่ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา) นำคณะข้าราชการในสังกัดและคณะบุคลากรของคณะปฏิบัติการฝนหลวงพิเศษกู้ภัยแล้ง พ.ศ.2542เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2542
ในระยะเริ่มแรกของการบุกเบิกโครงการพระราชดำริฝนหลวง พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ใช้สนามบินบ่อฝ้าย อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นฐานปฏิบัติการเริ่มแรกในการวิจัย ทดลองค้นคว้าและพัฒนากรรมวิธีปฏิบัติการฝนหลวงตั้งแต่ พ.ศ.2512 เป็นต้นมา และเสด็จพระราชดำเนินมาทรงงานประกอบพระราชกรณียกิจดังกล่าวด้วยพระองค์เองบ่อยครั้ง
ทั้งระหว่างที่ทรงแปรพระราชฐานมาประทับ ณ พระราชวังไกลกังวล หรือประทับ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน กรมการบินพาณิชย์ ได้จัดอาคารท่าอากาศยานในขณะนั้นให้เป็นสถานที่ทรงงาน จนเรียกกันติดปากว่า “ศาลาที่ประทับ” ตั้งแต่นั้นมา แม้ในระยะหลังๆ เมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้คณะปฏิบัติการฝนหลวงมาปฏิบัติการในพื้นที่นี้ ทั้งปฏิบัติการปกติและปฏิบัติการฝนหลวงพิเศษตามพระราชประสงค์
ในครั้งล่าสุดที่เสด็จพระราช ดำเนินมาทรงตรวจเยี่ยมศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงพิเศษและคณะปฏิบัติการฝนหลวงพิเศษเคลื่อนที่เร็วติดตามพระองค์ ทรงบรรยายและสาธิตการทำฝนหลวงแก่นักเรียนโรงเรียนวังไกลกังวลในรายการศึกษาทัศน์ของมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ.2544กรมการบินพาณิชย์ และท่าอากาศยานหัวหินยังคงจัดให้ ศาลาที่ประทับเป็นที่ทำการหรือฐานปฏิบัติการเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
จนนับได้ว่าสถานที่นี้มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของโครงการพระราชดำริฝนหลวงจนถึง พ.ศ.2542ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งคณะปฏิบัติการฝนหลวงพิเศษกู้ภัยแล้ง พ.ศ.2542ณ สนามบินนครสวรรค์และสนามบินพิษณุโลก ในภารกิจนื้ทรงพระกรุณาพระราชทานพระบรมราโชบาย ข้อแนะนำทางเทคนิค และตำราฝนหลวงพระราชทาน หลังจากสิ้นสุดปฏิบัติการกู้ภัยแล้งแล้ว โปรดเกล้าฯ ให้ปฏิบัติการฝนหลวงปกติในฤดูฝนต่อไปอย่างต่อเนื่อง
เมื่อพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงแปรพระราชฐานมาประทับ ณ พระราชวังไกลกังวล อำเภอหัวหิน ตั้งแต่ต้นฤดูฝน พ.ศ.2542 เรื่อยมาจนถึงทุกวันนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงจัดส่งคณะปฏิบัติการฝนหลวงเคลื่อนที่เร็วติดตามพระองค์ มาปฏิบัติการตาม พระบรมราโชบาย ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2542 และปีต่อๆ มา
กระทั่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้หารือกับผู้อำนวยการกองงานส่วนพระองค์ มีความเห็นร่วมกันว่า สมควรที่จะสืบทอดเจตนารมณ์ของศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงพิเศษที่ทรงจัดตั้งขึ้น โดยจัดตั้งเป็น ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงพิเศษ ณ ศาลาที่ประทับ ท่าอากาศยานหัวหิน และได้มีการกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้สถานที่นี้เป็นที่ตั้งศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงพิเศษ และฐานปฏิบัติการฝนหลวงเคลื่อนที่เร็วติดตามพระองค์ไว้แล้ว เมื่อครั้งที่เสด็จพระราชดำเนินมาทรงประกอบพระราชกรณียกิจ ในปี พ.ศ.2544
ด้วยพระปรีชาสามารถ ที่ทรงคิดค้น และพระราชทานเทคโนโลยีฝนหลวงให้ เป็นมาตรการในการแก้ไขปัญหาทุกข์ยากของราษฏรให้รอดพ้นจากภัยพิบัติเนื่องจากภัยแล้ง และการขาดแคลนทรัพยากรน้ำของชาติโดยรวมได้อย่างสัมฤทธิผลเป็นประจักษ์
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เสนอให้คณะรัฐมนตรีในรัฐบาลปัจจุบัน มีมติเฉลิม พระเกียรติในฐานะ “พระบิดาแห่งฝนหลวง” และกำหนดให้วันที่ 14 พฤศจิกายน เป็น “วันพระบิดาแห่งฝนหลวง” แล้ว ตั้งแต่วันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ.2545 จึงเห็นควรพัฒนาศูนย์นี้ขึ้นเป็น ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงพิเศษเฉลิมพระเกียรติ เพื่อให้เป็นกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติหนึ่งในหลายกิจกรรม ให้มีศักยภาพพร้อมที่จะสนองพระราชประสงค์ได้อย่างสมพระเกียรติสืบไป
วิธีการทำฝนหลวง
การทำฝนหลวง เป็นกรรมวิธีการเหนี่ยวนำน้ำจากฟ้า ซึ่งต้องใช้เครื่องบินที่มีอัตราการบรรทุกมาก ๆ บรรจุสารเคมีขึ้นไปโปรยในท้องฟ้า โดยดูจากความชื้นของจำนวนเมฆ และสภาพของทิศทางลมประกอบกัน ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดฝน คือ ความร้อนชื้นปะทะความเย็น และมีแกนกลั่นตัวที่มีประสิทธิภาพในปริมาณที่เหมาะสม
นั่นคือ เมื่อมวลอากาศร้อนชื้นที่ระดับพื้นผิวขึ้นสู่อากาศเบื้องบน อุณหภูมิของมวลอากาศจะลดต่ำลงจนถึงความสูงที่ระดับหนึ่ง อุณหภูมิที่ลดต่ำลงนั้นมากพอจะทำให้ไอน้ำในมวลอากาศอิ่มตัว จนเกิดกระบวนการกลั่นตัวเองของไอน้ำขึ้นบนแกนกลั่นตัวจนกลายเป็นฝนตกลงมา
ฉะนั้นสารเคมีดังกล่าวจึงประกอบด้วยสูตรร้อน เพื่อใช้กระตุ้นกลไกการหมุนเวียนของบรรยากาศสูตรเย็น ใช้เพื่อกระตุ้นกลไกการรวมตัวของละอองเมฆให้โตขึ้นเป็นเม็ดฝน และสูตรที่ใช้เป็นแกนดูดซับความชื้น เพื่อกระตุ้นกลไกระบบการกลั่นตัวให้มีประสิทธิภาพที่สูงขึ้น มีขั้นตอนดังนี้
ขั้นตอนที่หนึ่ง : ก่อกวน
การก่อกวน เป็นขั้นตอนที่เมฆธรรมชาติเริ่มก่อตัวทางแนวตั้ง การปฏิบัติการฝนหลวงในขั้นตอนนี้ จะมุ่งใช้สารเคมีไปกระตุ้นให้มวลอากาศเกิดการลอยตัวขึ้นสู่เบื้องบน เพื่อให้เกิดกระบวนการชักนำไอน้ำหรือความชื้นเข้าสู่ระบบการเกิดเมฆ ระยะเวลาที่จะปฏิบัติการในขั้นตอนนี้ไม่ควรเกิน10.00 น. ของแต่ละวัน โดยการใช้สารเคมีที่สามารถดูดซับไอน้ำจากมวลอากาศได้
แม้จะมีเปอร์เซ็นต์ความชื้นสัมพัทธ์ต่ำ เพื่อกระตุ้นกลไกของกระบวนการกลั่นตัวไอน้ำในมวลอากาศทางด้านเหนือลมของพื้นที่เป้าหมาย เมื่อเมฆเริ่มเกิดมีการก่อตัวและเจริญเติบโตในแนวตั้ง จึงใช้สารเคมีที่ให้ปฏิกิริยาคายความร้อน โปรยเป็นวงกลม หรือเป็นแนวถัดมาทางใต้ลมเป็นระยะทางสั้น ๆ เข้าสู่ก้อนเมฆ เพื่อกระตุ้นให้เกิดกลุ่มแกนร่วมในบริเวณปฏิบัติการสำหรับใช้เป็นศูนย์กลางที่จะสร้างกลุ่มเมฆฝนในขั้นตอนต่อไป
ขั้นตอนที่สอง : เลี้ยงให้อ้วน
การเลี้ยงให้อ้วน เป็นขั้นตอนที่เมฆกำลังก่อตัวเจริญเติบโต ซึ่งเป็นระยะที่สำคัญมากในการปฏิบัติการฝนหลวง เพราะจะต้องไปเพิ่มพลังงานให้กับการลอยตัวของก้อนเมฆให้ยาวนานออกไป โดยต้องใช้เทคโนโลยีและประสบการณ์ หรือศิลปะแห่งการทำฝนควบคู่ไปพร้อม ๆ กัน เพื่อตัดสินใจโปรยสารเคมีฝนหลวงชนิดใด ณ ที่ใดของกลุ่มก้อนเมฆ และในอัตราใดจึงเหมาะสม เพราะต้องให้กระบวนการเกิดละอองเมฆสมดุลกับการลอยตัวของเมฆ มิฉะนั้นจะทำให้เมฆสลาย
ขั้นตอนที่สาม : โจมตี
การโจมตี ถือเป็นขั้นตอนสุดท้ายของกรรมวิธีปฏิบัติการฝนหลวง โดยเมฆ หรือกลุ่มเมฆฝน ต้องมีความหนาแน่นมากพอที่จะสามารถตกเป็นฝนได้ ภายในกลุ่มเมฆจะมีเม็ดน้ำขนาดใหญ่มากมาย หากเครื่องบินบินเข้าไปในกลุ่มเมฆฝนนี้ จะมีเม็ดน้ำเกาะตามปีกและกระจังหน้าของเครื่องบิน ซึ่งจะต้องปฏิบัติการเพื่อลดความรุนแรงในการลอยตัวของก้อนเมฆ หรือทำให้อายุการลอยตัวนั้นหมดไป สำหรับการปฏิบัติการในขั้นตอนนี้ จะต้องพิจารณาจุดมุ่งหมายของการทำฝนหลวง ซึ่งมีอยู่ 2 ประเด็น คือ เพื่อเพิ่มปริมาณฝนตก และเพื่อให้เกิดการกระจายการตกของฝน
ด้วยความสำคัญ และปริมาณความต้องการให้มีปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือทวีจำนวนมากขึ้น ฉะนั้นเพื่อให้งานปฏิบัติการฝนหลวงสามารถปฏิบัติการช่วยเหลือเกษตรกรได้กว้างขวางและได้ผลดียิ่งขึ้น รัฐบาลจึงได้ตราพระราชกฤษฎีกาก่อตั้ง สำนักงานปฏิบัติการฝนหลวง ในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เมื่อวันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2518เพื่อเป็นหน่วยงานรองรับโครงการพระราชดำริฝนหลวงต่อไป กระทั่งมีการปรับปรุงและพัฒนาปฏิบัติการฝนหลวงมาจนถึงปัจจุบัน