กรมพัฒนาชุมชน ได้จัดทำโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าและเครื่องแต่งกาย ให้เป็น Premium OTOP และได้รวบรวมข้อมูล เนื้อหาและผลงานภูมิปัญญาพื้นถิ่น
มาไว้ในหนังสือดอนกอยโมเดล ฉบับสมบูรณ์ 2 ภาษา (ไทย-อังกฤษ) และฉบับดิจิทัล ตามแนวทางของโครงการ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก”
เนื้อหาในหนังสือดอนกอยโมเดล มีข้อมูลการพัฒนาหมู่บ้านทอผ้าย้อมครามและย้อมสีธรรมชาติ โดยนำรูปแบบของการพัฒนาคุณภาพการย้อมผ้า ทอผ้า รวมทั้งการพัฒนา Branding และ Storytelling มาเพิ่มมูลค่าให้แก่สินค้าในระยะยาว
เพื่อให้ชุมชนมีรายได้และช่วยเหลือตนเองได้อย่างยั่งยืน ตามวัตถุประสงค์ของแนวพระดำริโครงการ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ที่ได้พระราชทานไว้
รวมถึงเนื้อหาตั้งแต่อารยธรรมและความเป็นมาเกี่ยวกับการใช้สอยครามในทวีปต่างๆ ทั่วโลก และพันธุ์พืชที่ให้สีคราม ที่ทั่วโลกใช้กันแพร่หลาย ความเป็นมาของการใช้ครามย้อมผ้าในจังหวัดสกลนครของไทย ผ่านการอพยพ ย้ายถิ่นฐานของกลุ่มชาติพันธุ์ ที่เข้ามายังภาคอีสานในช่วงต้นยุครัตนโกสินทร์
ก่อนจะกล่าวถึงประวัติการตั้งและการขยายหมู่บ้านดอนกอย อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร วิถีชีวิตของ 4 กลุ่มชุมชนที่เข้าร่วมกิจกรรมโครงการดอนกอยโมเดล
หนังสือดอนกอยโมเดลยังนำระบบการตลาดออนไลน์ เข้ามาประกอบการขายผ่านการสแกนคิวอาร์โค้ดของสินค้าในเล่ม ทำให้ผู้ซื้อสามารถเข้าถึงผู้ขายและผลิตภัณฑ์ได้โดยตรง
หน้า 16 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,737 วันที่ 5 - 8 ธันวาคม พ.ศ. 2564