อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา “วุฒิไกร ลีวีระพันธุ์” กล่าวว่า แม้จะเป็นช่วงสั้นๆ ในเอ็มวี เพลง LALISA จากยอดผู้เข้าชมมากกว่า 200 ล้านครั้งบนยูทูป แต่ความวิจิตร และคุณภาพของผ้าไหมไทย “ผ้าไหมยกดอกลำพูน ลายพานจักรพรรดิยกทอง” ก็ได้รับการกล่าวขานไปไกล เป็นที่ยอมรับในเวทีสากลอย่างต่อเนื่อง
ไม่ว่าจะเป็นสมาคมแชมเปญประเทศฝรั่งเศส ที่สั่งผลิตผ้าไหมไทยไปใช้เป็นของที่ระลึก ได้รับการจดทะเบียนในประเทศอินโดนีเซีย และประเทศอินเดีย ปัจจุบันสามารถสร้างมูลค่ากว่า 37 ล้านบาทต่อปี ให้แก่ชุมชนชาวลำพูน
นั่นคือการตอกย้ำคุณภาพของสินค้า GI (สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์: Geographical Indications หรือ GI) อันเป็นทรัพย์สินทางปัญญาท้องถิ่นของไทย ที่สามารถหาได้จากสินค้าที่มีชื่อเสียงทุกจังหวัดในภูมิภาคต่างๆ ของประเทศไทย
กรมทรัพย์สินทางปัญญากำลังนำมาเคสแห่งความสำเร็จนี้มาต่อยอด เพื่อผลักดันสินค้า GI อื่นๆ ให้เติบโตสู่ตลาดโลก โดยส่วนหนึ่งของกลไกการผลักดันสินค้า GI ก็คือ การยกขบวนสินค้า GI กว่า 50 ร้านค้าจากทั่วประเทศ มาให้เลือกช้อป ทั้งช่องทางออนไลน์ และการออกบูธ ในงาน “GI Fest” ระหว่างวันที่ 22 - 25 พฤศจิกายน 2564 ที่ลานอเนกประสงค์ ชั้น 3 กระทรวงพาณิชย์
สำหรับ “ผ้าไหมยกดอกลำพูน ลายพานจักรพรรดิยกทอง” เป็นสิ่งที่ชาวลำพูนสืบต่อกันมาจากราชสำนัก จนเป็นจิตวิญญาณของชาวลำพูนถึงทุกวันนี้ โดยลายพานจักรพรรดิยกทองบน เป็นหนึ่งในลวดลายจากการรวมกลุ่มพัฒนารูปแบบและออกแบบลวดลายผ้า เพื่อเป็นลายส่วนกลางให้แก่ช่างทอในพื้นที่ ส่วนของชุดที่ลิซ่าใส่ เป็นผ้าไหมทองคําทอละเอียดด้วยโลหะจาก จ.ลําพูน ชุดเป็นงานปักด้วยมือประดับด้วยคริสตัล Swarovski ที่เป็นประกาย
ความโดดเด่นของ “ผ้าไหมยกดอกลำพูน” คือการควบคุมมาตรฐานผ้าไหมยกดอกลำพูนที่เน้น 3 ด้านหลัก เริ่มจาก กระบวนการผลิตผ้าที่ทอเสร็จ และการตรวจสอบย้อนกลับ โดยผ้าไหมยกดอกลำพูนที่ผ่านมาตรฐาน จะได้รับการติดตราสัญลักษณ์ GI ไทย สร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าได้ถึง 40-50%
ขณะนี้ ไม่เพียงแค่ภาคเอกชนที่เล็งเห็นถึงคุณค่าของผ้าไหมไทย ภาครัฐทั้งกระทรวงพาณิชย์ และสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) หรือ สศท. ก็ให้ความสำคัญอย่างยิ่ง โดยล่าสุด กระทรวงพาณิชย์ได้ออกมาย้ำ ถึงความสำคัญของผู้สร้างสรรค์งานศิลปหัตถกรรม เพราะเป็นบุคลากรผู้สืบสานและรักษาอัตลักษณ์ รวมถึงภูมิปัญญางานศิลปหัตถกรรมอันทรงคุณค่าให้คงอยู่มาจนถึงปัจจุบัน
ทุกภาคส่วนมองว่า วงการผ้าไหมไทย ยังมีอนาคตที่สดใส และไปได้อีกไกล รวมถึงสินค้า GI อื่นๆ หากทุกฝ่ายร่วมกันพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการและผลิตภัณฑ์ให้เข้าถึงความต้องการลูกค้าอย่างแท้จริง
หน้า 16 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,735 วันที่ 28 พฤศจิกายน - 1 ธันวาคม พ.ศ. 2564