คาร์กิลล์ ผนึก มทส.-ม.บูรพา สร้าง Smart Farming ส่งเสริมเกษตรยั่งยืน

27 ก.พ. 2565 | 05:09 น.
อัปเดตล่าสุด :27 ก.พ. 2565 | 12:13 น.

คาร์กิลล์ ขยายเครือข่าย การช่วยเหลือสังคม ต่อยอดโครงการอาหารกลางวัน สู่โครงการ Smart Farming ผสานความร่วมมือ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี - มหาวิทยาลัยบูรพา นำองค์ความรู้และนวัตกรรม ส่งเสริมเกษตรกรทำนาอย่างยั่งยืน

“สุเกียรติ กิตติธรรมโชติ” ผู้อำนวยการฝ่ายภาพลักษณ์และองค์กรสัมพันธ์ บริษัท คาร์กิลล์ สยาม จำกัด กล่าวว่า ในฐานะที่เป็นองค์กรธุรกิจด้านนวัตกรรมอาหารและเกษตรกรรมของโลก แนวทางความรับผิดชอบต่อสังคมของบริษัทฯ จึงให้ความสำคัญกับเรื่องของ อาหาร เกษตร สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยมองว่า การสร้างสังคมให้เติบโตอย่างสมบูรณ์ ต้องเกิดจากการปลูกฝังองค์ความรู้ให้กับเด็ก โครงการในเบื้องต้น คาร์กิลล์จึงร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) จังหวัดนครราชสีมา หรือโคราช ทำโครงการเกษตรอาหารกลางวันให้โรงเรียนที่ขาดแคลน ต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 4 โดยนำนวัตกรรมและองค์ความรู้จาก มทส. ส่งต่อให้กับครูและนักเรียน 
 

เริ่มต้น คาร์กิลล์เน้นโรงเรียนในจังหวัดนครราชสีมา บริเวณรอบโรงงานคาร์กิลล์ ขณะนี้ได้เพิ่มโรงเรียนในจังหวัดสระบุรี ลพบุรี และบุรีรัมย์ โดยตั้งเป้าไว้ว่าจะทำโครงการสำเร็จได้ 70 โรงเรียนในพื้นที่ภาคอีสาน ภายในปี 2567

ปี 2564 คาร์กิลล์ได้ต่อยอดโครงการเกษตรอาหารกลางวัน ไปสู่โครงการ Smart Farming ส่งเสริมกลุ่มเกษตรกรให้สามารถทำการเกษตรได้อย่างยั่งยืน และขยายความร่วมมือจาก มทส. สู่ มหาวิทยาลัยบูรพา ในการจัดนำองค์ความรู้ นวัตกรรม เช่น โดรน งานวิจัยปลานิลแปลงเพศ งานวิจัยข้าว นวัตกรรมไข่ไก่โอเมก้า มาเพิ่มมูลค่าและพัฒนาผลิตผลให้กับเกษตรกร พร้อมส่งต่อความรู้จากนักเรียนสู่ผู้ปกครอง ทำให้เกิดการเรียนรู้และพัฒนาใช้ สร้างรายได้ และทักษะใหม่ๆ 
 

โครงการ Smart Farming เป็นการส่งเสริมให้เกษตรกรที่อยู่บริเวณโรงงานของคาร์กิลล์ นำน้ำบำบัดจากโรงงานไปใช้ทำการเกษตร รวมถึงอุปกรณ์เทคโนโลยีโดรนเพื่อเพิ่มผลผลิตสูงสุดในไร่ โดยมีตัวแทนจากทั้งสองมหาวิทยาลัยจัดอบรม และให้คำแนะนำเกษตรกรอย่างใกล้ชิด

สำหรับโครงการ Smart Farming มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 20 ครัวเรือน หรือประมาณ 50 คน ในปี 2564 โดยจากผลสำรวจพบว่าเกษตรกรที่เข้าร่วมอบรมมีความรู้ด้านการเกษตรเพิ่มมากขึ้นหลังการอบรมถึง 82% จากเดิม 51% และในปีนี้ ตั้งเป้าเกษตรกรที่จะร่วมอบรมอยู่ที่ 40 ครัวเรือน หรือประมาณ 70 คน โดยใช้แปลงสาธิต 40 ไร่
 

โครงการเกษตรอาหารกลางวัน และโครงการ Smart Farming เป็นส่วนหนึ่งของแนวทางการช่วยเหลือสังคมในพื้ที่ภาคอีสานเป็นหลัก ส่วนความช่วยเหลือชุมชนในพื้นที่รอบโรงงานอีก 6 แห่ง ได้แก่ สระบุรี นครปฐม พิษณุโลก ปราจีนบุรี เพชรบุรี ฉะเชิงเทรา มีการพัฒนาและจัดทำโครงการที่เหมาะสมในแต่ละพื้นที่ 


หน้า 18 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจปีที่ 42 ฉบับที่ 3,760 วันที่ 24 - 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565