จากเป้าหมายการดำเนินธุรกิจภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน ที่กลายมาเป็นวัฒนธรรมสร้างความยั่งยืนให้แก่องค์กร “จรีพร จารุกรสกุล” ประธานคณะกรรมการบริษัท และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป จึงได้ริเริ่มโครงการ WeCYCLE นำเส้นใยผักตบชวาจากโครงการบำบัดน้ำเสียแบบบึงประดิษฐ์ของดับบลิวเอชเอ และกิจกรรม “ขอ ขวด ของเธอ”
รณรงค์ให้พนักงานของบริษัทฯ และผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมของดับบลิวเอชเอ นำขวดพลาสติก PET ที่ใช้แล้ว เข้าสู่กระบวนการ Upcycling โดยการร่วมมือกับบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC เพื่อผลิตเป็นกระเป๋านักเรียน กระเช้าของขวัญ (Hamper) และกระเป๋าใส่แล็ปท็อป (Laptop Bag)
การ Upcycling มาจากคำว่า Upgrade ที่หมายถึงการทำให้ดีขึ้นหรือพัฒนาให้ดีขึ้น รวมกับคำว่า Recycling/Cycle ที่หมายถึง การนำวัสดุที่ไม่ใช้แล้วมาผ่านกระบวนการต่างๆ เพื่อกลับเข้าสู่วงจรการใช้อีกครั้ง ซึ่งรวมหมายถึง การนำวัสดุที่ไม่ใช้แล้วหรือของที่จะถูกทิ้งเป็นขยะมาแปลงให้เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีคุณภาพที่ดีขึ้น
การ Upcycling ถือเป็นกระบวนการที่กำลังเป็นหนึ่งในกระแสรักษ์โลก ที่ทำให้คนเราสามารถนำขยะหรือของเหลือใช้กลับมาสร้างเป็นของมีค่าใช้งานได้ใหม่ ตามหลักแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน
ในส่วนของกระบวนการ Upcycling ทางดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป ได้นำผักตบชวาจากโครงการบำบัดน้ำเสียแบบบึงประดิษฐ์ โดยเลือกเฉพาะก้านสดมาครูดและตากแห้งจนได้เป็นเส้นใยผักตบชวา จากนั้นนำมาปั่นรวมกันกับเส้นใยโพลีเอสเตอร์รีไซเคิล ซึ่งได้จากการนำขวดพลาสติก PET เข้าสู่กระบวนการแปรรูป จนได้เป็นเส้นด้าย และนำไปทอเป็นผืนผ้า เพื่อนำมาตัดเย็บเป็นกระเป๋านักเรียน กระเช้าของขวัญ และกระเป๋าใส่แล็ปท็อป ซึ่งทางดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป ได้ส่งมอบกระเป๋านักเรียนให้เด็กๆ ในพื้นที่รอบนิคมอุตสาหกรรม กระเช้าของขวัญมอบให้แก่คู่ค้าและลูกค้า
นอกจากนี้ สมาชิกในชุมชนโดยรอบยังได้เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการผลิตเส้นใยผักตบชวา ก่อให้เกิดรายได้ พร้อมช่วยรักษาระบบนิเวศให้สมบูรณ์อย่างยั่งยืน
การร่วมมือระหว่าง ดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป และ GC ในโครงการ WeCYCLE นอกจากเป็นการรณรงค์ให้พนักงานและลูกค้าของดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป คัดแยกและนำพลาสติกใช้แล้วไปจัดการอย่างถูกต้องและเหมาะสม โดยให้นำขวดมาใส่ในได้ตู้ YOU เทิร์น ที่ตั้งรับในอาคารดับบลิวเอชเอ ทาวเวอร์ (สำนักงานใหญ่) เขตบางนา และในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมของดับบลิวเอชเออีก 8 จุด นอกจากนี้ ยังได้ถ่ายทอดองค์ความรู้เรื่องการคัดแยกขยะให้แก่โรงเรียนและชุมชนโดยรอบนิคมอุตสาหกรรมอีกด้วย
นอกจากนี้ ดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป ยังเตรียมเปิดศูนย์การเรียนรู้ Clean Water for Planet Learning Center ขึ้น เพื่อแบ่งปันความรู้ ความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับโซลูชันการอนุรักษ์น้ำอย่างยั่งยืน นอกเหนือจากความช่วยเหลือในการส่งมอบระบบบำบัดน้ำเสียให้กับชุมชนต่างๆ
และยังได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในโครงการบริหารจัดการน้ำเสียและวิศวกรรมการบำบัดน้ำเสีย เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ สนับสนุนการพัฒนาและฝึกอบรมวิศวกร โดยเน้นการนำความรู้ความเข้าใจทางวิชาการในชั้นเรียนมาประยุกต์ใช้กับการปฏิบัติงานในสถานที่จริงภายในนิคมอุตสาหกรรม และชุมชนโดยรอบนิคมฯ ด้วยความตั้งใจที่จะช่วยผลักดันและสนับสนุนให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ของสหประชาชาติ
หน้า 18 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,802 วันที่ 21 - 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2565