นาโนเทค สวทช. เติมนวัตกรรม น้ำมันงาขี้ม้อน ส่งต่อเอกชนบุกตลาดเพื่อสุขภาพ

03 ส.ค. 2565 | 12:17 น.
อัปเดตล่าสุด :03 ส.ค. 2565 | 19:59 น.

นักวิจัยนาโนเทค สวทช. พัฒนาระบบนำส่งสารสำคัญของน้ำมันเมล็ดงาม้อน สู่สูตรตำรับอิมัลชัน จับมือเอกชนผสานความเชี่ยวชาญสู่ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสุขภาพ รับเทรนด์สุขภาพ สร้างความแตกต่างจากคู่แข่งด้วยงานวิจัย ตั้งเป้ายอดขาย 1 ล้านยูนิตในปี 66 พร้อมขยายตลาดลาวนำร่องสู่ CLMV

ดร.กิตติวุฒิ เกษมวงศ์ หัวหน้าทีมวิจัยกระบวนการระดับนาโนเพื่ออุตสาหกรรมเกษตร ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า ได้ร่วมมือกับบริษัท เจอาร์ แลบโบราทอรี่ จำกัด นำนวัตกรรมงานวิจัยพัฒนาตำรับนาโนอิมัลชั่นของน้ำมันเมล็ดคามิเลีย ไปสู่การใช้ประโยชน์จริง และมีการสื่อสารทางการตลาด เพื่อนำนวัตกรรมนี้ไปถึงมือผู้ใช้

นาโนเทค สวทช. เติมนวัตกรรม น้ำมันงาขี้ม้อน ส่งต่อเอกชนบุกตลาดเพื่อสุขภาพ

ความร่วมมือนี้ เริ่มต้นมาจากงานวิจัยพัฒนาตำรับนาโนอิมัลชั่นของน้ำมันเมล็ดคามิเลีย โดยความร่วมมือกับ ศูนย์วิจัยและพัฒนาชาน้ำมันและพืชน้ำมัน มูลนิธิชัยพัฒนา ซึ่งภายหลังได้รับทุนวิจัยจากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. ซึ่งเทคโนโลยีดังกล่าว ก็นำมาต่อยอดประยุกต์ใช้กับน้ำมันเมล็ดงาขี้ม้อนในที่สุด

 

 

“ทีมวิจัยนาโนเทคเริ่มจากพัฒนาระบบนำส่งสารสำคัญ ในรูปแบบของการเตรียมเป็นตำรับนาโนอิมลชัน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดูดซึมและการละลายของสารสำคัญ จากเดิมที่มีการละลายยากและการดูดซึมต่ำ โดยสารออกฤทธิ์และยาที่ละลายน้ำยากจะสามารถกระจายตัวและดูดซับได้ดีบนผนังลำไส้ และถูกดูดซึมผ่านกลไกของการย่อยและการดูดซึมของไขมันในร่างกาย ส่งผลให้มีชีวประสิทธิผลดีขึ้น” ดร.กิตติวุฒิ ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัยกล่าว 
     นาโนเทค สวทช. เติมนวัตกรรม น้ำมันงาขี้ม้อน ส่งต่อเอกชนบุกตลาดเพื่อสุขภาพ

จากนั้น ทีมวิจัยได้ขยายสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสุขภาพน้ำมันงาขี้ม้อนในรูปแบบของแคปซูลนิ่ม ที่ผ่านการตั้งตำรับเป็นนาโนอิมัลชัน ก่อนการบรรจุแคปซูล จะส่งผลให้สารสำคัญต่างๆ ได้แก่ โอเมก้า 3 และวิตามินอี ในน้ำมันงาขี้ม้อน มีโอกาสดูดซึมเข้าสู่ระบบร่างกายได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับการนำน้ำมันงาขี้ม้อนบรรจุแคปซูลโดยตรง

งาม้อนหรืองาขี้ม้อน เป็นพืชที่จัดอยู่ในวงศ์ Lamiaceae มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Perilla frutescens พบในหลายประเทศที่มีอากาศหนาวเย็น เช่น ประเทศแถบยุโรป สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น จีน เกาหลี รวมถึงประเทศไทยโดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือ เช่น เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน แพร่ น่าน เป็นต้น น้ำมันเมล็ดงาม้อนอุดมไปด้วยกรดไขมันไม่อิ่มตัวหลายชนิด ได้แก่ กรดไลโนเลนิก (โอเมก้า 3) 55-60% กรดไลโนเลอิก (โอเมก้า 6) 18-22% และกรดโอเลอิก (โอเมก้า 9) 0.08-0.17% ซึ่งมีส่วนในการบำรุงระบบประสาทและสมอง ช่วยป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจ นอกจากนั้น ยังพบสารสำคัญในกลุ่มโพลีฟีนอลที่สำคัญหลายชนิด โดยเฉพาะกรดโรสมารินิก (rosmarinic acid) และสารลูทีโอลิน (luteolin) ที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งสามารถลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งได้

นาโนเทค สวทช. เติมนวัตกรรม น้ำมันงาขี้ม้อน ส่งต่อเอกชนบุกตลาดเพื่อสุขภาพ

จุดเด่นของเทคโนโลยีนี้คือ สูตรตำรับอิมัลชันของน้ำมันเมล็ดงาม้อนที่พัฒนาขึ้นมีความเสถียรสูง หยดน้ำมันมีขนาดอนุภาคเล็ก (ประมาณ 200 นาโนเมตร) และผลิตภัณฑ์อยู่ในรูปแบบของแคปซูลนิ่มพร้อมบริโภคนี้ มีประสิทธิภาพสูงในด้านการดูดซึมและการนำส่งสารสำคัญไปยังลำไส้เล็กของมนุษย์ 
    

ปัจจุบัน งานวิจัยนี้ ได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับบริษัท เจอาร์ แลบโบราทอรี่ จำกัด เรียบร้อยแล้ว โดยดร.กิตติวุฒิชี้ว่า ในเชิงเทคโนโลยี นาโนเทคเองถือว่ามีความเชี่ยวชาญอย่างมาก แต่การจะนำนวัตกรรมไปสู่การใช้ประโยชน์จริง ต้องการพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญด้านการตลาด เพื่อที่จะสื่อสารและนำนวัตกรรมนี้ไปถึงมือผู้ใช้

ภัสธารีย์ เรืองชัยพัฒนะ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เจอาร์ แลบโบราทอรี่ จำกัด


น.ส.ภัสธารีย์ เรืองชัยพัฒนะ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เจอาร์ แลบโบราทอรี่ จำกัด กล่าวว่า เดิม บริษัทฯ ทำธุรกิจรับจ้างผลิต (OEM) กลุ่มผลิตภัณฑ์เสริมอาหารอยู่แล้ว และมีความเชี่ยวชาญด้านการผลิตแคปซูลนิ่ม (softgel) จึงต้องการที่จะสร้างรากฐานที่มั่นคงให้กับธุรกิจ โดยสร้างแบรนด์ของตนเองด้วยผลิตภัณฑ์ที่มีนวัตกรรมเป็นสินค้านำร่อง และได้รับการแนะนำให้รู้จักกับ นาโนเทค สวทช. ซึ่งมีนวัตกรรมต้นแบบเป็นน้ำมันเมล็ดงาม้อนในรูปแบบของแคปซูลนิ่ม จึงติดต่อพูดคุยและรับถ่ายทอดเทคโนโลยีนี้ในที่สุด 

นาโนเทค สวทช. เติมนวัตกรรม น้ำมันงาขี้ม้อน ส่งต่อเอกชนบุกตลาดเพื่อสุขภาพ
น้ำมันเมล็ดงาม้อนในรูปแบบแคปซูลนิ่ม ภายใต้แบรนด์ PEREAL จึงเกิดขึ้น โดยวางกลุ่มเป้าหมายเป็นคนวัยทำงานและผู้สูงอายุ ที่ต้องการการบำรุงสุขภาพ ซึ่ง น.ส.ภัสธารีย์ชี้ว่า การเปิดตลาดในช่วงปลายปี 2564 ที่ต้องเจอวิกฤตโควิด-19 ทำให้การตลาดเปลี่ยนเป็นแบบออนไลน์ 100% โดยมุ่งเน้นใช้สื่อโฆษณาในโซเชียลมีเดียต่างๆ พร้อมกับอินฟลูเอนเซอร์ เพื่อเน้นให้ความรู้ (educate) ถึงคุณประโยชน์ของน้ำมันเมล็ดงาขี้ม้อนกับกลุ่มเป้าหมายก่อน


ในขณะเดียวกัน ตลาดเปิดรับผลิตภัณฑ์นวัตกรรมมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะจากการวิจัยและพัฒนาของคนไทย เนื่องจากพฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนแปลง และการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้ง่ายขึ้น ทำให้การมีผลิตภัณฑ์นวัตกรรมที่มีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์สนับสนุน เป็นโอกาสที่ทำให้ผู้บริโภคเชื่อถือผลิตภัณฑ์มากยิ่งขึ้น


“เรามีคู่แข่งในผลิตภัณฑ์เดียวกันอยู่แม้ไม่มากนักทั้งในไทยและต่างประเทศ แต่สิ่งที่ทำให้เราแตกต่างคือ นวัตกรรมที่มีข้อมูลการวิจัย พัฒนา และทดสอบทางวิทยาศาสตร์มารองรับ ทำให้ในช่วงปีแรกของการสร้างแบรนด์ จะมุ่งเน้นไปที่การให้ความรู้ สร้างแบรนด์และการรับรู้ของแบรนด์ก่อน จากนั้น ในช่วงไตรมาส 3-4 ของปีนี้ก็จะเริ่มทำการตลาดให้มากขึ้น ทั้งออนไลน์ที่ทำอยู่แล้ว และการออกบูทเพื่อให้ผู้บริโภคได้มีประสบการณ์จริงกับผลิตภัณฑ์ ได้ซักถามข้อที่สงสัยหรือสนใจ” ผู้บริหารเจอาร์ แลบโบราทอรี่กล่าว พร้อมเผยว่า ในช่วงปลายปี 2565 นี้ มีแผนขยายสู่ตลาดประเทศเพื่อนบ้านกลุ่ม CLMV นำร่องที่ลาว ผ่านงานแสดงสินค้า 


สำหรับเป้าหมายในระยะสั้นคือ เป้ายอดขาย 1 ล้านยูนิตในปี 2566 ซึ่งภายใน 3-5 ปี เราจะทำให้ยอดขายและตัวแบรนด์เติบโตอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน ด้วยการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมช่วยขับเคลื่อน ผ่านการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ และเป้าหมายของบริษัทคือ การเป็นแบรนด์อันดับหนึ่งที่หากคนคิดถึงน้ำมันเมล็ดงาขี้ม้อนจะนึกถึงเรา และในขณะเดียวกัน ความเชี่ยวชาญด้านการผลิตแคปซูลนิ่ม (softgel) ก็จะต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์อื่นๆ ต่อไป