จากกะแสสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปคนแต่งงาน มีลูกน้อยลงบวกกับสังคมสูงวัยที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วส่งให้เทรนด์ เลี้ยงสัตว์เป็นลูก (Pet Parent) เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ผลสำรวจของวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) เปิดเผยว่าคนไทย 49% นิยมเลี้ยงสัตว์เป็นลูก (Pet Parent)และยอมจ่าย 14,200 บาทเป็นค่าดูแลสัตว์เลี้ยงเฉลี่ยต่อตัวต่อปี
นอกจากน้องหมาและน้องแมวที่เป็นสัตว์เลี้ยงยอดนิยมแล้ว กลุ่มเจเนอเรชั่นวายและกลุ่มคนรุ่นใหม่ยังนิยมเลี้ยงสัตว์ “เอ็กโซติก” (Exotic Pet) หรือสัตว์แปลกตามมาเป็นอันดับ 3 อีกด้วย ทั้งนี้เทรนด์การเลี้ยงสัตว์เอ็กโซติก (Exotic Pet) หรือสัตว์แปลกครอบคลุม 6 ประเภทหลัก ได้แก่
1.กลุ่มสัตว์เลื้อยคลาน เช่น อีกัวน่า กิ้งก่า มังกรเครา งู หรือเต่า
2.กลุ่มสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ เช่น กบลูกศรพิษ กบโกไลแอท กบแคระแอฟริกัน กบนา กบมะเขือเทศมาดากัสการ์ กบแอฟริกันบูลฟร็อก หรือซาลาแมนเดอร์
3.กลุ่มสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง เช่น ด้วง หรือแมงมุมทารันทูล่า
4.กลุ่มสัตว์ปีก เช่น นกคอกคาเทล นกแก้วมาคอร์ นกเหยี่ยว หรือนกยูง
5.กลุ่มปลาแปลก เช่น ปลาปักเป้าฟาฮากา หรือปลาเทพา
6.กลุ่มสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น กระต่าย เฟอเรท แฮมสเตอร์ สุนัขจิ้งจอก แรคคูน แพรีด็อก เมียแคท บุชเบบี้ หรือชูการ์ไกลเดอร์
อย่างไรก็ตามสำหรับผู้ที่สนใจเลี้ยงสัตว์แปลกสักตัวนอกจากความน่ารักต้องตาต้องใจแล้ว ยังจำเป็นต้องพิจราณาให้รอบด้านเพราะสัตว์แปลกบางชนิดมีราคาแพง มีโรคประจำสายพันธุ์และมีความต้องการการดูแลเป็นพิเศษ ที่สำคัญบางชนิดหรือบางสายพันธุ์ได้รับการคุ้มครองดังนั้นควรตรวจสอบข้อมูลสัตว์ที่จะเลี้ยงให้ดีว่าสามารถเลี้ยงได้อย่างถูกกฎหมายหรือไม่ เริ่มจากศึกษาอนุสัญญาไซเตส (CITES) ซึ่งกำหนดชนิดสัตว์ป่าเอาไว้ เป็นบัญชีต่าง ๆ เช่น
บัญชีที่ 1 เป็นสัตว์ชนิดที่ห้ามค้าโดยเด็ดขาด เนื่องจากใกล้จะสูญพันธุ์แล้ว ยกเว้นเพื่อการศึกษาวิจัย และเพาะพันธุ์ เช่น แมวป่าหัวแบน แมวลายหินอ่อน เต่ากระ จระเข้น้ำจืด จระเข้น้ำเค็ม
บัญชีที่ 2 เป็นชนิดที่ยังไม่ถึงกับใกล้จะสูญพันธุ์ อนุญาตให้ค้าได้ แต่ต้องควบคุมไม่ให้เกิดความเสียหาย หรือลดปริมาณลงอย่างรวดเร็ว เช่น แมวป่า นกยูง เหยี่ยวขาว ลิงแสม
บัญชีที่ 3 เป็นชนิดพันธุ์ที่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายของประเทศใดประเทศหนึ่ง แล้วขอความร่วมมือประเทศภาคีให้ช่วยดูแลการนำเข้า เช่น หมาจิ้งจอก งูแมวเซา งูลายสอ ไก่ฟ้าหน้าเขียว เป็นต้น
ขณะเดียวกันยังต้องดูด้วยว่าสัตว์ที่เราอยากเลี้ยงนั้น ผิดกฎหมายไทยหรือไม่ โดยเฉพาะสัตว์ป่าสงวน หรือสัตว์ป่าคุ้มครอง ที่กำหนดข้อห้ามในการล่า หรือมีไว้ในครอบครอง ข้อมูลเหล่านี้สามารถทำการตรวจเช็คกับหน่วยงานที่ดูแลได้โดยตรง นั่นคือ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
เมื่อดูข้อมูลชัดเจนแล้วว่า เป็นสัตว์ที่เลี้ยงได้ไม่ผิดกฎหมาย ขั้นตอนต่อไปคือ การสำรวจความพร้อมของตัวเอง และการจัดเตรียมแหล่งที่อยู่อาศัยที่เหมาะสม และอาหารการกินของสัตว์แปลกนั้น เพื่อให้สามารถเลี้ยงสัตว์ของเราให้มีสุขภาพแข็งแรง เช่นเดียวกับการดูแลสัตว์เหล่านี้ ไม่ให้หลุดออกจากบริเวณเลี้ยง หรือกรง เพราะอาจทำให้เกิดอันตรายได้