สงกรานต์ 2566 ถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ไทย ตรงกับวันที่ 13 - 14 เมษายน 2566 สิ่งที่ผู้คนนิยมทำในวันสงกรานต์นั้น มีทั้งการเดินทางกลับภูมิลำเนา เพื่อกลับไปรดน้ำดำหัว พ่อแม่ ญาติผู้ใหญ่ ญาติพี่น้องได้กลับมารวมตัวกัน ได้พบปะสังสรรค์ ตลอดจนการเข้าวัด ทำบุญ การขนทรายเข้าวัด ก่อเจดีย์ทราย และการละเล่นสาดน้ำตามประเพณี
ซึ่งในปัจจุบัน พบว่า ประเพณีขนทรายเข้าวัด และก่อเจดีย์ทราย เริ่มเลือนหายไปจากวันสงกรานต์ ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนไป วัดได้ดัดแปลงจากพื้นทรายรอบวิหารให้เป็นพื้นคอนกรีต หรืออิฐบล็อกแทน ทำให้ผู้คนไม่ค่อยนิยมขนทรายเข้าวัด และก่อเจดีย์ทรายเช่นในอดีต
ที่มา ประเพณีขนทรายเข้าวัด และก่อเจดีย์ทราย
การขนทรายเข้าวัด เป็นกุศโลบายของทางวัดให้ชาวบ้านนำทรายมาทดแทนทรายที่เสียไปในช่วงเทศกาลปีใหม่ เมื่อชาวบ้านขนทรายเข้ามามากขึ้นจึงมีการสร้างเจดีย์ทราย โดยการนำไม้ไผ่สานมาขดให้เป็นวงกลม แล้วนำทรายมาถมให้เต็มเป็นชั้น ๆ เวียนขึ้นไปจนทรงคล้ายกับเจดีย์ เรียกว่า วาลุกเจดีย์ (อ่านว่า วา – ลุ – กะ เจดีย์) หรือเจดีย์ทราย อาจสร้างเป็นเจดีย์ทรายขนาดเล็กหลายๆ องค์ หรือเจดีย์ทรายองค์ใหญ่องค์เดียวก็ได้ แล้วจึงทำการถวายให้กับวัดในคราวเดียว
การก่อเจดีย์ทราย มีความสัมพันธ์กับศาสนาพุทธ และประเพณีล้านนา โดยการสร้างวัดของคนล้านนาในอดีต เป็นการจำลองโลกตามคติไตรภูมิ คือ วิหารที่ประดิษฐานพระพุทธรูปเปรียบเสมือนเขาสิเนโรบรรพตซึ่งเป็นที่ประทับของพระพุทธเจ้า ล้อมรอบวิหารด้วยทรายขาวสะอาดที่เป็นเสมือนมหาสมุทรสีทันดร ชาวล้านนาจึงมีความเชื่อว่าทุกครั้งที่เหยียบย่างเข้าไปในวัดแล้วมีทรายติดเท้าออกมาด้วยนั้นเป็นบาป
นอกจากนั้น ในคัมภีร์ใบลานธรรมอานิสงส์ปีใหม่ ได้กล่าวว่าผู้ใดได้ถวายทรายหรือขนทรายเข้าวัดแล้วจะได้รับอานิสงส์ผลบุญให้ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ มีอายุยืนนาน พร้อมด้วยทรัพย์สมบัติมากมาย
อานิสงส์ การขนทรายเข้าวัด และก่อเจดีย์ทราย
มีความเชื่อว่า การถวายเจดีย์ทรายจะช่วยให้เกิดมาในตระกูลที่ดี มีรูปสมบัติ ทรัพย์สมบัติ หรือเกิดในภพภูมิที่ดีบนสวรรค์ ตามที่ปรากฏความใน คัมภีร์ชื่อ "ธรรมอานิสงส์เจดีย์ทราย" กล่าวถึงพุทธประวัติตอนหนึ่งว่า ในอดีตชาติของพระพุทธเจ้าโคตมะนั้น พระองค์ได้เกิดเป็นชายคนหนึ่งนามว่าติสสะ เมื่อนายติสสะพบลำธารที่มีทรายสีขาวสะอาดจึงก่อเจดีย์ทรายขึ้น แล้วฉีกเสื้อของตนมาทำเป็นธงติดกับไม้ปักไว้บนยอดเจดีย์ และตั้งจิตอธิษฐานให้ตนได้เกิดมาเป็นพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง
กุศโลบาย การขนทรายเข้าวัด และก่อเจดีย์ทราย