“เขาสันหนอกวัว” อุทยานแห่งชาติเขาแหลม เปิดรับนักท่องเที่ยว ตุลาคม 2566

23 ก.ย. 2566 | 00:46 น.

รับสายเดินป่า “เขาสันหนอกวัว” อุทยานแห่งชาติเขาแหลม ประกาศเปิดต้อนรับนักท่องเที่ยว เริ่ม ตุลาคม 2566 นี้ เช็ครายละเอียดวันเวลาการเปิดท่องเที่ยว ขั้นตอนการจอง การเตรียมตัว รวมไว้ที่นี่ครบ

เขาสันหนอกวัว” เป็นยอดเขาที่สูงที่สุดภายในเขตอุทยานแห่งชาติเขาแหลม อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี แหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงอีกแห่งหนึ่งสำหรับนักท่องเที่ยวผู้ชื่นชอบการเปิดประสบการณ์การเดินทางสัมผัสและศึกษาธรรมชาติ ผ่านเส้นทางศึกษาธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ เตรียมเปิดต้อนรับอีกครั้งในปี 2566 

รู้จัก “เขาสันหนอกวัว” อุทยานแห่งชาติเขาแหลม

อุทยานแห่งชาติเขาแหลม มีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สวยงามโดดเด่น เป็นที่สนใจของนักท่องเที่ยวหลายแห่ง โดยเฉพาะบริเวณป่าเขาเขียว-เขาใหญ่ อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งลักษณะยอดเขาคล้ายหนอกวัว จึงมีชื่อเรียกว่า “สันหนอกวัว" 

จนถึงปัจจุบัน เส้นทางศึกษาธรรมชาติสันหนอกวัว มีระยะทาง 4 กิโลเมตร ความสูง 1,767 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง ซึ่งอุทยานแห่งชาติเขาแหลมเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าเที่ยวชม และศึกษาธรรมชาติในเส้นทางดังกล่าว ระหว่างเดือนตุลาคม – เดือนกุมภาพันธ์ ของทุกปี

ที่ยอดบนสุดของ เขาสันหนอกวัว จะสามารถมองเห็นวิวของทะเลหมอกได้อย่างสวยงามอลังการสุด ๆ โดยเฉพาะในช่วงปลายฝนต้นหนาวและช่วงหน้าหนาว โดยจะมีทะเลหมอกให้ได้ยลโฉมกันเกือบทุกวัน และด้วยความที่ยอดเขาสันหนอกวัวมีลักษณะเปิดโล่ง จึงทำให้สามารถมองเห็นวิวของแนวเทือกเขาโดยรอบ ทะเลสาบของเขื่อนวชิราลงกรณ รวมทั้งเขาโล้น หรือเขาเรดาร์ ซึ่งเป็นพื้นที่ของกองทัพอากาศ สังกัดกระทรวงกลาโหม ได้อีกด้วย

เขาสันหนอกวัว นับเป็นยอดเขาที่สูงที่สุดในอุทยานแห่งชาติของจังหวัดกาญจนบุรี นอกจากความสวยงามบนยอดเขาที่สามารถมองเห็นวิวได้ 360 องศา และยังเป็นยอดเขาที่ติดอันดับ 10 ที่สุดอุทยานแห่งชาติเส้นทางศึกษาธรรมชาติของประเทศไทย

 

“เขาสันหนอกวัว” อุทยานแห่งชาติเขาแหลม 2566

ระยะเวลาการเปิดให้ท่องเที่ยว “เขาสันหนอกวัว”

นายอภิสิทธิ์ สมบัติมาศ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาแหลม ประกาศว่า เตรียมความพร้อมเปิดการท่องเที่ยวเส้นทางศึกษาธรรมชาติสันหนอกวัว ประจำปี พ.ศ. 2566 เพื่อให้นักท่องเที่ยวและประชาชนทั่วไป ได้ท่องเที่ยวสัมผัสและศึกษาธรรมชาติ โดยกำหนดระยะเวลาการเปิดดังนี้

  • ตั้งแต่วันที่ 6 ตุลาคม 2566 – 11 กุมภาพันธ์ 2567

 

ประกาศการท่องเที่ยวเส้นทางศึกษาธรรมชาติ เขาสันหนอกวัว ประจำปี พ.ศ. 2566

 

ไฮไลท์การท่องเที่ยว “เขาสันหนอกวัว”

นักท่องเที่ยวสามารถเดินไปบนเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติระยะไกลสันหนอกวัว มีระยะทาง 9 กิโลเมตร เส้นทางผ่านป่าดิบชื้น ป่าเบญจพรรณ ป่าไผ่ ป่าดิบเขา ป่าทุ่งหญ้า มีความหลากหลายของพันธุ์ไม้ มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว โดยเฉพาะบริเวณลานกางเต็นท์และจุดชมวิวมีกุหลาบพันปี มีมอสและเฟิร์นเหมือนป่าดึกดำบรรพ์ 

รวมทั้งทะเลหมอกยามเช้าที่สวยงามและผืนป่าอันกว้างใหญ่ อ่างเก็บน้ำเขื่อนวชิราลงกรณ ชมพระอาทิตย์ตกยามเย็น และชมดาว เป็นภาพของธรรมชาติที่ขวนหลงใหลสวยงามมาก เป็นจุดเช็คอินและวิวถ่ายภาพที่สวยงามน่าประทับใจ

 

“เขาสันหนอกวัว” อุทยานแห่งชาติเขาแหลม 2566

ขั้นตอนการจองขึ้น “เขาสันหนอกวัว”

  • จองผ่านโทรศัพท์เท่านั้น หมายเลข 034-510431 ตั้งแต่เวลา 09.00 น. เป็นต้นไป
  • ส่งเอกสารทางไลน์เท่านั้น โดยเพิ่มเพื่อแบบให้หมายเลขโทรศัพท์ หมายเลข 085-8799047
  • หมายเหตุ การโทรจอง 1 ครั้ง จองได้ 1 กลุ่มเท่านั้น (กลุ่มละไม่เกิน 7 คน) กรณีจำนวนเกินต้องโทรจองใหม่

เอกสารที่ต้องส่ง

  • รูปบัตรประจำตัวประชาชนทุกคน
  • สลิปการโอนเงินมัดจำ คนละ 500 บาท 

 

ขั้นตอนการจอง ท่องเที่ยว “เขาสันหนอกวัว” อุทยานแห่งชาติเขาแหลม 2566

 

ข้อกำหนดการท่องเที่ยว “เขาสันหนอกวัว”

นักท่องเที่ยวที่สนใจไปเที่ยว เขาสันหนอกวัว จะต้องลงทะเบียนจองเข้าอุทยานแห่งชาติล่วงหน้าผ่าน App QueQ ซึ่งมีการจำกัดปริมาณนักท่องเที่ยวต่อช่วงเวลา ตามความสามารถในการรองรับได้ เพื่อมิให้เกิดความแออัด โดยนักท่องเที่ยวทุกรายต้องทำการ Check in และ Check Out ผ่านแอปพลิเคชั่น ไทยซนะ หรือลงทะเบียนเข้าออก บริเวณจุดคัดกรองที่อุทยานแห่งชาติกำหนด 

สำหรับกรณีการเข้าพักค้างแรมในอุทยานแห่งชาติเขาแหลม ให้พักค้างแรมในบริเวณจุดที่อุทยานฯ กำหนดไว้เท่านั้น งดใช้ถุงพลาสติกและโฟม และห้ามนำ สุราและเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ทุกชนิดเข้ามาในอุทยานแห่งชาติ 

การเตรียมความพร้อมในการเดินป่าเขาสันหนอกวัว นอกจากอาหาร น้ำดื่ม เสื้อผ้า ยาสามัญ เต็นท์ ถุงนอน ถุงกันทาก เสื้อกันฝน และของใช้อื่น ๆ ที่จำเป็นในการเดินป่า ยังต้องเตรียมร่างกายเนื่องจากระยะทางในการเดิน 9 กิโลเมตร ขึ้นเขาสูงชัน ใช้เวลาประมาณ 6 ชั่วโมงกว่าจะขึ้นถึงบนยอด

 

“เขาสันหนอกวัว” อุทยานแห่งชาติเขาแหลม 2566

 

ข้อมูลและภาพ : กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช