เทศกาลลอยกระทง 2566 งานยิ่งใหญ่ก่อนส่งท้ายปลายปีของคนไทยที่ไม่ควรพลาดซึ่งในแต่ละจังหวัดต่างจัดงานและมีกิจกรรมมากมายที่น่าสนใจ สำหรับงานลอยกระทงจังหวัดนครสวรรค์นั้น ไฮไลท์สำคัญยังคงอยู่ที่ ประเพณีลอยกระทงกะลาสาย กะลาสี ซึ่งเป็นประเพณีเก่าแก่สืบต่อกันมายาวนาน เริ่มต้นจากการลอยเพื่อความสนุกสนานภายในครอบครัว
สืบเนื่องมาจากสมัยที่ปากน้ำโพเป็นแหล่งชุมชนพ่อค้าไม้ที่ล่องมาจากทางเหนือ ต่อมาเป็นที่รู้จักเพิ่มมากขึ้น ทำให้ชาวปากน้ำโพ และจังหวัดใกล้เคียงเดินทางมาลอยกระทง กะลาสาย กะลาสี ร่วมกันขอขมาพระแม่คงคา ณ สายน้ำปิง แห่งบริเวณชุมชนหน้าผานี้ กลายเป็นงานประเพณีลอยกระทงกะลาสาย กะลาสี ของชาวไทยที่สืบทอดต่อกันมาเพื่อขอขมาต่อแม่พระคงคาซึ่งถือปฏิบัติกันมาจากรุ่นสู่รุ่น
ประเพณีลอยกระทงของชุมชนหน้าผา จ.นครสวรรค์ จึงมีเอกลักษณ์เฉพาะที่แตกต่างจากที่อื่น เนื่องจากเป็นการลอยกระทงสายที่ทำมาจากกะลามะพร้าวซึ่งการลอยกระทงของที่นี่จะลอยพร้อม ๆ กันไป ทำให้เป็นสายอยู่กลางแม่น้ำเกิดเป็นภาพที่มีความสวยงาม เป็นการกำเนิดของกระทงสาย หรือ กะลาสาย กะลาสี ในจังหวัดนครสวรรค์
เทศกาลลอยกระทง กะลาสาย กะลาสี จะมีขึ้นในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2566 ณ บริเวณหน้าศาลเจ้าพ่อเจ้าแม่หน้าผา อ.เมืองนครสวรรค์ นอกจากกิจกรรมไฮไลท์หลักที่พลาดไม่ได้อย่าง การร่วมลอยกระทงกะลาสาย กะลาสี กะลาสายกะลาสี ประจำปี 2566 แล้ว ยังมีกิจกรรมต่าง ๆ อีกมากมาย อาทิ ปิดทองหลวงพ่อทอง สุวณฺโณ เพื่อความเป็นสิริมงคล, ชมการแสดงวัฒนธรรมท้องถิ่น, การจำหน่ายสินค้าของคนในชุมชน โดยสามารถร่วมแต่งกายย้อนยุคเข้าร่วมงานได้
นอกจากนี้ ยังมีนิทรรศการประวัติความเป็นมาของงานลอยกะลาสายกะลาสี, ชมการแสดงรำวงย้อนยุค พร้อมสนุกกับวงดนตรี มีจุดถ่ายรูป check in รวมถึงการประกวดนางนพพาศ และการออกร้านของเหล่าพ่อค้าแม่ค้าที่นำของดีมาขายกันอีกด้วย
เกร็ดความเชื่อเกี่ยวกับการลอยกระทง
ข้อมูล ททท. นครสวรรค์