เปิดโมเดล "ชุมชนตลาดล่าง" ฮับการค้าสมัยอยุธยา สู่"แหล่งท่องเที่ยวลพบุรี"

09 มี.ค. 2567 | 08:42 น.
อัปเดตล่าสุด :09 มี.ค. 2567 | 09:37 น.

ภาครัฐหนุนรูปแบบพัฒนา“ชุมชนตลาดล่าง” เมืองลพบุรี จากศูนย์กลางการค้า การคมนาคม ตั้งแต่สมัยอยุธยา- รัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พลิกฟื้นสู่แหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม หวังสร้างรายชุมชนอีกครั้ง

ในอดีตชุมชนตลาดล่าง  ต.ท่าหิน อ.เมือง จ.ลพบุรี มีความสำคัญด้านการค้าตั้งแต่สมัยอยุธยา  โดยเฉพาะในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช  หรือราวปี พ.ศ. 2200 โดยมีทำเลที่ตั้งอยู่ในชัยภูมิที่สำคัญต่อกลไกการพัฒนาของจังหวัดลพบุรี เนื่องจากมีภูมิประเทศที่ตั้งอยู่ติดกับแม่น้ำลพบุรี และเป็นจุดบรรจบกันของเส้นทางน้ำ 3 สาย คือ แม่น้ำลพบุรี คลองบางขันหมาก และห้วยมูล     

“ชุมชนตลาดล่าง” เมืองลพบุรี

ดังนั้นจึงเรียกว่า"ชุมชนตลาดล่าง"เป็นศูนย์กลางของการถ่ายเทสินค้า  ตลาดแลกเปลี่ยนสินค้าอุปโภค-บริโภค ของท้องถิ่น       รวมไปถึงเป็นเส้นทางสัญจรหลักของผู้คนในอดีต  ทั้งชาวไทยและชาวจีน โดยมีถนนพระรามเป็นเส้นทางคมนาคมเชื่อมย่านการค้าที่ใกล้เคียงกันอย่าง "ชุมชนตลาดท่าขุนนาง", "ชุมชนตลาดหน้าศาลลูกศร"และ"ชุมชนท่าโพธิ์"ซึ่งอยู่ปลายทางของถนนสายดังกล่าว  

แม้เข้าสู่ช่วงยุค"จอมพล ป.พิบูลสงคราม" ชุมชนแห่งนี้ก็ยังคงมีความสำคัญ มีการสร้างอาคารแถวหรือ”ตึกแถวใหม่ระยะต้น” ตามแนวคิดด้านสถาปัตยกรรมในยุค"เชื่อผู้นำ ชาติพ้นภัย"  ที่ต้องการพัฒนาเมืองลพบุรีให้เป็นศูนย์กลางทางการค้า เศรษฐกิจ  สังคมและการทหาร    

แต่มาระยะช่วง พ.ศ.2508 เป็นต้นมา "ชุมชนตลาดล่าง" กลับถูกลดบทบาทความสำคัญลง เนื่องจากชาวบ้านไปใช้การสัญจรทางบกแทนทางเรือ ประกอบกับลำน้ำตื้นเขิน เรือที่แล่นรับส่งผู้โดยสารรวมทั้งขนส่งสินค้า ก็ค่อยๆทยอยหายออกไปจากพื้นที่  รวมทั้งปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงทางสภาพสังคม   “ชุมชนตลาดล่าง” เมืองลพบุรีในวันนี้ จึงมีสภาพเงียบเหงาและซบเซาลงไปมาก   แต่ยังคงมีกิจกรรมที่เชื่อมโยงกับชุมชนไม่ว่าจะเป็นการค้าขายสินค้าดั้งเดิมของชุมชน เช่นยาสมุนไพร เครื่องจักสานและอุปกรณ์การเกษตร  หรือแม้กระทั่งประเพณีทอดผ้าป่าทางเรือ ของชุมชนไทยรามัญ บ้านบางขันหมาก   

คณะนักศึกษาปริญญาโทคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง ม.ธรรมศาสตร์  เจ้าของโมเดลพัฒนา ชุมชนตลาดล่าง

จากมุมมองของ น.ส.ศุภสุดา  พันธ์ดี  น.ส.ธนาภรณ์   วงศ์ชู  น.ส.สโรชา  อาภรณ์พงษ์  น.ส.ฑิตฐิตา  ทะแพงพันธ์  และนายศรายุธ   เวทย์ศุรกฤต  คณะนักศึกษาปริญญาโทคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์     ที่เห็นว่าแม้วันนี้ ชุมชนตลาดล่าง จะถูกลดความสำคัญลงไป เหลือเพียงการค้าดั้งเดิม  แต่ยังคงความมีเสน่ห์ของอาคารเก่าและเรือนไม้ท้องถิ่น

รวมทั้งพื้นที่ดังกล่าวยังใกล้เคียงศาสนสถานโบราณเช่น พระนารายณ์ราชนิเวศน์  บ้านหลวงรับราชทูต(บ้านวิชาเยนทร์) โบราณสถานวัดปืน วัดพรหมมาสตร์ วัดมณีชลขันธ์  หากพลิกฟื้นกลับมาคงน่าสนใจไม่น้อย  ดังนั้นในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 จึงได้ลงพื้นที่สำรวจข้อมูลทางกายภาพและข้อมูลเชิงประวัติศาสตร์   พร้อมออกแบบให้เกิดการพัฒนาเชิงท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม และสร้างรายได้ให้เกิดแก่ชุมชน โดยได้รับการสนับสนุนข้อมูลจากชมรมอนุรักษ์โบราณวัตุสถานและสิ่งแวดล้อมจังหวัดลพบุรี
 

ในงานแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ครั้งที่ 36 ประจำปี 2567  ที่โบราณสถานวัดปืน  ได้มีการนำเสนอผลงาน  การปรับปรุงฟื้นฟูย่านตลาดเก่าริมแม่น้ำลพบุรี และอนุรักษ์อาคารเก่า บริเวณชุมชนตลาดล่างของนักศึกษากลุ่มดังกล่าว   ในกิจกรรมเสวนาเรื่องเล่าเครือข่ายฯ ว่าด้วย "เมืองละโว้-ลพบุรี ที่เรารักษ์"  โครงการออกแบบผังจินตนาการถนนพระราม-ตลาดล่าง  ซึ่งจัดโดยชมรมอนุรักษ์โบราณวัตุสถานและสิ่งแวดล้อมจังหวัดลพบุรี   โดยมี ว่าที่ ร.ต.ทรงพล  แป้นแก้ว  รองผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี  พร้อมด้วยนางชนิตตา แสงพลบ โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดลพบุรี  ร่วมฟังการนำเสนอผลงานดังกล่าวด้วย

โมเดลพัฒนา "ชุมชนตลาดล่าง"

สำหรับการปรับปรุงฟื้นฟูย่านตลาดเก่าริมแม่น้ำลพบุรี และอนุรักษ์อาคารเก่า บริเวณชุมชนตลาดล่าง  จากการลงพื้นที่ในองค์ประกอบพบว่าอาคารหลายแห่งถูกปล่อยร้าง และทรุดโทรม ไม่ได้รับการ ซ่อมแซมหรืออนุรักษ์  ด้านหน้าอาคารยังถูกป้ายโฆษณาบดบัง  รวมทั้งยังมีคอมเพรสเซอร์เครื่องปรับอากาศติดตั้งอยู่อย่างไม่สวยงาม  ขณะที่พื้นที่ริมน้ำซึ่งเคยเป็นท่าเรือ มีความรกร้าง   และยังถูกปิดกั้นการเข้าถึง ทั้งที่เคยมีความสำคัญด้านการขนส่งสินค้าและการบริโภคของคนในชุมชนในอดีต    

นอกจากนี้พบว่า รูปแบบอาคารมีความต่อเนื่องของสิ่งปลูกสร้างบ้านเรือนและอาคารเชิงพาณิชย์   ทั้งหลังคา ประตูหน้าต่าง ผนังอาคาร ช่องลมและวัสดุที่นำมาใช้  ตั้งแต่บ้านไม้ เรือนแถวท้องถิ่น ช่วงปี 2390   ตึกแถวท้องถิ่น ช่วงปี 2470 ตึกแถวสมัยใหม่ระยะต้น ช่วงปี 2495 และตึกแถวสมัยใหม่  ช่วงปี 2511 เป็นต้นมา    พร้อมเลือกแนวทางการปรับปรุงให้สอดรับกับงานสมัยเก่าและสมัยใหม่  

โมเดลพัฒนา "ชุมชนตลาดล่าง"

นอกจากนี้มีการเสนอเพิ่มฟังก์ชั่นในพื้นที่ริมน้ำ  เช่น โฮมสเตย์   ร้านอาหารและพื้นที่นันทนาการ เพื่อให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นจุดน่าสนใจ ซึ่ง  ผศ.ดร.ภูมิชาย    พันธุ์ไพโรจน์   อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ปรึกษาของโครงการกล่าวว่า ผลงานการออกแบบชื้นนี้เป็นงานแนวอนุรักษ์  ที่เชื่อมโยงกับโบราณสถาน และครอบคลุมการพัฒนาในทุกมิติของเมือง  ทั้งการออกแบบถนน  ทางเท้า เขื่อนกั้นน้ำ ต้นไม้และภูมิทัศน์  

ดังนั้นจึงได้มีการเชิญอาจารย์จากคณะโบราณคดีจากมหาวิทยาลัยศิลปากรมาช่วยเสนอแนะในส่วนของงานสถาปัตยกรรมอาคารทั้งตึกแถวแบบท้องถิ่น เรือนแถวไม้   จึงทำให้งานนี้ค่อนข้างสมบูรณ์แบบ หากโครงการพื้นที่ริมน้ำนี้ถูกผลักดันให้เกิดขึ้นจริงเป็นผลสำเร็จจากท้องถิ่น   ก็สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในพื้นที่อื่นๆด้วย      

โมเดลพัฒนา "ชุมชนตลาดล่าง"

ด้านว่าที่ ร.ต.ทรงพล  แป้นแก้ว  รอง ผวจ.ลพบุรี  ได้กล่าวชื่นชมผลงานดังกล่าว  รวมทั้งแม้จะเป็นผลงานของกลุ่มนักศึกษา  แต่ก็ทำให้มองเห็นภาพที่สะท้อนความเจริญในอดีตของชุมชนตลาดล่างได้ชัดเจน  ซึ่งหากเกิดขึ้นจริง ก็จะสามารถเป็นจุดขายด้านการท่องเที่ยวและสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน   แต่ต้องขึ้นอยู่กับหน่วยงานท้องถิ่นเช่น เทศบาลเมืองลพบุรีที่จะให้การสนับสนุนแนวทางการพัฒนาอย่างไร  รวมทั้งผลักดันให้เกิดการปรับปรุงเป็นรูปธรรมในหลายมิติ  ซึ่งจะส่งผลดีต่อชุมชนที่ซบเซาให้กลับมาฟื้นอย่างมีชีวิตอีกครั้ง