ร้านค้า “คนละครึ่ง” “ถุงเงิน” ต้องเสียภาษีหรือไม่?

02 ก.พ. 2565 | 17:03 น.
อัปเดตล่าสุด :02 ก.พ. 2565 | 21:10 น.

ฐานเศรษฐกิจ สรุป หลักเกณฑ์ ร้านค้ามีรายได้เท่าไหร่จึงเข้าเกณฑ์เสียภาษี หลังพบร้านค้า ไม่กล้ารับสแกนสิทธิ “คนละครึ่ง” หวั่นต้องเสียภาษีหลังรายได้พุ่งจากการเข้าร่วมโครงการรัฐ ด้าน “อาคม” รมว.คลัง ชี้หากมีรายได้ ก็ต้องมีหน้าที่ต้องเข้าสู่ระบบภาษี

เข้าสู่เทศกาลยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี ทำให้เริ่มเห็นบรรดาผู้ค้า โดยเฉพาะร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ “คนละครึ่ง” ต่างออกมาโอดโอ๊ยเมื่อถูกสรรพากร ส่งหนังสือเตือนให้ยื่นแบบภาษีถึงหน้าบ้าน และทำให้ผู้ค้าบางร้าน งดรับสแกนสิทธิ โดยเฉพาะโครงการ “คนละครึ่งเฟส4” เนื่องจากกังวลว่าจะต้องเสียภาษี

 

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า รัฐบาลไม่ได้ยกเว้นภาษีให้สำหรับร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการของรัฐ พร้อมมองว่าหากร้านค้าใดที่มีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี ก็มีหน้าที่ที่ต้องเข้าสู่ระบบภาษี ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มและเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม

วันนี้ฐานเศรษฐกิจ จึงมาสรุปให้ดูว่า ใครบ้างมีหน้าที่ต้องยื่นแบบภาษี และรายได้เท่าไหร่บ้างที่จะเข้าเกณฑ์ต้องเสียภาษี ดังนี้

 

พ่อค้าแม่ค้า บุคคลธรรมดา ที่เข้าร่วมโครงการรัฐ ที่รับชำระเงินผ่านแอพพลิเคชั่น “ถุงเงิน” ทั้งที่เป็นส่วนที่ได้รับจากลูกค้าและส่วนที่ได้รับจากรัฐ รายได้ดังกล่าว ถือเป็น “เงินได้พึงประเมิน” ตามมาตรา 40(8) ประมวลรัษฎากร สำหรับรายได้ที่ต้องนำมายื่นภาษี มี 3 ส่วน คือ เงินได้จากรัฐ เงินได้จากลูกค้า และเงินได้หรือยอดขายอื่นๆ นอกโครงการรัฐ

โดยหากรายได้ถึงเกณฑ์ขั้นต่ำที่กำหนด จะต้องยื่นแบบภาษี คือ

  • คนโสด มีรายได้เกิน 60,000 บาทต่อปี
  • คนมีคู่สมรส ไม่ว่าจะเป็นรายได้ฝ่ายเดียวหรือสองฝ่ายรวมกันเกิน 120,000 บาทต่อปี

โดยจะต้องยื่นแบบภาษี ทั้งแบบ ภ.ง.ด.94 ภายในเดือนกันยายน และแบบ ภ.ง.ด.90 ภายในเดือนมีนาคม ปีถัดไป

 

ผู้มีเงินได้ ยังมีสิทธินำค่าใช้จ่ายมาหักลดหย่อน “หักค่าใช้จ่าย” ตามความจริง โดยจะต้องมีเอกสารแสดง เช่น ค่าใช้จ่ายซื้อวัตถุดิบ ค่าใช้จ่ายจ้างพนักงาน ค่าเช่า เป็นต้น หรือ หักแบบเหมาในอัตราร้อยละ 60 และหักค่าลดหย่อนอื่นๆ ตามที่กฎหมายกำหนด เช่น ค่าใช้จ่ายเลี้ยงดูบุตร-พ่อแม่ที่อายุเกิน 60 ปี เงินออม การลงทุน ประกันสุขภาพและชีวิต และเงินบริจาค เป็นต้น

 

ซึ่งอัตราภาษีสำหรับผู้มีรายได้สุทธิถึงเกณฑ์ จะเป็นอัตราแบบขั้นบันได เริ่มตั้งแต่ 5% - 35% ซึ่งจะเริ่มคิดอัตราภาษี 5% หากมีเงินได้สุทธิตั้งแต่ 150,001 บาทต่อปี ขณะที่อัตราภาษีสูงสุดที่ 35% จะต้องมีรายได้สุทธิตั้งแต่ 5,000,001 บาทต่อปีขึ้นไป ดังนั้นเมื่อยื่นแบบเงินได้และหักค่าลดหย่อน คำนวณแล้วพบว่ามีเงินได้สุทธิไม่เกิน 150,000 บาทต่อปี ก็จะไม่ต้องเสียภาษีแต่อย่างใด

 

แต่สิ่งหนึ่งที่ร้านค้าต้องระวังคือ หากมีรายได้เกิน 1,800,000 บาทต่อปี จะต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มและเสียภาษีมูลค่าเพิ่มนําส่งให้กรมสรรพากร โดยต้องจัดทํารายงานภาษีขาย รายงานภาษีซื้อ เพื่อยื่นแบบ ภ.พ.30 นําส่งภาษีมูลค่าเพิ่มทุกเดือน และชําระเงินภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไปด้วย 

 

ดังนั้น หากผู้ค้าคนใด ที่ได้รับจดหมายแจ้งเตือนให้ยื่นแบบภาษีจากกรมสรรพากร ไม่ต้องตกใจ เพราะจดหมายดังกล่าวเพียงแต่แจ้งเตือนให้ผู้ค้ารู้ตัวว่ามีรายได้ถึงเกณฑ์ที่ต้องยื่นภาษี และจะต้องทำการยื่นแบบภาษีภาบในระยะเวลาที่กำหนด เพื่อไม่ต้องเสียค่าปรับในการยื่นภาษีล่าช้า ไม่เกิน 2,000 บาท และเงินเพิ่มอีก 1.5% ต่อเดือนของจำนวนภาษีที่ต้องชำระ