โบรก มองกรณี "JSL" เขย่าสื่อทีวีหากไม่มีธุรกิจใหม่รองรับ"อยู่ยาก"

30 มิ.ย. 2565 | 06:13 น.
อัปเดตล่าสุด :30 มิ.ย. 2565 | 13:27 น.

โบรกวิเคราะห์ กรณี "JSL" ยุติกิจการผลิตรายการโทรทัศน์ หลังเผยงบการเงิน 5 ปี ขาดทุนอ่วม 177 ล้านบาท จากผลกระทบอุตสาหกรรมสื่อเปลี่ยน -ดิสรัปชั่น ชี้ธุรกิจทีวี หากไม่มีธุรกิจใหม่รองรับ โดยคอนเทนต์อย่างเดียวอยู่ยาก

จากกรณีที่ บริษัท เจ เอส แอล โกลบอล มีเดีย จำกัด หรือ "JSL" ซึ่งดำเนินงานด้านการผลิตรายการโทรทัศน์ ตั้งมานาน 43 ปี ได้แจ้งปิดกิจการบางส่วน ตั้งแต่ 1 กรกฏาคมนี้ โดยระบุถึงสาเหตุ เนื่องจากผลกระทบ"ดิจิทัล ดิสรัปชั่น"และการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ทำให้การดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ ได้รับผลกระทบอย่างมาก แม้ตลอดมาบริษัทฯ จะพยายามปรับตัวในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อให้สามารถยืนหยัดในอุตสาหกรรมสื่อบันเทิงได้ก็ตาม

 

ทั้งนี้จากการตรวจสอบฐานะการเงินของ บริษัท เจ เอส แอล โกลบอล มีเดีย จำกัด หรือ JSL จากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ย้อนหลัง 5 ปี  (2560-2564)  "ฐานเศรษฐกิจ"  พบว่าบริษัทมีรายได้รวม 1,877.8 ล้านบาท ,รายจ่ายรวม 1,982 ล้านบาท ขณะที่ขาดทุนสุทธิถึง 176.4 ล้านบาท

 

อ่านเพิ่ม :  ชำแหละงบการเงิน JSL ไปต่อไม่ไหว 5 ปี ขาดทุนยับ เกือบ 180 ล้าน

 


 

ต่อเรื่องนี้ นายกิติชาญ ศิริสุขอาชา ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์รายย่อย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) กล่าวกับ "ฐานเศรษฐกิจ"ว่า ภาพรวมธุรกิจสื่อทีวี ได้รับผลกระทบ DIGITAL DISRUPTION  ทั้งในแง่ตัวผู้ชมที่เปลี่ยนแปลงไปจากแพลตฟอร์มทีวี มาสู่ออนไลน์มากขึ้น รวมถึงดิสรัปชั่นจากตัว Netflix เอง ฯลฯ  ดังนั้นเม็ดเงินในส่วนของโฆษณาทีวีจึงได้รับผลกระทบ เพราะต้องถูกปั่นส่วนออกไป  หากธุรกิจไม่สามารถปรับตัว สายป่านไม่ยาว หรือมีธุรกิจใหม่ ๆมารองรับก็อาจประสบปัญหาเช่นเดียวกับ JSL   

 

"จะเห็นว่าสมัยก่อน ทีวีช่องใหญ่ ค่าโฆษณาเฉลี่ยต่อนาที 2 แสนบาทบางรายการพุ่งเป็น 4 แสนบาทต่อนาที แต่ปัจจุบันเหลือแค่ 80,000 บาทต่อนาที และโฆษณาทีวีดิจิทัล1 ชม.บังคับห้ามโฆษณาเกิน 10 นาที ตีรายได้ นาทีละ 30,000- 80,000 บาท เทียบกับ 10 นาที ๆละ 200,000 บาท ต่างกันเยอะ รายได้จึงหดตัวไปมาก สวนทางกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ทำให้ไม่คุ้มทุนที่จะดำเนินการต่อ ที่ผ่านมาเราจึงเห็นเช่นกรณี ทีวีพูล ที่ยอมคืนช่อง หรือช่อง 3 ( BEC :บมจ. บีอีซี เวิลด์ คืนไป 2ช่อง "

ส่วนสื่อทีวีที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ภาพรวมมองว่ายังแข็งแกร่งพอที่จะรองรับสถานการณ์ปัจจุบันได้  ไม่ว่าจะเป็น ช่อง 3 ( BEC ) ,บมจ.เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ ( WORK) และบมจ.อาร์เอส ( RS ) ซึ่ง RS เองก็ได้หันไปทำธุรกิจในเชิงพาณิชย์มากขึ้น และการจำหน่ายสินค้า ส่วน บมจ.อสมท (MCOT) ก็ไม่น่าห่วงในแง่ที่ผู้ถือหุ้นใหญ่เป็นกระทรวงการคลังถือหุ้นกว่า 65% หรือกลุ่มสื่อเนชั่น ก็ได้ปรับตัวไปทำธุรกิจใหม่ ๆเสริม 

 

"สื่อทีวีที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ฐานะโดยรวมยังแกร่ง ไม่น่าห่วง  ส่วนสื่อโรงภาพยนตร์  เช่น บมจ.เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป (MAJOR), บมจ.วีจีไอ (VGI) ได้อานิสงส์เต็ม ๆจากการเปิดประเทศ แม้ตัว MAJOR จะถูก ดิสรัปชั่น จาก Netflix แต่คนรุ่นใหม่ ไลฟ์สไตลคนยังนิยมดูหนังฟอร์มยักษ์นอกบ้าน และตัวธุรกิจเองก็ได้ปรับตัว ทำการตลาดจัดโปรในรูปแบบใหม่ ๆเพื่อดึงคนมาเข้าชมภาพยนตร์อย่างต่อเนื่อง "