บริษัท เจ เอส แอล โกลบอล มีเดีย จำกัด หรือที่รู้จักและเรียกขานกันติดปากในหมู่ผู้ชมโทรทัศน์ว่า เจ เอส แอล (JSL) ซึ่งมาจากอักษรตัวแรกในชื่อภาษาอังกฤษของผู้ก่อตั้ง 3 คน คือ จำนรรค์ ศิริตัน สมพล สังขะเวส และลาวัลย์ ชูพินิจ (กันชาติ) เป็นบริษัทผู้ผลิตรายการโทรทัศน์ชื่อดังในประเทศไทยที่สร้างสรรค์ผลงานรายการเป็นที่กล่าวขานในวงการนับไม่ถ้วน นับตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทเมื่อปลายปี 2522
JSL เดิมชื่อว่า บริษัท เจ เอส แอล จำกัด ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2522 ด้วยเงินทุนจดทะเบียนแรกเริ่ม 1 แสนบาท ที่ทำการของบริษัท เริ่มแรกใช้บ้านพักบริเวณสนามเป้า ถนนพหลโยธิน แล้วจึงย้ายมาที่ซอยอินทามระ 6 ถนนสุทธิสารวินิจฉัย และหมู่บ้านราชาวิลล่า ซอยลาดพร้าว 67 ตามลำดับ และตั้งแต่ปี พ.ศ. 2528 จนถึงปัจจุบัน บริษัทมีสำนักงานและสตูดิโอของตนเอง ตั้งอยู่ที่ 154 ซอยลาดพร้าว 107 ถนนลาดพร้าว แขวงคลองจั่น เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร ปัจจุบันมีนางรติวัลคุ์ ธนาธรรมโรจน์ เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
(อ่านเพิ่มเติม: ชำแหละงบการเงิน JSL ไปต่อไม่ไหว 5 ปี ขาดทุนยับ เกือบ 180 ล้าน )
วัตถุประสงค์เริ่มแรกของ 3 ผู้ก่อตั้ง คือเพื่อประกอบกิจการถ่ายทำภาพยนตร์ และจัดรายการทางวิทยุโทรทัศน์ รวมทั้งการโฆษณาประชาสัมพันธ์ จนกระทั่งต่อมา “สมพล” นักแปลนวนิยายชื่อดัง หนึ่งในผู้ก่อตั้ง ขอลาออก จึงได้มีการเปลี่ยนกรรมการผู้จัดการและหุ้นส่วนคนสำคัญเป็น เสรี ชยามฤต และสมพงษ์ วรรณภิญโญ ตามลำดับ ภายหลังสมพงษ์และบุคลากรจำนวนหนึ่งได้ขอแยกตัวไปก่อตั้งบริษัท ทีวี ธันเดอร์ เจ เอส แอล จึงได้ปริพันธ์ หนุนภักดี เป็นรองประธานกรรมการ ซึ่งต่อมาได้มีการเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น บริษัท เจ เอส แอล โกลบอล มีเดีย จำกัด จนถึงปัจจุบัน เพื่อให้เข้ากับความก้าวหน้าของเทคโนโลยีด้านการสื่อสารไร้พรมแดนที่ส่งผลต่อพฤติกรรมของผู้บริโภคในยุคใหม่เป็นอย่างมาก
รติวัลคุ์ หรือ “แพร” ธนาธรรมโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารคนปัจจุบัน ซึ่งเป็นบุตรสาวของจำนรรค์ ศิริตัน หนุนภักดี ผู้ก่อตั้งและอดีตประธานกรรมการบริหาร ของเจเอสแอล โกลบอล มีเดีย เคยกล่าวไว้ในช่วงที่มารับตำแหน่งกรรมการบริษัทว่า ไม่เคยคิดว่าจะต้องมาทำงานที่เจเอสแอล เพราะไม่ใช่งานที่เธอถนัด เนื่องจากเรียนมาทางด้านอาร์ตดีไซน์ แต่สุดท้ายก็ตัดสินใจมาช่วยงานของมารดา และด้วยความตั้งใจก็พยายามทำอย่างเต็มที่ร่วมกับเลือดใหม่ของ JSL ในขณะนั้น ซึ่งก็มีทั้งกรินทร์ และกฤษฏิ์ ชูพินิจ ทายาทของ ลาวัลย์ กันชาติ อีกหนึ่งผู้ก่อตั้ง ร่วมทำงานฝ่าฟันมาด้วยกัน
ในยุคเริ่มแรกนั้น JSL เริ่มทำการผลิตรายการโทรทัศน์ประเภทเกมโชว์ ออกอากาศทางสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 ต่อมาได้ขยายการผลิตรายการในหลากหลายรูปแบบ และหลายสถานี เช่น ช่อง 5 ช่อง 7 ช่อง 3 ช่อง 9 ไอทีวี ช่องวัน ไทยรัฐทีวี และอื่น ๆ เป็นจำนวนกว่า 100 รายการ โดยมีความหลากหลายครอบคลุมตั้งแต่รายการเกมโชว์ ควิซโชว์ เรียลลิตี้โชว์ การประกวด วาไรตี้โชว์ ทอล์คโชว์ รายการตลก ละครเวที ละครซิทคอม ละครเรื่องยาว ละครสั้น สารคดีโทรทัศน์ และรายการวันหยุดนักขัตฤกษ์ ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้ชมทุกเพศ ทุกวัย และยังได้รับรางวัลจากหลายสถาบัน
รายการโทรทัศน์และละครน้ำดีของเมืองไทย ฝีมือการสร้างสรรค์ของ JSL ที่ยังคงตรึงตาและประทับอยู่ในความทรงจำของผู้ชมนั้น มีมากมาย อาทิ รายการ เจาะใจ, กิ๊กดู๋ สงครามเพลง ฯ , จันทร์พันดาว และที่วัยรุ่นยุค 80-90s ทุกคนรู้จักกันเป็นอย่างดีคือ รายการแข่งขันประกวดร้องเพลง “คอนเสิร์ต คอนเทสต์” ที่ออกอากาศระหว่างปี 2529-2531 สร้างศิลปินเพลงประดับวงการ (โดยการต่อยอดทำเทปเพลงกับค่ายคีตาในเวลาต่อมา) อาทิ แอนนา โรจน์รุ่งฤกษ์(บิ๊กแชมป์), อังศณา ช้างเศวต(แชมป์ออฟเดอะแชมป์), มาโนช ฤทธิ์เต็ม(บิ๊กแชมป์),วิระ บำรุงศรี, นรีกระจ่าง คันธมาศ, ยุ้ย ญาติเยอะ(สมอลล์แชมป์) เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังมีรายการวาไรตี้คอมเมดี้โชว์ที่โด่งดังมาก คือ ยุทธการขยับเหงือก ออกอากาศเทปแรกในปี 2532 ทางช่อง 5 ทำให้เกิดกลุ่ม “เสนา” หรือ พิธีกรชายในรายการที่ผู้ชมยังคงติดปากเรียกคำว่า “เสนา” นำหน้าชื่อมาจนถึงทุกวันนี้ อาทิ เสนาโค้ก (สมชาย เปรมประภาพงษ์-เสียชีวิตแล้ว) เสนากิ๊ก (เกียรติ กิจเจริญ) เสนาตุ๋ย (อรุณ ภาวิไล) เสนาเพชร (พุฒิพงศ์ พรหมสาขา ณ สกลนคร) เสนาเปิ้ล (นาคร ศิลาชัย), เสนาหอย (เกียรติศักดิ์ อุดมนาค), เสนาติ๊ก (ชาญณรงค์ ขันทีท้าว หรือ ติ๊กกลิ่นสี) เสนาลิง (สมเกียรติ จันทร์พราหมณ์) ฯลฯ ส่วนพิธีกรหญิงที่แจ้งเกิดจากรายการนี้คือ “เลขาแหม่ม” สุริวิภา กุลตังวัฒนา
รายการยุทธการขยับเหงือกยังเป็นเวทีแจ้งเกิดของ “เสนาโน้ส” หรือ อุดม แต้พานิช นักแสดงเดี่ยวไมโครโฟนชื่อดังของประเทศไทยอีกด้วย
ส่วนละครทีวีที่ออกอากาศทางช่องต่าง ๆ ตัวอย่างเช่น อตีตา (ช่อง7) ละอองดาว (ช่อง7) แม่นาก (ช่อง8) เล่ห์รักบุษบา (ช่อง7) และ รักแลกภพ (ช่อง ONE)
JSL ยังมีบริษัทในเครือ อาทิ AI (Thailand) เป็นผู้ดูแลลิขสิทธิ์คาแรคเตอร์การ์ตูนดังๆ ในการนำไปผลิตเป็นสินค้า รวมทั้ง ยังมีบริการให้เช่า กล้อง ห้องตัดต่อ ห้องลงเสียงและสตูดิโอ
อย่างไรก็ตาม การเดินทางอันยาวนาน 43 ปีมาถึงจุดสิ้นสุด เมื่อบริษัทประกาศยุติการดำเนินงานบางส่วนโดยออกหนังสือชี้แจงอย่างเป็นทางการในวันนี้ (30 มิ.ย. 2565) ด้วยเหตุผลการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมสื่อ ซึ่งก่อผลกระทบอย่างรุนแรง ประกอบกับการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ทำให้การดำเนินธุรกิจของบริษัทได้รับผลกระทบอย่างมาก แม้ตลอดมา JSL จะพยายามปรับตัวในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อให้สามารถยืนหยัดในอุตสาหกรรมสื่อบันเทิงได้ต่อไป เพื่อที่จะได้สร้างผลงานที่ดีมีคุณภาพให้กับผู้ชม แต่ก็ยังไม่บรรลุผลตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ (อ่านเพิ่มเติม: JSL ยืนยันยุติกิจการ ปิดตำนาน 43 ปี 1 ก.ค. นี้ )
ดังนั้น จึงเห็นสมควรที่จะยุติการดำเนินงานบางส่วนลง เป็นการปิดฉากตำนาน 43 ปี นับตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2565 เป็นต้นไป