ดันไทยฮับ ผลิตรถอีวี

02 มิ.ย. 2562 | 03:45 น.
อัปเดตล่าสุด :02 มิ.ย. 2562 | 10:45 น.

“หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ” จัดงานสัมมนาภายใต้หัวข้อ “EV...ยานยนต์ไฟฟ้า เทคโนโลยีเปลี่ยนโลก” โดยมีตัวแทนจากภาครัฐมานำเสนอมุมมองและโอกาสการลงทุนพร้อมเสวนาในหัวข้อ “โอกาสการลงทุนอุตสาหกรรม EV” ดันไทยฮับ  ผลิตรถอีวี

นายชาตรี ลิ้มผ่องใส ผู้อำนวยการกองบริหารการลงทุน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ไทยได้เปิดให้ค่ายรถลงทุนในโครงการรถยนต์ไฟฟ้า ตั้งแต่ปี 2560 และปัจจุบันสิ้นสุดแล้ว ปรากฏว่ามีผู้ยื่นขอผลิตรถยนต์ Hevหรือไฮบริด 5 ราย อนุมัติไปแล้ว 4 ราย, Phev หรือปลั๊ก-อิน ไฮบริด 8 ราย อนุมัติไปแล้ว 4 ราย, Bev หรือรถยนต์ไฟฟ้า 100% ยื่นขอ 20 ราย อนุมัติไปแล้ว 1 ราย ส่วนการยื่นขอแบบผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์อีวีมีผู้ยื่นขอ 11 ราย อนุมัติไปแล้ว 10 ราย และสถานีชาร์จ 8 ราย อนุมัติไปแล้ว 1 ราย โดยในส่วนของรถยนต์ไฟฟ้า 100% ที่อนุมัติล่าช้า เพราะ ถือเป็นโครงการที่มีเรื่องเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง

ด้านนายณัฐกร อุเทนสุต ผู้อำนวยการสำนักแผนภาษี กรมสรรพ สามิต กล่าวว่าปัญหาและอุปสรรคของยานยนต์ไฟฟ้าที่มีผลทำให้ยานยนต์ไฟฟ้ายังไม่ขับเคลื่อน คือมีสถานีชาร์จน้อย ระยะเวลาในการชาร์จนาน แบตเตอรี่ยังมีราคาแพง ทำให้ราคารถแพง จึงต้องพิจารณาว่าจะทำอย่างไรให้แบตเตอรี่มีราคาถูกลง ระยะเวลาการชาร์จต่อการวิ่งนานขึ้น ซึ่งนโยบายรัฐบาลได้เน้นสนับสนุนให้ไทยเป็นศูนย์กลางผลิตรถยนต์อีวีในภูมิภาค ด้วยการผลิตชิ้นส่วนหลัก เช่น แบตเตอรี่ ,พีซียู,แบตเตอรี่แมเนจเมนต์ รวมไปถึงควิกชาร์จ และจัดหาพลังงานไฟฟ้าให้เพียงพอกับความต้องการของพลังงานในอนาคต เพื่อสร้างความเชื่อมั่นของผู้บริโภค

สำหรับทิศทางที่จะเดินไปในอนาคตจะประกอบไปด้วย การสร้างความเชื่อมั่นในการลงทุน นโยบายรัฐต้องชัดเจน รวมไปถึงต้องดูผลประโยชน์ของอุตสาหกรรม และผลประโยชน์ของประเทศ กรมสรรพสามิตยืนยันว่ามาตรการต่างๆที่ออกมาเป็นแค่จุดประกายให้ผู้บริโภค ผู้ผลิตตระหนักถึงปัญหา แต่ไม่ใช่เป็นการแก้ปัญหาเบ็ดเสร็จ มาตรการภาษีอย่างเดียวไม่เพียงพอ ต้องมีมาตรการอย่างอื่นควบคู่ ถึงจะบรรลุวัตถุประสงค์ที่ผลักดันให้รถยนต์ไฟฟ้าเป็นโปรดักต์แชมเปี้ยนตัวที่ 3 ในไทย

“ในส่วนของภาครัฐเราได้เคาะมาตรการเร่งด่วนเกี่ยวกับยานยนต์ไฟฟ้าให้เลย ถ้าค่ายรถทำเร็วทำได้ในปี 2563 -2565 ไม่ต้องเสียภาษีสรรพสามิต แต่ต้องมีคุณสมบัติคือต้องได้นโยบายรับบัตรส่งเสริมจากบีโอไอ และปีที่ 5 ต้องใช้แบตที่ประกอบหรือผลิตในประเทศไทย เพราะตรงนี้เรามองว่าหากราคาแบตเตอรี่ไม่ลง ไม่มีการรียูส รีบิลต์ ราคาแบตเตอรี่แพงมาก ถ้าเปลี่ยนใหม่ราคาหลัก 2 แสนบาท ดังนั้นการขายต่อรถมือสองจะลำบาก เนื่องจากราคาแบตเตอรี่ที่ลูก
ค้าคนใหม่จะซื้อมาเปลี่ยนแพงมาก แต่หากเป็นรีบิลต์ การเปลี่ยนราคาอาจจะหลักหมื่นบาท ดังนั้นจึงเห็นความสำคัญว่าเราต้องผลิตและประกอบแบตเตอรี่ในประเทศ” 

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,475 วันที่ 2 - 5 มิถุนายน พ.ศ. 2562

ดันไทยฮับ  ผลิตรถอีวี