EVAT สร้าง Charging Consortium ระบบร่วม สถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า ใช้งานสะดวก-จ่ายเงินสบายทุกยี่ห้อ

29 ก.ค. 2563 | 04:52 น.
อัปเดตล่าสุด :29 ก.ค. 2563 | 12:28 น.

สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย ( EVAT ) ผนึก 11 องค์กร ผู้ให้บริการสถานีอัดประจุไฟฟ้า ปั้นโมเดล Charging Consortium สร้างระบบเชื่อมต่อการใช้งานร่วมกัน รองรับรถยนต์ไฟฟ้าทุกยี่ห้อ หวังอำนวยความสะดวกในการใช้งาน และสร้างมาตรฐานการจ่ายค่าบริการเป็นหนึ่งเดียว เริ่มทดลองใช้ภายในปีนี้

สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย นำโดย ดร.ยศพงษ์ ลออนวล นายกสมาคมฯ จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการร่วมพัฒนาโมเดลการใช้งานสถานีอัดประจุไฟฟ้าข้ามเครือข่ายหรือ Charging Consortium กับองค์กรต่างๆ ได้เเก่

- การไฟฟ้าฝ่ายผลิตเเห่งประเทศไทย (กฟผ.)
- การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.)
- การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.)
- บริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน)  
- บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีกจำกัด (มหาชน)
- บริษัท อีโวลท์เทคโนโลยี จำกัด
- บริษัท กริดวิซ (ประเทศไทย) จำกัด
- บริษัท พลังงาน มหานคร จำกัด
- บริษัท จีแอลทีกรีน (ประเทศไทย) จำกัด
- บริษัท โชเซ่นเอ็นเนอร์จี้ จำกัด
- บริษัท เดอะฟิฟท์อีลีเม้นท์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด

EVAT ผนึก 11 องค์กรผู้ให้บริการสถานีอัดประจุไฟฟ้า ปั้นโมเดล Charging Consortium

ดร.ยศพงษ์ กล่าวว่า การร่วมมือในครั้งนี้ มีจุดมุ่งหมายสำคัญในการส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้าทั้งในประเทศไทย และกลุ่มประเทศอาเซียน ที่ในปัจจุบันมีเเนวโน้มการขับขี่รถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังจะเห็นได้จากสถิติของกรมการขนส่งทางบก (ข้อมูล ณ วันที่ 30 มิ.ย. พ.ศ. 2563) ระบุ จำนวนจดทะเบียนรถยานยนต์ไฟฟ้าสะสม BEV จำนวน 4,301 คันและ HEV/PHEV จำนวน 167,767 คัน ส่วน สถานีอัดประจุไฟฟ้ามีจำนวน หัวจ่ายไฟฟ้า รวมกว่า 1,854 หัวจ่าย

นายกฤษฎา อุตตโมทย์ อุปนายกสมาคมฯ ด้านการส่งเสริมการใช้เผยว่า ทางสมาคมฯอยากเห็นผู้ขับขี่รถยนต์ไฟฟ้าที่ไม่ว่ารถปลั๊กอิน -ไฮบริด PHEV และรถแบตเตอรี่ BEV ยี่ห้อต่างๆ หรือผู้ที่วางแผนอยากปรับเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ไฟฟ้าไร้มลพิษ เกิดความมั่นใจในการเข้าถึง สถานีชาร์จไฟฟ้า ที่กระจายตัวอยู่ในที่สาธารณะได้มากขึ้น ภายใต้วัตถุประสงค์ 3 ข้อในการร่วมมือกันพัฒนาระบบการเชื่อมต่อการใช้ สถานีอัดประจุไฟฟ้าข้ามเครือข่าย กับทางภาครัฐเเละภาคเอกชนหรือที่เรียกชื่อโครงการนี้ว่า Charging Consortium ได้เเก่

1.เพื่อให้ผู้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้าสามารถใช้บริการอัดประจุไฟฟ้าได้ในทุกเครือข่ายฯ รวมไปถึงการมีระบบการให้บริการที่เป็นมาตรฐาน

2. เพื่อร่วมกันแสวงหาแนวทางในความร่วมมือให้ผู้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้าสามารถใช้เครื่องมือเช่นบัตรหรือ QR code โปรแกรมหรืออุปกรณ์อื่น ๆ เพื่อให้สามารถอัดประจุไฟฟ้าได้ข้ามเครือข่ายฯโดยไม่จำกัดเฉพาะของเครือข่ายฯใดเครือข่ายฯหนึ่งเท่านั้น

3.เพื่อร่วมกันพัฒนาการเชื่อมโยงระบบการชำระเงินค่าบริการ จากผู้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้าที่ใช้บริการต่างเครือข่ายฯ ที่สามารถบริหารจัดการทั้งรายรับและรายจ่ายให้กับเครือข่ายพันธมิตรทางธุรกิจได้อย่างเป็นธรรม ผ่านบริการแอปพลิเคชันของสมาชิกในกลุ่ม Charging Consortium

ทั้งนี้ สมาคมฯขอขอบคุณคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) และคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มีมติเห็นชอบแนวทางการกำหนด อัตราค่าไฟฟ้าสำหรับสถานีอัดประจุไฟฟ้า ของยานยนต์ไฟฟ้าโดยใช้อัตราค่าไฟฟ้าแบบคงที่ตลอดทั้งวันมีค่าเท่ากับอัตราค่าพลังงานไฟฟ้าช่วงเวลา Off Peak ของผู้ใช้ไฟฟ้าเท่ากับ 2.6369 บาทต่อหน่วย (สำหรับแรงดันไฟฟ้าน้อยกว่า 22 kV)  

นายสรรเพชญ ตั้งเสาวภาคย์ กรรมการเเละประธานกลุ่ม WG3 สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทยประจำสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย กล่าวว่า สมาคมฯได้จัดทำให้มีตราสัญลักษณ์ Charging Consortium ที่เป็นสัญลักษณ์ร่วมของกลุ่มพันธมิตรผู้ให้บริการตาม สถานีอัดประจุไฟฟ้าทั่วประเทศกว่า 100 สถานี โดยจะเริ่มมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลของสถานีอัดประจุไฟฟ้าข้ามเครือข่ายในระยะแรก (พ.ศ.2563-2564) ที่มุ่งเพิ่มความสะดวกสบายให้แก่ผู้ขับขี่รถยนต์ไฟฟ้า

ปัจจุบันค่ายรถยนต์บางยี่ห้อผลิตรถยนต์ไฟฟ้าออกมาเเต่ยังไม่มีสถานีอัดประจุไฟฟ้าสาธารณะเป็นของตนเองการมีสัญลักษณ์ Charging Consortium จะทำให้ผู้ขับขี่รถยนต์ไฟฟ้าจากทุกค่ายเกิดความมั่นใจในการเข้าถึงการชาร์จไฟฟ้าในที่สาธารณะได้สะดวกมากขึ้น โดยไม่ว่าผู้ขับขี่ต้องการจะจอดชาร์จไฟฟ้าที่ใดผู้ขับขี่ก็จะสามารถชาร์จไฟฟ้าได้ทันที ไม่ขึ้นกับว่าผู้ใช้งานจะเป็นสมาชิกของเครือข่ายสถานีนั้นอยู่เดิมหรือไม่

หลังจากที่มีการลงนามบันทึกความเข้าใจหรือ MOU ระหว่างสมาคมฯกับองค์กรพันธมิตร ทางสมาคมฯจะเริ่มหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในด้านระบบการชำระเงินเพื่อทำให้สามารถรับชำระเงินได้ระหว่างเครือข่าย ซึ่งคาดว่าโมเดลการใช้งาน สถานีชาร์จไฟฟ้าข้ามเครือข่าย  Charging Consortium จะเเล้วเสร็จเเละพร้อมทดลองใช้งานภายในปี 2563