ค่ายรถยนต์ปรับแผนส่งออก บ.ชิ้นส่วนฟื้นกำลังผลิต 50% ทำงาน 4 วัน หยุด 3 วัน

04 ส.ค. 2563 | 00:55 น.
อัปเดตล่าสุด :04 ส.ค. 2563 | 03:20 น.

ค่ายรถยนต์ปรับแผนส่งออกใหม่ หลังตลาดในประเทศ-ส่งออกวูบ ด้านบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วน เคลียร์จำนวนแรงงานเรียบร้อย เริ่มฟื้นกำลังผลิตให้กลับมาถึง 50% พร้อมทำงาน 4 วัน หยุด 3 วัน

แม้ยอดผลิตรถยนต์ครึ่งปีแรก (ม.ค.-มิ.ย. 63) จะทำได้ 606,132 คัน ลดลง 43.14% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว แต่ครึ่งปีหลัง อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยเริ่มเห็นแสงสว่าง เมื่อยอดขายในประเทศขยับดีขึ้นตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-กรกฎาคมส่วนภาพของการส่งออกออร์เดอร์ จากบางประเทศเริ่มกลับมาเช่นกัน แม้จะไม่สูงเท่าภาวะปกติก็ตาม

ค่ายรถยนต์ปรับแผนส่งออก  บ.ชิ้นส่วนฟื้นกำลังผลิต 50% ทำงาน 4 วัน หยุด 3 วัน

กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ประเมินว่า ยอดผลิตรถยนต์รวมปีนี้มีโอกาสถึง 1.4 ล้านคัน (ลดลงจาก 2 ล้านคันในปี 2562) แบ่งเป็นขายในประเทศ 7 แสนคัน และส่งออก 7 แสนคัน ซึ่งเป็นตัวเลขที่มองโลกในแง่ดี บนเงื่อนไข ไม่เกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รอบ2 ขณะที่หลายบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ และบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วน เริ่มวางแผนการผลิตกันใหม่

นายพินัย ศิรินคร ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วน และอะไหล่ยานยนต์ เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา บริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วน ต่างปรับกำลังการผลิตให้สอดคล้องกับบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ หรือมีกำลังผลิตเฉลี่ย 30% จากศักยภาพเต็มที่ บริษัทส่วนใหญ่ 80-90% ประกาศหยุดโรงงานชั่วคราว พร้อมจ่ายค่าจ้างตามกฎหมายกำหนด บางบริษัทปรับลดคนงาน และเปิดโครงการสมัครใจลาออก แต่ถึงวันนี้การบริหารจัดการเรื่องแรงงานนิ่งแล้ว และกำลังเข้าสู่การฟื้นการผลิต

ทั้งนี้ ตั้งแต่เดือนมิถุนายน หลายบริษัทเพิ่มกำลังการผลิตให้กลับมาเป็น 50% หรือวางแผนทำงาน 4 วัน หยุด 3 วัน (ศุกร์-อาทิตย์) ซึ่งแผนการเกลี่ยจำนวนแรงงานได้ทำไปเรียบร้อยแล้วตอนนี้ผู้ผลิตชิ้นส่วน รู้รายรับ รายจ่าย รวมถึงสภาพคล่องทางการเงิน พร้อมวางแผนงานกลับมาลุยกันต่อ และภายในเดือนกันยายนนี้ คาดว่ากำลังการผลิตในกลุ่มชิ้นส่วนจะกลับมาถึง 60-70%”

“กลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนในไทย มีลมหายใจอยู่กับรถใหม่ป้ายแดง เพราะ 80% ของชิ้นส่วน จะถูกส่งไปโรงงานผู้ผลิตรถยนต์ OEM ที่เหลือ 20% เป็นชิ้นส่วน (อะไหล่) ตลาดทดแทน แต่ถึงวันนี้ เราผ่านสถานการณ์แย่สุดๆไปแล้ว และกำลังกระดกหัวขึ้น แม้จะเป็นการขยับขึ้นแบบช้าๆ ซึ่งภายในปี 2563 กำลังการผลิตยังไม่น่าจะกลับมาถึง 80% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านๆ มา ที่มียอดผลิตรถยนต์ 2 ล้านคันต่อปี” นายพินัย กล่าว

ส่วนบริษัทผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ “โตโยต้า” ประกาศปรับเป้าหมาย การขายในประเทศเหลือ 2.2 แสนคัน จากตลาดรวมที่ประเมินใหม่ว่าจะเหลือ 6.6 แสนคัน (ต้นปีมองไว้ 9.4 แสนคัน) ขณะที่ยอดส่งออกปรับลดลงเช่นกัน

นายมิจิโนบุ ซึงาตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด เปิดเผยว่า ครึ่งปีแรก 2563 บริษัทส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปจำนวนทั้งสิ้น 9.7 หมื่นคัน ลดลง 30% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 อย่างไรก็ดี บริษัทเห็นสัญญาณเชิงบวกจากในภูมิภาคโอเชียเนีย และบางประเทศในทวีปเอเชีย ด้วยเหตุนี้ จึงปรับการคาดการณ์การส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปสำหรับปีนี้ทั้งปี อยู่ที่ 1.94 แสนคัน ลดลง 27%

การผลิตรถยนต์ของโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย เป็นไปตามสภาวะของตลาดรถยนต์ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ที่มีแนวโน้มเติบโตขึ้นเหนือกว่าที่คาดการณ์ไว้ ดังนั้น จำนวนการผลิตรถยนต์ของโตโยต้าในปี 2563 จะอยู่ที่ 4.08 แสนคัน ลดลง 29% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา

นายพิทักษ์ พฤทธิสาริกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารปฏิบัติการ บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า โรงงานผลิตรถยนต์ทั้ง 2 แห่งที่ จ.พระนครศรีอยุธยา และปราจีนบุรี กลับมารีสตาร์ทผลิตรถยนต์เพื่อส่งออกในเดือนพฤษภาคม หลังหยุดไป 1 เดือน และในเดือนกรกฎาคม จะเริ่มผลิตรถเพื่อป้อนตลาดในประเทศ โดยทั้ง 2 โรงงานใช้กำลังผลิต 60% (จากเต็ม 100% คือการทำ 2 กะ)

บริษัทกลับมาผลิตรถยนต์เพื่อป้อนตลาดในประเทศมากขึ้น แต่ตลาดส่งออกยังลดลงพอสมควร ทั้ง ออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ส่วนยอดขายในประเทศปีนี้ ฮอนด้าตั้งเป้าหมาย 9.5 หมื่นคัน จากตลาดรวมที่คาดไว้ 6.8 แสนคัน

หน้า 2 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3597 วันที่ 2-5 สิงหาคม 2563

สนใจประกันรถราคาพิเศษ คลิกเลย