รัฐ-เอกชน ปูพรมสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า

17 เม.ย. 2564 | 23:20 น.

3 การไฟฟ้า ค่ายรถยนต์ และ EA ปูพรมสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า ปตท.เล็งเพิ่มตู้ควิกชาร์จที่ปั๊มนํ้ามันครบ 100 สาขาปีนี้ ดันจำนวนสถานีชาร์จเกิน 1,000 แห่งทั่วประเทศ

 

 

 

ยุคใหม่ยานยนต์ไฟฟ้า ถูกขับเคลื่อนตามนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งหมายให้เกิดการผลิต และการใช้อย่างแพร่หลาย โดยยานยนต์ไฟฟ้าถือเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้เศรษฐกิจไทยในอนาคต

ส่วนแนวคิดของคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ ที่ต้องการขายรถยนต์ใหม่ในประเทศเป็น EV 100% ในปี 2578 ยังเป็นเพียงการตั้งธงเท่านั้น ซึ่งระหว่างนี้ รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน “สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์” มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหาแนวทาง เพื่อวางแผนขับเคลื่อนนโยบายให้ไปในทิศทางเดียวกัน

หนึ่งในแผนสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้าคือ การเพิ่มเครือข่ายสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าสาธารณะให้แพร่หลาย ซึ่งในปัจจุบันหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ กำลังเดินหน้าอย่างเข้มข้น

โครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการมาของรถยนต์ไฟฟ้าดังกล่าว มี 3 การไฟฟ้าเป็นหัวเรือใหญ่ ทั้ง การไฟฟ้านครหลวง (MEA) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ (EGAT) ในแนวทางสนับสนุนภาคเอกชนในการติดตั้งตู้ชาร์จ และเปิดสถานีชาร์จของตนเองบนพื้นที่พันธมิตร (จัดเก็บรายได้แล้วนำมาแบ่งกัน)

ในส่วน MEA มีสถานีชาร์จของตนเองเพียง 14 แห่ง ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ตามที่ทำการไฟฟ้านครหลวงเขตต่างๆ แต่แนวทางหลักคือ การสนับสนุนภาคเอกชนในการขยายสถานีชาร์จสาธารณะ และติดตั้งระบบชาร์จไฟฟ้าตามที่อยู่อาศัย ในเขตกรุงเทพและปริมณฑล

ขณะที่ PEA ภายใต้แบรนด์ PEA VOLTA ร่วมกับ “บางจาก” เปิดให้บริการแล้ว 15 แห่ง และมีแผนขยายเพิ่มในปั๊มนํ้ามันบางจาก ตามถนนสายหลัก 56 สาขา ในทุกระยะ 100 กม. ครอบคลุมทั่วประเทศ โดยตั้งเป้าเปิดครบ 263 แห่งภายในปี 2566

ส่วน EGAT มี 13 แห่ง และตั้งเป้าเปิด 46 แห่งภายในปี 2564 ด้านบริษัท ปตท.นํ้ามันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ “โออาร์” ประกาศชัดเจนว่าเตรียมให้บริการตู้ชาร์จแบบ DC หรือควิกชาร์จ เพื่อรองรับรถพลังงานไฟฟ้า 100% EV ถึง 100 แห่งภายในปีนี้ จากปัจจุบันที่มี 30 สาขา

ขณะที่บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ “เอ็มจี” มีแผนงานที่ชัดเจนเพราะขาย EV มากที่สุดในตลาด (ปีที่แล้วขายได้ 826 คัน) พร้อมลงทุน 500 ล้านบาท เปิดสถานีชาร์จพลังงานไฟฟ้า MG SUPER CHARGE โดยตั้งเป้า 500 แห่งภายในปีนี้

ปัจจุบัน MG SUPER CHARGE เปิดให้บริการแล้ว 70 แห่งที่โชว์รูม-ศูนย์บริการเอ็มจี ในจำนวนนี้ 22 แห่งรองรับการให้บริการ 24 ชม.

เมอร์เซเดส-เบนซ์ ประเทศไทย เลื่อนแผนเปิดตัว EV ในไทยเป็นปี 2565 นอกจากจะมีตู้ชาร์จที่ดีลเลอร์ และตามโรงแรมในเครือ Marriott,Minor และ Hilton แล้ว ยังเปิดโครงการ Charge to Change แจก Wallbox ให้แก่หน่วยงานราชการ-เอกชนฟรี โดยเซ็นสัญญาพร้อมส่งมอบกว่า 70 ตู้ และเตรียมส่งมอบครบ 100 ตู้ ภายในปีนี้

ขณะที่บีเอ็มดับเบิลยู สนับสนุนสถานี ChargeNow เปิดให้บริการแล้ว 63 แห่ง ตามดีลเลอร์ของตนเอง ตลอดจนศูนย์การค้าและโรงแรมต่างๆ

สำหรับเอกชนรายใหญ่ พลังงานมหานคร ในเครือ บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA) ภายใต้แบรนด์ EA Anywhere ปัจจุบันมีสถานีชาร์จ 400 แห่ง และเพิ่งจับมือกับ บิ๊กซี
ซูเปอร์เซ็นเตอร์ เตรียมขยายอีก 8 แห่ง

“การเปลี่ยนมาใช้ยานยนต์พลังงานไฟฟ้า จะช่วยลด CO2 ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของภาวะโลกร้อน และมลพิษ PM 2.5 และการที่ภาครัฐกำหนดเป้าหมายให้ไทยเป็นฐานการผลิตรถพลังงานไฟฟ้า 100% ภายในปี 2578 พร้อมเร่งรัดแผนการจัดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า รวมทั้งส่งเสริมการจัดตั้งศูนย์ทดสอบมาตรฐานแบตเตอรี่ ถือเป็นสัญญาณที่ดีอย่างมาก” นายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร EA กล่าวสรุป

ทั้งนี้ จากแผนงานของทุกบริษัท หากทำได้ตามเป้าหมายจะส่งผลให้ภายในปี 2564 ประเทศไทยมีสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าทั้งแบบ DC และ AC เกิน 1,000 แห่ง

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,671 วันที่ 18 - 21 เมษายน พ.ศ. 2564