คิกออฟ ปี 2564เมอร์เซเดส-เบนซ์ ประเทศไทย เปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ทุกเดือน มีไฮไลต์อย่าง GLS ราคาใหม่, Mercedes AMG GLA 35,GLE 350 de ดีเซล ปลั๊ก-อินไฮบริด และ อี-คลาส เฟซลิฟท์ ที่ล้วนเป็นรุ่นประกอบในประเทศ(อี-คลาส คูเป้,คาบริโอเลต์ เป็นรถนำเข้า) ไม่รวม 2 รุ่นในกลุ่มคอมแพกต์ เอ-คลาส ซีดาน และ จีแอลเอ ที่เปิดตัวรุ่นประกอบในประเทศตั้งแต่ปลายปี 2563
โดย A200 Progressive เปิดราคา 1.99 ล้านบาท ถือเป็นรถป้ายแดงแปะตราดาวที่ตั้งราคาขายตํ่ากว่า 2 ล้านบาทในรอบกว่า 20 ปีของเมอร์เซเดส-เบนซ์
นายโรลันด์ โฟล์เกอร์ ประธานบริหาร บริษัท เมอร์เซเดส-เบนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า บริษัทสามารถเพิ่มปริมาณรถยนต์ให้เพียงพอต่อการส่งมอบให้แก่ลูกค้าในเดือนมีนาคม และการนำเสนอรถยนต์รุ่นใหม่ๆ หลากหลายรุ่นมากที่สุดในตลาดรถยนต์ไทย ส่งผลให้ยอดขายไตรมาสแรกของปี 2564 (ตัวเลขที่จดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบก) ทำได้ 3,178 คัน ครองส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับ 1 ของกลุ่มรถยนต์ลักชัวรี
“เมอร์เซเดส-เบนซ์ ยังคงมีบทบาทสำคัญในการช่วยผลักดันการเติบโตของอุตสาหกรรม และตลาดรถยนต์ในไทย ปีนี้เรามีแผนเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ 15 รุ่น ซึ่งรวมถึงรถยนต์รุ่นปลั๊กอินไฮบริดอีกหลายรุ่น” นายโฟล์เกอร์ กล่าวสรุป
สำหรับแผนแนะนำโปรดักต์รุ่นใหม่ลงสู่ตลาดของเมอร์เซเดส-เบนซ์ จากนี้เป็นต้นไป ไฮไลต์อยู่ที่รถกลุ่มคอนเทมโพรารี อย่าง เอส-คลาส และ ซี-คลาส โฉมใหม่ ที่เตรียมทำตลาดด้วยรุ่นประกอบในประเทศทันที ในช่วงกลางปี และปลายปี 2564 ตามลำดับ
ทั้งนี้ วิกฤติโควิด-19 และปัญหาขาดแคลนชิ้นส่วนเพื่อการผลิต กระทบต่อแผนการผลิตรถยนต์ของบริษัทแม่ ดังนั้นหาก เมอร์เซเดส-เบนซ์ ประเทศไทย สั่งรุ่นนำเข้า (CBU) มาขายก่อน ย่อมช้ากว่ากำหนดเดิมไปหลายเดือน
นั่นหมายถึง หากยึดรูปแบบการทำตลาดที่ผ่านๆ มา การเปิดตัวรถรุ่น CBU จะขยับมาใกล้กับช่วงเวลาที่รุ่นประกอบในประเทศ พร้อมขึ้นไลน์ผลิตที่โรงงานธนบุรีประกอบรถยนต์ สำโรง จ.สมุทรปราการ ซึ่งดูไม่สมเหตุสมผลนัก จึงทำให้ เมอร์เซเดส-เบนซ์ ตัดสินใจรอรุ่นประกอบในประเทศ เพื่อเปิดตัวในคราวเดียว
เอส-คลาส โฉมใหม่ W223 เปิดตัวอย่างเป็นทางการในระดับโลกเดือนกันยายน 2563 และ ซี-คลาส โฉมใหม่ W206 เปิดตัวเดือนกุมภาพันธ์ 2564 โดยการทำตลาดในไทยจะมีรุ่นเครื่องยนต์ดีเซล และรุ่นเครื่องยนต์เบนซินผสานการทำงานกับมอเตอร์ไฟฟ้า แบบปลั๊ก-อินไฮบริด
นอกจาก เอส-คลาส โฉมใหม่ แล้ว ช่วงกลางปีต่อเนื่องไตรมาส 3 เมอร์เซเดส-เบนซ์ มีแผนเปิดตัวซาลูนสุดหรูอีกหนึ่งรุ่นคือ เมอร์เซเดส มายบัค เอส-คลาส ซึ่งยังไม่ยืนยันว่าจะเป็นการประกอบในประเทศ หรือนำเข้าทั้งคันเหมือนเดิม
ส่วนแผนงานรถพลังงานไฟฟ้า 100% ที่ประธานเมอร์เซเดส-เบนซ์ ประเทศไทย ยืนยันว่าทำตลาดแน่นอน มีโอกาสได้เห็นการเปิดตัวต้นปี 2565 กับรุ่น EQS
EQS เพิ่งเปิดตัวในตลาดโลก 16 เมษายน ที่ผ่านมา เป็น EV ลำดับที่ 4 ของค่าย ต่อจาก EQC EQV และ EQA โดยแฟลกชิปของรถพลังงานไฟฟ้ารุ่นนี้เคลมว่า ชาร์จไฟเต็มหนึ่งครั้ง สามารถวิ่งได้ระยะทาง 770 กม. จากแบตเตอรี่ 107.8กิโลวัตต์ชั่วโมง ทั้งยังมี 2 ระดับความแรงให้เลือก
EQS 450+ มอเตอร์ขับเคลื่อนล้อหลัง 1 ตัวให้กำลัง 328 แรงม้า แรงบิด 568 นิวตัน-เมตร อัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. 6.2 วินาที ความเร็วสูงสุด 210 กม./ชม.
EQS 580 4MATIC มอเตอร์ 2 ตัวหน้า-หลัง ให้กำลังวม 516 แรงม้า แรงบิด 855 นิวตัน-เมตร อัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. 4.3 วินาที ความเร็วสูงสุด 210 กม./ชม.
สำหรับแผนงานระดับโลกของเมอร์เซเดส-เบนซ์ ปีนี้จะเปิดตัว EV รุ่นใหม่เพิ่มเติมคือเอสยูวี EQB และซาลูน EQE ส่วนเมืองไทยจะประเดิมด้วย EQS เป็นรุ่นแรก หลังจากเปลี่ยนแผนไม่ขายรุ่น EQC ในปี 2563
หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,672 วันที่ 22 - 24 เมษายน พ.ศ. 2564