เมอร์เซเดส-เบนซ์ อ้อนรัฐบาลไทยหนุน EV พรีเมี่ยม

20 ธ.ค. 2564 | 02:06 น.
อัปเดตล่าสุด :20 ธ.ค. 2564 | 09:07 น.

เมอร์เซเดส-เบนซ์ โปรยยาหอมรัฐบาลว่า มาถูกทางในการสนับสนุน EV แต่ขอให้มีความชัดเจนเรื่องการขยายสถานีชาร์จ และสิทธิประโยช์อื่นๆ ให้แก่บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ และผู้บริโภค

เมอร์เซเดส-เบนซ์ ถือเป็นค่ายรถยนต์ระดับเมเจอร์ ที่พร้อมประกอบรถพลังงานไฟฟ้า 100% EV ในไทยเป็นรายแรก โดยเตรียมขึ้นสายการผลิตช่วงครึ่งหลังของปี 2565 กับรุ่น EQS 

 

นายโรลันด์ โฟล์เกอร์ ประธานบริหาร บริษัท เมอร์เซเดส-เบนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า นโยบายส่งเสริมการใช้ พร้อมสร้างฐานการผลิต EV ในไทย เพื่อความแข็งแกร่งของอุตสาหกรรมยานยนต์ ถือว่าสอดคล้องกับนโยบายของบริษัทที่มุ่งสู่การผลิต EV 100% ภายในปี 2030 เพียงแต่รัฐบาลต้องสนับสนุนให้เกิดดีมานด์ และมีแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างชัดเจน

โรลันด์ โฟล์เกอร์

“คนจะไป EV ไม่ได้จะไปเพราะรักษ์โลกเท่านั้น แต่ไปเพราะการสนับสนุนของรัฐบาล ซึ่งในสถานการณ์แบบนี้ เราคงเรียกร้องอะไรไม่ได้ แต่เราเป็นบริษัทเดียวที่ไม่รอนโยบายรัฐ เราลงทุนไปก่อนโดยไม่รอว่าจะได้การสนับสนุนเท่าไหร่ บ่งบอกถึงความจริงใจของเราในการตั้งฐานการผลิต EV ในไทย” 

 

ตามนโยบายระดับโลกของเมอร์เซเดส-เบนซ์ เอจี และกลยุทธ์ในการก้าวสู่การเป็นผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าอย่างเต็มตัวทั่วโลกภายในทศวรรษนี้ เมอร์เซเดส-เบนซ์  ประเทศไทย เริ่มต้นด้วยการเปิดตัว EQS รถยนต์ไฟฟ้าเต็มรูปแบบคันแรก พร้อมแผนการประกอบรถยนต์รุ่นนี้ในประเทศไทย รวมถึงโรงงานผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์พลังงานไฟฟ้า ทั้งรถยนต์ปลั๊กอินไฮบริดและรถยนต์ไฟฟ้าเต็มรูปแบบ 

โรลันด์ โฟล์เกอร์ กล่าวว่า ประเทศไทยเป็น 1 ใน 7 ที่ตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่และโรงงานประกอบรถยนต์ที่เรามีทั่วโลก เพราะเรามั่นใจในศักยภาพของตลาด และเล็งเห็นความสำคัญของการถ่ายทอดเทคโนโลยี รวมไปถึงการที่เรามีความตั้งใจที่จะทำงานร่วมกับภาครัฐในการใช้พลังงานไฟฟ้าเป็นปัจจัยหนึ่งในการขับเคลื่อนประเทศ 

เมอร์เซเดส-เบนซ์ อ้อนรัฐบาลไทยหนุน EV พรีเมี่ยม

ที่ผ่านมารัฐบาลอาจจะมุ่งการส่งเสริมไปที่ EV ตลาดแมสเราจึงอยากให้รัฐบาลให้ความสำคัญ กับค่ายรถพรีเมี่ยมที่เป็นผู้นำเทคโนโลยีเข้ามาในไทย ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยให้เติบโตรุดหน้า และยังประโยชน์ให้กับประเทศไทย ซัพพลายเออร์ไทย และคนไทยอย่างต่อเนื่องในอนาคต

 

“สิ่งที่สำคัญคือ การกระตุ้นความต้องการของตลาดยานยนต์ไฟฟ้า การวางแผนขยายจำนวนสถานีชาร์จ รวมถึงการสร้างโครงข่ายสนับสนุนเพื่อเพิ่มศักยภาพในการผลิต และการวางแผนดำเนินงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชน” นายโฟล์เกอร์ กล่าวสรุป

 

ทั้งนี้ โรงงานผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าในไทย อยู่ภายใต้การดูแลของบริษัท ธนบุรี เอ็นเนอร์ยี่ สตอเรจ แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด (TESM) มีกำลังการผลิตแบตเตอรี่ที่ 30 ชุดต่อวัน