ตามที่รัฐบาลไทยออกมาตรการส่งเสริมให้เกิดการใช้รถพลังงานไฟฟ้า EV ในวาระเร่งด่วนระหว่างปี 2565-2568 ทั้งปิกอัพ รถยนต์นั่ง และ มอเตอร์ไซค์ EV
ในกลุ่มรถมอเตอร์ไซค์ EV ราคาขายไม่เกิน 150,000 บาท จะเสียภาษีสรรพสามิตเพียง 1% พร้อมรับเงินอุดหนุน 18,000 บาทต่อคัน ครอบคลุมทั้งรถประกอบในประเทศ CKD และรถนำเข้า CBU แต่ค่ายรถที่ต้องการใช้สิทธิประโยชน์นี้ ต้องทำตามเงื่อนไขต่างๆ ของรัฐบาล และในปี 2567 ต้องเริ่มผลิตชดเชย ในสัดส่วนเท่ากับการ นำเข้ามาขายก่อนในปี 2565-2566
ขณะที่บรรดารถมอเตอร์ไซค์ EV จากจีน ตลอดจนแบรนด์ไทยที่ใช้เทคโนโลยีจากจีนและไต้หวัน ทยอยบุกเบิกตลาด รวมถึงสตาร์ทอัพ คือ “อีทราน” และ “เอดิสัน มอเตอร์” ที่ร่วมกับพันธมิตรขยายตลาด ทั้งรูปแบบรถส่วนบุคคล รถเช่า และไรเดอร์ กลุ่มมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ปัจจุบันทุกค่ายมียอดขายรวมกันไม่ถึง 5,000 คันต่อปี ซึ่งยังเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก เมื่อเทียบกับตลาดรวม 1.6 ล้านคัน
ส่วนค่ายรถจักรยานยนต์ญี่ปุ่น“ฮอนด้า” และ “ยามาฮ่า” ที่ครองส่วนแบ่งการตลาดในไทยรวมกันกว่า 90% ในปี 2565 เริ่มมีกลยุทธ์ EV ที่ชัดเจนมากขึ้น
โดยไทยยามาฮ่า มอเตอร์เตรียมเปิดตัว มอเตอร์ไซค์ EV ในไทยภายในปีนี้ และเป็นรถที่พัฒนาขึ้นมาโดยบริษัทเอง หรือไม่ได้เป็นโปรเจกต์ร่วมกับค่ายรถจักรยานต์อื่นๆ
ส่วนเจ้าตลาดไทยฮอนด้า แม้จะแบ่งรับแบ่งสู้เรื่องการเปิดตัวพร้อมขายต่อสาธารณะชนอย่างเป็นทางการแต่ 3-4 ปีที่ผ่านมา เริ่มนำร่องศึกษาอย่างจริงจัง เพื่อเก็บข้อมูลให้รอบด้าน
นายชิเกโตะ คิมูระ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไทยฮอนด้า แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด เปิดเผยว่า แผนงานด้านรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า EV เบื้องต้นจะเป็นการจับมือกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อทดลอง และศึกษาเก็บข้อมูลก่อน
“รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า EV ของฮอนด้า เริ่มโครงการตั้งแต่ปี 2561 โดยจับมือกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เพื่อทำการศึกษารวมถึงส่งรถ Honda PCX EV และ Honda Benly-e ให้ดีทแฮล์ม (DKSH) ใช้ทดลองวิ่งขนส่งสินค้า ซึ่งเราจับตามองโครงการต่างๆ นี้อย่างใกล้ชิด”
บริษัทแม่ประกาศชัดเจนเกี่ยวกับลดคาร์บอนทั้งในส่วนของรถยนต์ รถจักรยานยนต์ และในขณะนี้ยังอยู่ในช่วงการพัฒนา EV เพื่อให้สามารถตอบสนองผู้ใช้งานทั่วโลกได้ ในขณะที่รัฐบาลหลายประเทศได้ตั้งเป้าหมายจากรถนํ้ามัน (Internal Combustion Engine - ICE) สู่รถพลังงานไฟฟ้า ซึ่งเราเองก็ร่วมมือกับภาครัฐ และหน่วยงานการศึกษาเพื่อทำการทดลองพร้อมทดสอบในการใช้งานจริง หวังตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายให้ได้ใกล้เคียงมากที่สุด
ด้านการลงทุนเพิ่มเติมในส่วนของโรงงานผลิต เพื่อรองรับรถจักรยานยนต์ไฟฟ้านั้น เบื้องต้นยังตอบไม่ได้ว่าจะมากหรือน้อย เพราะภาพรวมตลาดรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าในไทยยังไม่ได้เติบโตมากนัก ประเมินว่าตลาดคงที่ อย่างไรก็ตามหากจะลงทุน น่าจะเป็นการปรับสัดส่วนการผลิตระหว่างรถเครื่องยนต์ปกติ (ICE) กับ EV
ล่าสุด ไทยฮอนด้า สนับสนุนโครงการ Smart Safety Zone 4.0 โดยนำรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า Honda Benly-e จำนวน 8 คัน ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ จ.ชลบุรี ไปใช้ปฎิบัติภารกิจ เป็นระยะเวลา 1 ปี
นอกจากนี้ ยังติดตั้งจุดสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ซึ่งประกอบด้วยแท่นชาร์จและแบตเตอรี่สำรอง ในพื้นที่ 3 จุด ได้แก่ สถานีตำรวจภูธรเมืองชลบุรีสถานีตำรวจภูธรแสนสุข และสถานีตำรวจภูธรเมืองพัทยา
“นอกเหนือจากแผนการเปิดตัวรถรุ่นใหม่ และการจับตามองเทรนด์รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า อีกหนึ่งแผน งานที่เราพยายามเน้นในปีนี้คือ เร่งผลิตรถเพื่อส่งมอบให้กับลูกค้า ซึ่งใน ปี 2564 มียอดค้างส่งมอบจำนวนมากโดยคาดว่าภายในไตรมาสแรกของปีนี้ จะเคลียร์ให้เรียบร้อยได้” นายคิมูระ กล่าวสรุป
ทั้งนี้ ในปี 2563 ประเทศไทยมี ยอดจดทะเบียน มอเตอร์ไซค์ EV ประมาณ 1,500 คัน และปี 2564 มีตัวเลขอยู่ที่ 3,673 คัน