การเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์พลังงานไฟฟ้าอย่างก้าวกระโดด ทั้งในเชิงเทคโนโลยี และเชิงความต้องการก็สร้างแรงกระเพื่อมทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นทางบวกและทางลบ ต่ออุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อุตสาหกรรมหนึ่งที่น่าจะได้รับผลกระทบเชิงลบที่มีนัยสำคัญต่อการเติบโตทางธุรกิจ คือ อุตสาหกรรมน้ำมัน แม้จะอยู่รอด แต่ก็อาจจะไม่แข็งแรงเหมือนในอดีต
เหลียวมามองที่บ้านเราหรือเมืองไทย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท. ผู้นำในอุตสาหกรรมน้ำมันของประเทศไทย ก็ยากที่จะหลบพ้นกระแสความแรงของรถไฟฟ้า แต่ก็ต้องยกย่องนับถือที่ ปตท. สามารถปรับตัวและวางกลยุทธ์ได้อย่างเหมาะสมในช่วงสิบปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะการกระจายธุรกิจออกไปอย่างกว้างขวาง และประสบความสำเร็จในเกือบทุกวงการที่ตนย่างกรายเข้าไป
ปัจจัยหนึ่ง ที่ต้องยอมรับคงหนีไม่พ้นความเป็นยักษ์ใหญ่ของ ปตท. ที่พรั่งพร้อมด้วยทุนทางการเงินและทุนมนุษย์ แต่ในรอบสองปี ปตท. ก็ประกาศว่า ตนจะก้าวไปสู่อุตสาหกรรมผลิตรถไฟฟ้าชั้นแนวหน้า เพื่อเป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อนการเติบโตใหม่ของบริษัท คำประกาศดังกล่าวถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ขององค์กร ที่มาพร้อมกับความเสี่ยงขนาดมหึมาเช่นเดียวกัน
ด้วยสถานะความเป็นรัฐวิสาหกิจของ ปตท. ที่รัฐบาลไทยถือหุ้นใหญ่ เรื่องดังกล่าวก็นำไปสู่ข้อกังขาว่า การลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของ ปตท. นั้น มีความเหมาะสมเพียงใด ซึ่งความเหมาะสมนั้น มิใช่เรื่องทางธุรกิจแต่เพียงด้านเดียว หากแต่ยังเป็นเรื่องของบทบาทของ ปตท. ที่เป็นเครื่องมือของรัฐบาล ในการแทรกแซงตลาดและการรักษาความมั่นคงของชาติ
ย้อนกลับไปในอดีตสมัยรัฐบาลของ พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ อินทรีบางเขน ผู้โปรดปรานแกงเขียวหวานใส่บรั่นดี รัฐบาลได้เสนอรัฐสภาให้ตราพระราชบัญญัติการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2521 เพื่อจัดตั้งการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยขึ้นมา
โดยให้มีภารกิจหลัก คือ การประกอบและส่งเสริมธุรกิจปิโตรเลียม รวมถึงดำเนินการธุรกิจอื่นที่เกี่ยวกับ หรือ ต่อเนื่องกับการประกอบธุรกิจปิโตรเลียม เพื่อให้เกิดประโยชน์มากที่สุดแก่เศรษฐกิจและความมั่นคงของประเทศ ซึ่งได้ควบรวมกิจการของกรมการพลังงานทหาร และที่เกี่ยวกับโรงกลั่นน้ำมัน กระทรวงกลาโหม องค์การเชื้อเพลิง และองค์การก๊าซธรรมชาติแห่งประเทศไทย เข้าด้วยกันเป็นหน่วยงานเดียว เพื่อความเป็นเอกภาพเชิงนโยบายและการปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาล
ด้วยภารกิจอันสำคัญของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยในขณะนั้น การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย จึงเป็นกลไกของรัฐที่ช่วยบรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำมัน ซึ่งเกิดจากวิกฤตการณ์น้ำมันโลกได้อย่างมีประสิทธิผล
จนกระทั่งรัฐบาลของ นายทักษิณ ชินวัตร นำการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และกลายสภาพมาเป็น บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ดังเช่นทุกวันนี้ เมื่อแปลงร่างมาเป็นบริษัทจดทะเบียนแล้ว ปตท. ก็โลดแล่นในเส้นทางธุรกิจได้อย่างน่าประทับใจ
จนวันนี้ ปตท. ขนานนามตนเองว่าเป็น “บริษัทพลังงานข้ามชาติ” ไปเสียแล้ว แต่เรื่องหนึ่งที่น่ายกขึ้นมาเป็นข้อตระหนัก คือ การเติบโตของ ปตท. ส่วนหนึ่งเกิดจากอำนาจมหาชนที่รัฐตรากฎหมายให้อำนาจไว้ จน ปตท. มีสิทธิ์เหนือเอกชนรายอื่น และยากที่เอกชนจะแข่งขันได้
“เอกสิทธิ์” ที่ ปตท. ครอบครองเพื่อดำเนินกิจการ ก็เป็นไปเพื่อมุ่งผลสัมฤทธิ์ตามภารกิจที่รัฐกำหนดไว้ กล่าวคือ ปตท. มีหน้าที่รักษาเสถียรภาพเกี่ยวกับพลังงาน เพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจและความมั่นคงของประเทศ แต่วันนี้ขอบเขตการประกอบธุรกิจของ ปตท. ดูเหมือนว่าจะไปไกลว่าขอบเขตของภารกิจหลักที่เคยกำหนดไว้ไปเสียแล้ว
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 75 วรรคสอง บัญญัติเกี่ยวกับบทบาทของรัฐในทางเศรษฐกิจเอาไว้ว่า “รัฐต้องไม่ประกอบกิจการที่มีลักษณะเป็นการแข่งขันกับเอกชน เว้นแต่กรณีที่มีความจําเป็นเพื่อประโยชน์ในการรักษาความมั่นคงของรัฐ การรักษาผลประโยชน์ส่วนรวม การจัดให้มีสาธารณูปโภค หรือการจัดทําบริการสาธารณะ”
การกำหนดบทบาทของรัฐดังกล่าวมิใช่เป็นทางเลือก หากแต่เป็นบทบังคับให้รัฐต้องปฏิบัติตาม เพื่อให้ระบบเศรษฐกิจแบบตลาดสามารถเติบโตได้อย่างเต็มที่ โดยไม่กีดขวางความเจริญของภาคเอกชน
แท้จริงแล้ว ปตท. ควรจะต้องกำหนดบทบาทของตนเองไว้ในภารกิจที่ตนได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ในฐานะรัฐวิสาหกิจเท่านั้น และจะต้องหลีกเลี่ยงการแข่งขันกับเอกชนอย่างไม่มีข้อแม้ใดๆ ทั้งสิ้น
ดังนั้น การหันกลับมาทบทวนบทบาทของ ปตท. ว่าสอดคล้องกับภารกิจที่กำหนดไว้หรือไม่ จึงเป็นเรื่องสำคัญ และจำเป็นอย่างเร่งด่วน เนื่องจากการขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ ของ ปตท. ย่อมมีผลต่อระบบเศรษฐกิจไม่มากก็น้อย
มิเพียงเท่านั้น การนำทรัพยากรทางเศรษฐกิจของประเทศที่อยู่ใน ปตท. ไปลงทุนในธุรกิจที่ตนไม่เชี่ยวชาญ และไม่ใช่หน้าที่ อย่างอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า และต้องแข่งขันกับบรรษัทยานยนต์ระหว่างประเทศอย่างเทสล่าหรือโตโยต้า ซึ่งใหญ่กว่า ปตท. หลายเท่าก็เป็นความเสี่ยงทางการคลังที่จะกระทบต่อฐานะการเงินของประเทศในอนาคตได้
แล้ว ปตท. ควรทำเช่นไร? จริงๆ คำถามนี้ก็ถูกตอบไว้ในรัฐธรรมนูญแล้ว หาก ปตท. ต้องการสร้างการเติบโตให้ประทับใจผู้ถือหุ้น ปตท. ก็ควรปลดสถานะความเป็นรัฐวิสาหกิจ และเข้าดำเนินการทางธุรกิจในฐานะบริษัทเอกชนอย่างแท้จริง
นอกจากนี้ รัฐ (มิใช่รัฐบาล) ก็จะสามารถสร้างหน่วยงานของรัฐในฐานะรัฐวิสาหกิจขึ้นมาทดแทน เพื่อปฏิบัติภารกิจรักษาเสถียรภาพเกี่ยวกับพลังงาน เพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจและความมั่นคงของประเทศแทน ปตท. แต่ทางเลือกนี้ ปตท. หรือผู้ถือหุ้นของ ปตท. ก็คงไม่เลือก เพราะผลตอบแทนทางการเงินจากภารกิจนี้มันได้เป็นกอบเป็นกำ แล้วทางเลือกอื่นของ ปตท. มีหรือไม่?
ลองพิจารณาด้วยใจเป็นธรรมสักนิดว่า แท้จริงแล้ว ปตท. ควรทำหน้าที่อะไร ก็จะทราบคำตอบในทันที สมมุติว่า ยานยนต์พลังงานไฟฟ้าจะเข้ามาแทนที่ยานยนต์เชื้อเพลิงน้ำมัน หรือ ก๊าซธรรมชาติ ความสำคัญของการจัดหาน้ำมันของปตท. ก็จะลดน้อยลงไป แต่ปริมาณความต้องการไฟฟ้าก็จะมากขึ้น ซึ่งการดูแลเสถียรภาพของพลังงานไฟฟ้า กลับเป็นหน้าที่ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยไปเสียแล้ว
แต่อย่าลืมว่า มิใช่เพียงไฟฟ้าอย่างเดียวเท่านั้น ที่ทำให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าประสบความสำเร็จ แต่สภาพแวดล้อม หรือ ระบบนิเวศของยานยนต์ไฟฟ้าก็เป็นปัจจัยสำคัญเช่นเดียวกัน อาทิ สถานีเติมพลังงานไฟฟ้า การวิจัยและพัฒนาแบตเตอรี่บรรจุไฟฟ้า หรือ แม้แต่การบำรุงรักษา ตลอดจนการจัดหาเชื้อเพลิงเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า เป็นต้น
หาก ปตท. ประสงค์จะลงทุนเพื่อการเติบโตขององค์กรแล้ว ปตท. ควรกลับมาคิดเรื่องของระบบนิเวศของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าเสียดีกว่า และหาญกล้าที่จะลงทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของระบบโลจิสติกส์ของประเทศไทย ที่ไม่ใช่ระบบราง เช่น รถบรรทุกพลังงานไฟฟ้า หรือ รถขนส่งมวลชนพลังงานไฟฟ้า เป็นต้น ซึ่งเป็นภารกิจหลักของรัฐที่ชัดเจนกว่าการนำทรัพยากรของชาติไปเสี่ยงกับอุตสาหกรรมที่ตนไม่เชี่ยวชาญแม้แต่น้อย