ฉายภาพอุตฯยานยนต์ไทย จากวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 สู่ปี 2567

02 ก.ค. 2567 | 06:36 น.
อัปเดตล่าสุด :02 ก.ค. 2567 | 08:23 น.

"สุรพงษ์" โฆษกกลุ่มยานยนต์ ส.อ.ท.เผย อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยได้อานิสงค์อะไรจากวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งปี 2540 พร้อมฉายภาพปี 2567 จะซ้ำรอยอดีตหรือไม่

วันที่ 2 กรกฎาคม 2567 ครบรอบ 27 ปีการลอยตัวค่าเงินบาท จากวิกฤตเศรษฐกิจในช่วงปี 2540 หรือ วิกฤตต้มยำกุ้ง ที่ทำให้เศรษฐกิจไทยพังทลาย 

 

ปัจจุบันปี 2567 ภาพรวมเศรษฐกิจไทยยังคงเผชิญความท้าทายทั้งจากในประเทศและจากต่างประเทศ ซึ่งจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานี้ เมื่อมองย้อนกลับไปยังอดีตที่ผ่านมาจะมีโอกาสซ้ำรอยกันหรือไม่ 

 

วันนี้ "ฐานเศรษฐกิจ" นำบทสัมภาษณ์พิเศษ "สุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์" โฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ที่จะมาบอกเล่าและฉายภาพ อานิสงค์ลอยตัวค่าเงินบาท ต่างชาติแห่ลงทุนไทย 

 

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ เปิดเผยว่า หลังจากมีการประกาศลอยตัวค่าเงินบาท และมีมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจออกมาทำให้มีเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติไหลเข้ามาเป็นจำนวนมาก และทำให้ไทยกลายเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออกสินค้าหลากหลายประเภท 
 

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

 

“เมื่อมองย้อนกลับไปดูวิกฤตเศรษฐกิจต่างๆ ที่เกิดขึ้น ก็ต้องบอกว่า ต้มยำกุ้งหนักสุด ส่วนโควิด -19 หรือ น้ำท่วม ก็เป็นผลกระทบระยะสั้น โดยต้มยำกุ้งนั้นกระทบภาพใหญ่ทั่วทั้งเอเชีย กระทบหลายอุตสาหกรรม สถาบันการเงิน บริษัทประกันภัย อสังหาริมทรัพย์ล้มกันหมด เพราะตอนนั้น เรามีหนี้ต่างประเทศสูงมาก มีการกู้เงินจากต่างประเทศเข้ามาเป็นจำนวนมากเพราะดอกเบี้ยต่ำ ดังนั้นพอเกิดวิกฤตและมีการปรับระบบการเงิน มีการลอยตัวค่าเงินบาท ทำให้หนี้สินเพิ่มขึ้นและทำให้เอกชน แบงค์ต่างๆไม่สามารถใช้หนี้ได้ และล้มกันตามระเบียบ" 

 

สำหรับวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในอดีต ในแง่ของอุตสาหกรรมยานยนต์ ทำให้บริษัทแม่ฯหลายแบรนด์ เข้ามาลงทุนในประเทศไทยเอง เพราะบริษัทฯในไทยไม่สามารถที่จะกู้เงินหรือเพิ่มทุนได้ ซึ่งในกรณีนี้เองนายสุรพงษ์ มองว่า ในเรื่องร้ายก็มีเรื่องดีอยู่ เพราะนั่นทำให้ไทยกลายเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออกรถยนต์ไปทั่วโลก 

 

"อานิสงค์จากวิกฤตเศรษฐกิจ การลอยตัวค่าเงินบาท ทำให้นักลงทุนต่างชาติหันมาลงทุนในไทยเพิ่มมากขึ้น ซึ่งรวมถึงค่ายรถต่างๆและนั่นทำให้เรากลายเป็นฐานการผลิตรถยนต์ของโลก ยกตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ โปรดักต์แชมเปียน อย่างรถกระบะ ที่ไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออกไปยังตลาดโลก" 


 

ไทย ฐานการผลิตรถยนต์ส่งออกไปยังทั่วโลก

เมื่อถูกถามว่า สถานการณ์จะซ้ำรอยหรือไม่ เมื่อเปรียบเทียบสถานการณ์ในปัจจุบันกับอดีต นายสุรพงษ์ กล่าวว่า ปัจจุบันสถานะเงินทุนสำรองของประเทศยังคงแข็งแกร่ง ธนาคารต่างๆมีเสถียรภาพ ส่วนปัจจัยเรื่องค่าเงินในตอนนี้ ก็เกิดขึ้นจากปัญหาเรื่องหนี้ครัวเรือน เศรษฐกิจเติบโตในอัตราที่ต่ำ เงินลงทุนในประเทศน้อยเมื่อเทียบกับประเทศต่างๆ ซึ่งหากสถานการณ์ยังคงเป็นเช่นนี้ ก็คาดว่าจีดีพี GDP ที่เคยประเมินว่าจะอยู่ที่ 2.5 % ก็อาจจะไม่ถึง 

 

"เรามีประสบการณ์จากอดีต ในยุควิกฤตเศรษฐกิจ ดังนั้นหากมองภาพในตอนนี้ก็ต้องบอกว่าไทยยังแข็งแกร่ง เรามีเงินสำรอง ไม่มีหนี้ระยะสั้น แบงค์มีความมั่นคง แต่สิ่งที่กังวลคือเศรษฐกิจของเราไม่โต หรือ โตในระดับที่ต่ำ เพราะไม่มีเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติเข้ามามากเหมือนในอดีต ซึ่งหากเงินลงทุนเข้ามาน้อย แน่นอนว่าการจ้างงานก็ไม่เติบโต และทำให้ไทยเรายังคงติดอยู่กับการเป็นประเทศรายได้ปานกลางระดับสูง" 

 

นายสุรพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมเกี่ยวกับแนวทางที่ภาครัฐและภาคเอกชนมุ่งผลักดันเพื่อให้เศรษฐกิจฟื้นตัว ผ่านนโยบายต่างๆ อาทิ อสังหาริมทรัพย์ ซึ่งหากอสังหาริมทรัพย์ฟื้นตัวหรือเติบโต ก็จะทำให้อุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องต่างๆ ฟื้นตัวตามไปด้วย ขณะเดียวกันเงินรัฐฯ ต้องเร่งเบิกจ่ายเงินงบประมาณ เพื่อให้เกิดการลงทุน ให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนเข้ามาในระบบ 

 

"สาเหตุที่ยกตัวอย่างธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เพราะว่าหากมองไปทั้งระบบ ถ้าธุรกิจนี้โต ก็จะช่วยทั้งระบบ ตั้งแต่เรื่องแรงงาน อุตสาหกรรมก่อสร้าง การจัดเก็บภาษีค่าโอน ภาษีเงินได้ อย่างไรก็ตามสิ่งที่กังวลก็คือหากทุกอย่างค่อยๆฟื้นตัวก็คาดหวังว่าราคาสินค้าอุปโภคบริโภคต่างๆจะไม่ขึ้นราคา จะไม่แพงขึ้น" 

 

ขณะที่อุตสาหกรรมยานยนต์ในปีนี้ สถานการณ์ใน 5 เดือนแรกยังคงชะลอตัว โดยเฉพาะยอดขายรถใหม่ในประเทศที่ติดลบ 23.8% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ซึ่งนายสุรพงษ์ กล่าวแสดงความเห็นว่า ตลาดรถยนต์ในตอนนี้ ขึ้นอยู่กับการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน เพราะหากแบงค์ไม่อนุมัติก็ขายไม่ได้ รวมไปถึงการจัดสรรงบประมาณของภาครัฐฯที่มีความล่าช้า 

 

"เซลส์อยากขายรถ มีรถพร้อมส่ง แต่หากแบงค์เช็คความพร้อมของผู้ซื้อ เช็คเครดิตบูโรแล้วไม่ผ่าน ก็คือไม่อนุมัติ ทั้งนี้เพราะแบงค์กังวลเรื่องหนี้ครัวเรือนที่สูง แบงค์ไม่อยากปล่อยสินเชื่อ แล้วต้องตามมายึดรถและนำมาประมูล ซึ่งตรงนี้ก็จะมีผลเรื่องขาดทุน-กำไร หนี้เสียต่างๆที่จะเกิดขึ้น"

 

ตลาดรถยนต์ปี 67 ยอดขายชะลอตัว