หลังจากเมอร์เซเดส-เบนซ์ ประเทศไทย ทำตลาดรถพลังงานไฟฟ้า EV รุ่นแรกคือ EQS โดยแบ่งเป็น การนำเข้าล็อตแรก (ประมาณ 20 คัน) ก่อนเริ่มประกอบในประเทศปลายปี 2565 พร้อมแต่งตั้ง 4 เอ็กซ์คลูซีฟดีลเลอร์คือ บีเคเค, ไพรม์มัส, ทีทีซี และพระราม 3 ให้ดูแลการขายและบริการหลังการขาย
สำหรับ EQS 500 4MATIC AMG Premium รุ่นประกอบในประเทศ ราคา 7.9 ล้านบาท ใช้มอเตอร์ 2 ตัวขับเคลื่อนล้อหน้าและหลัง ให้กำลังรวม 449 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 828 นิวตัน เมตร อัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. 4.8 วินาที ความเร็วสูงสุด 210 กม./ชม. ส่วนแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนความจุ 108.4 kWh ชาร์จไฟเต็มหนึ่งครั้งวิ่งได้ระยะทาง 702 กิโลเมตร (WLTP)
ล่าสุดประธานคนใหม่ของ เมอร์เซเดส-เบนซ์ ประเทศ ไทย “มาร์ทิน ชเวงค์” ยืนยันว่า จากนี้ไปผู้จำหน่ายทุกรายจะได้สิทธิ์การขาย EV ภายใต้แบรนด์ EQ
“หลังจากประชุมดีลเลอร์ ทั่วประเทศ เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เราประกาศปรับนโยบายใหม่ โดยให้ดีลเลอร์ที่มีความต้องการขายรถพลังงานไฟฟ้า EV ยื่นความประสงค์เพื่อรับ สิทธิ์การเป็นผู้จำหน่ายแบรนด์ Mercedes EQ” นายชเวงค์ กล่าวและว่า
เมอร์เซเดส-เบนซ์ จะมีโปรดักต์ EV ในพอร์ตโฟลิโอมากขึ้น ตั้งแต่ระดับแฟลก ชิปโมเดล จนถึงรถที่มีราคาสมเหตุสมผล ขณะเดียวกันยังให้ทุกดีลเลอร์ได้สิทธิ์ขายแบรนด์ Mercedes EQ นอกจาก 4 เอ็กซ์คลูซีฟดีลเลอร์ที่ได้สิทธิ์ไปก่อนหน้า
“เราปรับแผนงาน EV ให้เร็วขึ้นด้วย โปรดักต์ที่หลากหลาย โดยพยายามดึง โมเดลนำเข้ามาก่อน ส่วนแผนประกอบในประเทศเพิ่มเติม นอกเหนือไปจาก EQS มีโอกาสได้เห็นแน่นอน” นายชเวงค์ กล่าวสรุป
สำหรับ EV รุ่นที่สองที่เมอร์เซเดส-เบนซ์ เตรียมทำตลาดในไทย คือ คอมแพกต์เอสยูวี 7 ที่นั่ง รุ่น EQB โดยจะเปิดตัวในวันที่ 13 มีนาคมนี้ ก่อนที่จะเข้าไปอวดโฉมในงานบางกอก มอเตอร์โชว์ 2023
ในตลาดโลก EQB มีทั้งรุ่นมอเตอร์ตัวเดียวขับเคลื่อนล้อหน้า และรุ่นมอเตอร์ 2 ตัวขับเคลื่อนสี่ล้อ แต่ใช้ชุดแพกแบตเตอรี่ความจุเท่ากันคือ 66.5 kWh โดยระยะทางวิ่งในรุ่นมอเตอร์ตัวเดียวอยู่ที่ 469 กม. และรุ่นมอเตอร์ 2 ตัว 410 กม.
นอกจาก EQB แล้ว เมอร์เซเดส-เบนซ์ ประเทศไทย ยังเตรียมนำเข้า EV รุ่นใหม่มาทำตลาดอีกอย่างน้อย 1 รุ่น ซึ่งโมเดลที่มีความเป็นไปได้คือ EQS เอสยูวี
ทั้งนี้ ช่วงเดือนธันวาคมที่ผ่านมา บริษัท เมอร์เซเดส-เบนซ์ แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ตามมาตรการสนับสนุนการใช้รถพลังงานไฟฟ้ากับกรมสรรพสามิต เพื่อขอรับสิทธิ์ประโยชน์ต่างๆ
นั่นหมายความว่า กรณีที่เมอร์เซเดส- เบนซ์ ต้องการนำเข้า EV มาขายในกลุ่มราคาเกิน 2 ล้านบาท จะได้ลดภาษีศุลกากร (ภาษีนำเข้า) จาก 80% เหลือ 60% และภาษีสรรพสามิตจาก 8% เหลือ 2% เพียงแต่จะไม่ได้เงินสนับสนุน 1.5 แสนบาทต่อคัน และหากยอมรับแพกเกจนี้ จะต้องมีแผนผลิตในประเทศชดเชยในจำนวนที่เท่ากับ หรือมากกว่าเป็น 1.5 เท่า ตั้งแต่ปี 2567-2568 เป็นต้นไป โดยกลุ่ม EV ราคา 2-7 ล้านบาท หากนำเข้ารุ่นไหนมาต้องผลิตชดเชยให้ตรงรุ่นนั้นๆ
นอกจากการปรับนโยบายด้าน EV แล้ว ภารกิจสำคัญของนายมาร์ทิน ชเวงค์ คือการนำแผนงาน Retail of the Future มาใช้ในไทย โดยมุ่งสู่แพลตฟอร์มดิจิทัลเต็มตัว พร้อมการเปลี่ยนสถานะของดีลเลอร์ ในปัจจุบันให้เป็น “เอเจนต์” (ต้องมาเซ็นสัญญากันใหม่) ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่ปี 2567
ถือเป็นการปรับโครงสร้างทางธุรกิจครั้งใหญ่ ระหว่างเมอร์เซเดส- เบนซ์กับคู่ค้า กล่าวคือระบบเดิมที่ดีลเลอร์ต้องนำเงินไปซื้อรถกับเมอร์เซเดส-เบนซ์ ประเทศไทย พร้อมตุนสต๊อกรอการขายไว้ แต่แผน Retail of the Future ดีลเลอร์จะถูกเปลี่ยนบทบาทเป็น “เอเจนต์” ช่วยปล่อยรถและรับค่าคอมมิชชัน โดยไม่ต้องลงทุนสต๊อกรถอีกต่อไป
ในประเด็นนี้ ประธานใหญ่ของ เมอร์เซเดส-เบนซ์ ประเทศไทย ออกมายอมรับว่า รูปแบบธุรกิจใหม่มีความซับซ้อนในรายละเอียด
“Retail of the Future ที่บริษัทจะนำมาใช้ถือเป็นเรื่องท้าทาย เพราะต้องเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินธุรกิจที่ทำกันมานาน ขั้นตอนต่างๆ ต้องเปลี่ยน ใหม่ทั้งหมด ไม่เฉพาะตัวดีลเลอร์ เท่านั้น แต่เป็นระบบหลังบ้านของเมอร์เซเดส-เบนซ์ ประเทศไทยด้วย ทั้งฝ่ายไอที บัญชีการเงิน ตลอดจนความซับซ้อนเรื่องกฎหมาย ที่มีความแตกต่างกันในแต่ละประเทศ” นายชเวงค์ กล่าวสรุป