กรมการขนส่งทางบก เปิดสถิติการจดทะเบียนยานยนต์ไฟฟ้าตั้งแต่เดือนมกราคม - พฤษภาคม 2566 พบว่ามีรถยนต์ไฟฟ้าที่จดทะเบียนใหม่จำนวนทั้งสิ้น 33,367 คัน แบ่งเป็นรถยนต์นั่ง 33,367 คัน รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า 8,262 คัน ,รถตุ๊กตุ๊ก สามล้อ 123 คัน ,รถโดยสาร 836 คัน และ รถบรรทุก 81 คัน
ขณะที่ยอดจดทะเบียนยานยนต์ไฟฟ้าที่เป็นปลั๊ก -อิน ไฮบริด (PHEV) มีจำนวนทั้งสิ้น 5,197 คัน และ ไฮบริด (HEV) จำนวน 38,647 คัน
นางสิริรัตน์ วีรวิศาล รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวว่า ยอดจดทะเบียนรถพลังงานไฟฟ้าทั่วประเทศในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา เติบโตกว่า 474.43 % แสดงให้เห็นถึงความสนใจที่ประชาชนหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น
" ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ส่วนหนึ่งเกิดจากการใช้รถที่มีเครื่องยนต์เผาไหม้ภายในไม่สมบูรณ์ทำให้เกิดการปล่อยไอเสียและเกิดสารละอองที่เป็นอนุภาคขนาดเล็กที่ประกอบด้วยเขม่าเป็นส่วนใหญ่ (PM 2.5) ดังนั้นรถพลังงานไฟฟ้า หรือรถ EV (Electric Vehicle) จึงเป็นรถทางเลือกในการลดมลพิษทางอากาศเพราะด้วยเทคโนโลยีการขับเคลื่อนของมอเตอร์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าทดแทนพลังงานเชื้อเพลิงอย่างน้ำมัน 100% ทำให้ไม่มีการปล่อยไอเสียและการเผาไหม้ใดๆ ที่ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศได้"
สำหรับกระทรวงคมนาคม กรมการขนส่งทางบก ได้ดำเนินการออกมาตรการในการสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและมีนโนบายต่างๆ ในการสนับสนุนประชาชนให้มาใช้รถที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า เช่น การลดภาษีประจำปีสำหรับรถที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าที่เป็นรถใหม่สำเร็จรูปจากโรงงานและนำมาจดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 10 พ.ย. 2568 โดยให้ลดภาษีลงร้อยละ 80 จากอัตราที่กำหนดตาม (11) ของอัตราภาษีประจำปีท้ายกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ เช่น
รถเก๋งที่ใช้พลังงานไฟฟ้าที่มีน้ำหนัก 1,800 กิโลกรัม ปกติจัดเก็บภาษีประจำปี 1,600 บาท ลดภาษีประจำปีแล้ว คงเหลือ 320 บาท รถตู้ส่วนบุคคลที่ใช้พลังงานไฟฟ้าที่มีน้ำหนัก 1,800 กิโลกรัม ปกติจัดเก็บภาษีประจำปี 800 บาท ลดภาษีประจำปีแล้ว คงเหลือ 160 บาท ส่วนรถจักรยานยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้า ปกติจัดเก็บภาษีประจำปี 50 บาท ลดภาษีประจำปีแล้ว คงเหลือ 10 บาท เป็นต้น โดยการลดภาษีประจำปีเป็นระยะเวลา 1 ปี นับแต่วันที่รถนั้นจดทะเบียน