นโยบายสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าประเภทรถยนต์และรถจักรยานยนต์ หรือ EV 3.0 วงเงินงบประมาณ 3,000 ล้านบาท ซึ่งดำเนินการโดยกรมสรรพสามิต เพื่ออุดหนุนส่วนลดในการซื้อรถยนต์ EV ไม่เกินคันละ 150,000 บาท ล่าสุดวงเงินสำหรับการอุดหนุนดังกล่าว จะรองรับได้แค่ภายในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 หรือถึงเดือนกันยายน นี้ เท่านั้น และจำเป็นต้องเสนอให้กับรัฐบาลเห็นชอบการช่วยเหลือในระยะต่อไป
แต่ที่ผ่านมาการเสนอขออนุมัติวงเงินโครงการสนับสนุน EV ชุดนี้ ติดปมปัญหาสำคัญ เพราะไม่สามารถนำเข้าสู่การพิจารณาในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ทันในช่วงที่รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีอำนาจเต็ม และหากนำเสนอในช่วงรัฐบาลรักษาการ อาจติดบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 169 (1) เพราะจะผลเป็นการสร้างความผูกพันต่อครม.ชุดต่อไป
คลัง จ่อชงครม.ของบกลาง
ล่าสุดแหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล ระบุถึงกรณีนี้ว่า การดำเนินการในเรื่องดังกล่าวมีความจำเป็น ดังนั้น กระทรวงการคลัง จึงเตรียมที่จะเสนอ ครม. เพื่อขออนุมัติงบกลาง รายการสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินและจำเป็นเร่งด่วน พ.ศ.2566 นำมาใช้ในการสนับสนุนมาตรการ EV 3.0 ที่กำลังจะหมดลงในภายในเดือนกันยายน 2566 นี้
“วงเงินที่จะเป็นส่วนช่วยอุดหนุนเป็นส่วนลดในการซื้อรถ EV จะหมดลงตั้งแต่เดือนก.ย.เนื่องจากก่อนหน้านี้มีผู้ที่สนใจซื้อรถยนต์ EV เป็นจำนวนมาก ทำให้วงเงินที่จะเป็นส่วนช่วยอุดหนุนเป็นส่วนลดในการซื้อรถยนต์ EV ไม่เพียงพอถึงสิ้นปี 2566 ตามอายุของมาตรการ EV 3.0 โดยประเมินว่า เงินที่ใช้จะหมดลงในเดือนกันยายน นี้ จึงต้องขอ ครม.อนุมัติวงเงินจากงบกลางฯบางส่วน เพื่อให้ปริมาณการซื้อ EV ของประชาชนไม่สะดุด”
อย่างไรก็ตามเมื่อเข้าสู่การพิจารณาของ ครม.แล้วหาก ครม.ให้ความเห็นชอบก็ต้องส่งเรื่องต่อไปยังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อขออนุมัติ ซึ่งแนวโน้มที่ กกต.จะอนุมัติก็มีความเป็นไปได้ เนื่องจากมาตรการนี้เป็นมาตรการที่มีความต่อเนื่อง ไม่ใช่มาตรการหรือโครงการใหม่ที่จะกระทบการบริหารงานของรัฐบาลหน้า
มาตรการ EV 3.5 รอรัฐบาลใหม่
ส่วนมาตรการสนับสนุนการใช้และผลิตรถอีวีที่เป็นชุดมาตรการต่อเนื่องจากมาตรการเดิม คือ มาตรการ EV 3.5 ที่มีทั้งการอุดหนุนส่วนลดให้กับผู้ซื้อรถอีวีคันละไม่เกิน 100,000 บาท รวมทั้งมาตรการสนับสนุนทางการเงินให้แก่บริษัทที่จะลงทุนในโรงงานผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์อีวีในประเทศไทย นั้น
แหล่งข่าว ระบุว่า จะต้องรอให้รัฐบาลใหม่เข้ามาพิจารณา โดยคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ด EV) เตรียมเสนอมาตรการนี้ ให้ครม.ชุดใหม่พิจารณาเห็นชอบ เพื่อเป็นมาตรการที่จะส่งเสริมการใช้และผลิตรถอีวีในประเทศไทย หลังจากมาตรการดังกล่าว เสนอไม่ทันรัฐบาลปัจจุบัน
เหตุผลความจำเป็นที่ต้องของบ
ก่อนหน้านี้ คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2566 ได้รับทราบว่า ที่ประชุมครม. เมื่อต้นปี 2565 ได้รับทราบแนวทาง การดำเนินนโยบายสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าประเภทรถยนต์และรถจักรยานยนต์ (EV3) และเห็นชอบในหลักการการจัดหาแหล่งงบประมาณในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566-2568 วงเงิน 40,000 ล้านบาท จากแหล่งงบประมาณที่เหมาะสม
โดยการขอใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น วงเงิน 3,000 ล้านบาท เพื่อดำเนินการมาตรการ EV 3 นั้น กรมสรรพสามิตได้รายงานว่า มีจำนวนผู้ประกอบอุตสาหกรรมและผู้นำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าที่ ลงนามข้อตกลงเข้าร่วมมาตรการ รวม 12 ราย แบ่งเป็น ผู้ประกอบการรถยนต์ 9 ราย และผู้ประกอบการ รถจักรยานยนต์ 3 ราย
มีปริมาณของรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ที่ขอรับสิทธิในปี 2565 รวมทั้งสิ้น 39,722 คัน แบ่งเป็นรถยนต์ไฟฟ้า รวม 35,322 คัน และรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า รวม 4,400 คัน โดยงบประมาณจำนวน 3,0000 ล้านบาท จากปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ดังกล่าว สามารถรองรับการดำเนินมาตรการ EV 3 ได้ภายในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 หรือถึงเดือนกันยายน ปี 2566 เท่านั้น
สำหรับแหล่งงบประมาณที่ใช้ในการสนับสนุนมาตรการ EV3 ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567-2568 นั้น คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ เห็นว่า ยังไม่สามารถนำเงินจากกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย และกองทุน เพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน มาใช้ดำเนินมาตรการได้ เนื่องจากข้อจำกัดในเรื่องขอบเขตและวัตถุประสงค์ ของการใช้เงินกองทุน
ดังนั้น จึงขอให้กระทรวงการคลัง โดยกรมสรรพสามิต พิจารณาเสนอขอรับการจัดสรร งบประมาณประจำปี พ.ศ. 2567 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ไปพลางก่อน โดยมีรายงานข่าวจากการะทรวงคลัง ระบุว่า เบื้องต้นกรมสรรพสามิต ประเมินว่าอาจจะต้องใช้งบประมาณ 1,000 ล้านบาท แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับจำนวนรถยนต์ EV ที่จะมารับการอุดหนุนภายในปี 2566 นี้ด้วย