ลุ้นทุกวันอังคาร มติครม.เคาะ EV 3.5 เงื่อนไขโหด ปี 2567 รถยนต์ไฟฟ้าราคาขึ้น

08 พ.ย. 2566 | 06:06 น.
อัพเดตล่าสุด :08 พ.ย. 2566 | 06:17 น.

บอร์ดอีวี ชงมาตรการ EV 3.5 รองรับผู้ประกอบการรายใหม่-หน้าเก่าที่ใช้สิทธิ์ต่อเนื่อง ทว่าเงินอุดหนุน ในกลุ่มรถยนต์ไฟฟ้า EV ราคาตํ่ากว่า 2 ล้านบาท ยังไม่สะเด็ดนํ้าที่ 50,000 - 100,000 บาทต่อคัน และมาในเงื่อนไขที่โหดกว่าเดิม โดยต้องรอลุ้นที่ประชุม ครม.ทุกวันอังคาร

นับจากนี้ไปจนถึงสิ้นปี บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ที่หวังจะเข้าร่วมโครงการ EV 3.5 ต้องรอลุ้นทุกวันอังคาร ว่ามาตรการนี้จะถูกนำเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี และมีมิติออกมาให้ดำเนินการเมื่อไหร่ หลังการสนับสนุนเฟสแรกจะสิ้นสุดเดือนมกราคม ปี 2567 (จากเดิมต้องจดทะเบียนรถใหม่ให้ทันเดดไลน์ 31 ธันวาคม 2566)

 

หลังจากวันที่ 1 พฤศจิกายนที่ผ่านมา นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี นั่งหัวโต๊ะเป็นประธานบอร์ดอีวี เห็นชอบ มาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ระยะที่ 2 หรือ EV 3.5 ในช่วง 4 ปี (พ.ศ. 2567 - 2570)

มาตรการ EV 3.5

โดยการสนับสนุนครอบคลุมทั้งรถยนต์นั่ง-รถกระบะ-รถจักรยานยนต์ ไฟฟ้า หวังดึงดูดนักลงทุนเพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไทย มุ่งสู่เป้าหมาย 30@30 ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า EV ให้ได้สัดส่วน 30% จากกำลังผลิตทั้งหมดในปี ค.ศ. 2030 (พ.ศ. 2573)

 

รายงานจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ระบุว่า มาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2567-2570) จะเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมมาตรการ EV 3.0 สามารถยื่นขอรับสิทธิประโยชน์ตามมาตรการใหม่นี้เพิ่มเติมได้ โดยต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขของแต่ละมาตรการ

สำหรับ EV 3.5 ภาครัฐจะให้เงินอุดหนุนรถยนต์ไฟฟ้า รถกระบะไฟฟ้า และรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า ตามประเภทของรถ และขนาดของแบตเตอรี่ โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะหารือร่วมกันเพื่อกำหนดอัตราเงินอุดหนุนที่เหมาะสมและจะนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป

ฉางอาน รอเข้ามาตรการ EV 3.5

ทั้งนี้ รายละเอียดเบื้องต้นของกลุ่มรถยนต์นั่ง EV ที่เป็นตลาดใหญ่ มีเงื่อนไข ว่า หากราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท ถ้าเป็นรถนำเข้าจะได้การลดภาษีไม่เกิน 40% (EV จีน ภาษีนำเข้า 0% อยู่แล้ว) และเสียภาษีสรรพสามิตเพียง 2% จากปกติ 8%

 

โดย EV แบตเตอรี่ตั้งแต่ 50 kWh จะได้รับเงินอุดหนุน 50,000 - 100,000 บาท ส่วนรุ่นที่แบตเตอรี่ตํ่ากว่า 50 kWh รับ 20,000 - 50,000 บาท ซึ่งจะเห็นว่าตัวเงินสนับสนุนยังไม่ชัดเจนว่า การได้รับเงินสูงสุด 1 แสนบาท จะมีเงื่อนไขอะไรบ้าง นอกเหนือไปจากการผลิตชดเชยการนำเข้า ในอัตรา ส่วน 1:2 ภายในปี 2569 (EV 3.0 นำเข้ามา 1 คัน ผลิตชดเชย 1 คัน เริ่มผลิตภายในปี 2567) หรือเพิ่มสัดส่วนนี้เป็น 1:3 หากเริ่มผลิตในปี 2570

 

ขณะเดียวกัน แบตเตอรี่ของรถยนต์ไฟฟ้าสำเร็จรูป CBU ที่นำเข้าและที่ผลิตในประเทศไทยจะต้องได้รับมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) และต้องผ่านการทดสอบ มาตรฐานสากลจากศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ (ATTRIC) อีกด้วย

 

ดังนั้นมาตรการ EV 3.5 จึงมีรายละเอียดยิบย่อย และเงื่อนไขต่างๆ ที่เข้มข้นกว่า EV 3.0 ที่สำคัญเงินสนับสนุนสูงสุด 1 แสนบาทต่อคัน ยังน้อยกว่ามาตรการเฟสแรก ย่อมมีผลต่อราคาขายรถใหม่พอสมควร

 

นั่นหมายความว่า EV รุ่นใดๆ ที่เคยขายภายใต้ MOU ของ EV 3.0 แล้วมาเข้า EV 3.5 จะต้องปรับราคาขึ้นแน่นอน

 

BOI ยังรายงานว่า จากมาตรการ EV 3.0 มีผู้เข้าร่วมทั้งสิ้น 13 แบรนด์ จาก 15 บริษัท ทั้งประเภทรถยนต์นั่งไฟฟ้า รถกระบะไฟฟ้า และรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ (มกราคม - กันยายน 2566) มียอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าใหม่จำนวน 50,340 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 7.6 เท่า