"พิมพ์ภัทรา"เร่งเครื่องดันส่งเสริมการลงทุนกว่า 359,000 คันต่อปี

14 ธ.ค. 2566 | 03:41 น.
อัปเดตล่าสุด :14 ธ.ค. 2566 | 06:29 น.

"พิมพ์ภัทรา"เร่งเครื่องดันส่งเสริมการลงทุนกว่า 359,000 คันต่อปี พร้อมรับทราบ และเห็นชอบแนวทางการดำเนินงานที่สศอ. นำเสนอ สั่งหน่วยงานเกี่ยวข้องหารือรายละเอียด ข้อกฎหมาย และรับฟังเสียงสะท้อนผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนและติดตามนโยบายการส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ครั้งที่ 1/2566 เปิดเผยว่า คณะกรรมการฯ ได้รับทราบ และเห็นชอบแนวทางการดำเนินงานที่สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ในฐานะฝ่ายเลขานุการฯ นำเสนอ ได้แก่

  • ความคืบหน้าของการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า หรืออีวี (EV
  • แนวทางการส่งเสริมการดัดแปลงรถยนต์ไฟฟ้าขนาดใหญ่ (EV Conversion) 
  • แนวทางการส่งเสริม System Integrator (SI) สำหรับอุตสาหกรรมการผลิต 
  • แนวทางการส่งเสริมและจัดการแบตเตอรี่ในประเทศ 

ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหารือในรายละเอียด ข้อกฎหมาย และรับฟังเสียงสะท้อนจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียตามระเบียบขั้นตอน เพื่อกำหนดแนวทางที่เหมาะสมในการเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมผลิตยานยนต์ไฟฟ้าครบวงจร ตั้งแต่กระบวนการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าทุกประเภททั้งรถขนาดเล็ก เช่น รถจักรยานยนต์ รถยนต์ รถกระบะ ไปจนถึงรถขนาดใหญ่ เช่น รถโดยสาร รถบรรทุก และการส่งเสริมการผลิตและการจัดการซากตลอดช่วงชีวิตการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้า หรือ End of Life Vehicle (ELV) 
 

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อการขับเคลื่อนนโยบายอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ทั้งในส่วนของการสร้างเครือข่ายผู้ผลิตเครื่องจักรกลอัตโนมัติในกระบวนการผลิต และ EV Conversion อาทิ รถขนขยะมูลฝอย รถบรรทุกน้ำ รวมถึงแนวทางการส่งเสริมกระบวนการจัดการแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า เพื่อขยายความต้องการลงทุนผลิตยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ

"บอร์ด EV"เร่งเครื่องดันส่งเสริมการลงทุนกว่า 359,000 คันต่อปี

นางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการ สศอ. ในฐานะเลขานุการฯ ระบุว่า ได้นำเสนอความคืบหน้าของการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ทั้งด้านการผลิต การใช้ และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ตามแผน 30@30 เช่น มาตรการส่งเสริมการลงทุน และมาตการ EV3 

โดยในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2566 มียอดจดทะเบียนรถไฟฟ้า (Battery Electric Vehicle :BEV) รวม 67,056 คัน ซึ่งเติบโตมากกว่า 690% หรือ 7.9 เท่า เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนซึ่งอยู่ที่ 8,483 คัน ทำให้ตลาด EV ไทยเป็นอันดับ 1 ของอาเซียน มีผู้เข้ามาลงทุนผลิตยานยนต์และชิ้นส่วนในประเทศเพิ่มขึ้น     

โดยมีผู้ที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนผลิต BEV คิดเป็นมูลค่า 39,579 ล้านบาท กำลังผลิตรวม 359,000 คันต่อปี และผู้ที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนผลิตชิ้นส่วน คิดเป็นมูลค่า 35,303 ล้านบาท 

อย่างไรก็ดี ได้นำเสนอแนวทางการส่งเสริมการดัดแปลงรถยนต์ โดยเป็นการสร้างต้นแบบการดัดแปลงรถขนาดใหญ่ให้เป็นยานยนต์ไฟฟ้า เช่น รถขนขยะมูลฝอย และรถบรรทุกน้ำ เพื่อสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าที่ผลิตในประเทศในราคาที่เหมาะสมและเข้าถึงได้ โดยให้คำนึงถึงการพัฒนาต้นแบบยานยนต์ที่มีประสิทธิภาพ และปลอดภัย 

"บอร์ด EV"เร่งเครื่องดันส่งเสริมการลงทุนกว่า 359,000 คันต่อปี

รวมไปถึงการถ่ายทอดเทคโนโลยีและสร้างมาตรฐานในการดัดแปลงยานยนต์ไฟฟ้าให้กับผู้ประกอบการ โดยมอบหมายให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ดำเนินการกำหนดมาตรการ และกลไกในการขับเคลื่อนการส่งเสริมยานยนต์ดัดแปลงประเภทต่าง ๆ ผ่านคณะอนุกรรมการฯ ซึ่งอยู่ภายใต้คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติต่อไป

อีกทั้งยังได้นำเสนอแนวทางการส่งเสริม System Integrator (SI) สำหรับอุตสาหกรรมการผลิต โดยกระทรวงอุตสาหกรรมได้จัดทำมาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในกระบวนการผลิต ครอบคลุมมาตรการทางภาษีและมิใช่ภาษี โดยมีมาตรการที่มุ่งเน้นเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของ SI ผ่านการดำเนินงาน เช่น พัฒนาบุคลากร SI จำนวน 1,301 คน และบุคลากรในสถานประกอบการ จำนวน 3,665 คน รวมทั้งพัฒนาต้นแบบหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ จำนวน 185 ต้นแบบ 

ปัจจุบันมี SI ที่ขึ้นทะเบียนรายกิจการจำนวน 121 กิจการ ผ่านกลไกศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ Center of Robotics Excellence (CoRE) มีผู้ประกอบการขอรับการส่งเสริมการลงทุนเพื่อปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตไปใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติจำนวน 271 กิจการ มูลค่ารวม 27,710 ล้านบาท 

"คณะกรรมการฯ ได้แลกเปลี่ยนความเห็นต่อแนวทางการส่งเสริม SI ให้มีศักยภาพและเพียงพอสำหรับอุตสาหกรรมการผลิต รวมถึงการพัฒนาไปสู่อุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เช่น การผลิตยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งจะเป็นโอกาสที่ดีของ SI ไทยที่จะสามารถเชื่อมโยงอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติของไทย เข้าสู่ห่วงโซ่อุปทานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนในประเทศ"

อย่างไรก็ตาม ยังได้นำเสนอแนวทางการส่งเสริม และจัดการแบตเตอรี่ในประเทศ สร้างมูลค่าจากการจัดการแบตเตอรี่ใช้แล้วเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ตามนโยบายเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ประกอบด้วย กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการนำมาใช้ซ้ำ (Reuse) และการนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) เนื่องจากแบตเตอรี่มีมูลค่าสูง 

ซึ่งจากผลการศึกษาที่ได้ประเมินว่าแบตเตอรี่จากยานยนต์ไฟฟ้าที่ใช้แล้ว ยังสามารถนำมาใช้ซ้ำในอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า หรือ การผลิตอุปกรณ์สำรองไฟฟ้า (Energy Storage System: ESS) และส่วนใหญ่ใช้ในอุตสาหกรรมดิจิทัล เช่น Cloud Service โดยคณะกรรมการฯ ได้มอบหมายให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ,กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ,สมอ. และสศอ. พิจารณากฎหมายที่เกี่ยวข้องในการควบคุม และติดตามการจัดการแบตเตอรี่ให้เหมาะสม โดยกระทรวงอุตสาหกรรมจะดำเนินการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการฯ เพื่อศึกษารายละเอียด และกำหนดแนวทางการส่งเสริมในเรื่องดังกล่าวให้เป็นรูปธรรมต่อไป