ช่วงปลายปีที่ผ่านมา โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย เพิ่งเปิดตัวรถกระบะอเนกประสงค์สายพันธุ์ใหม่ Hilux Champ ใช้เครื่องยนต์ดีเซล 2.4 ลิตร ราคา 4.59 - 5.77 แสนบาท ส่วนแผนเปิดตัวโปรดักต์ใหม่ ที่คาดว่าจะได้เห็นช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน นี้ คือรถกระบะสมรรถะสูง Toyota Hilux Revo GR Sport โมเดลปี 2024 ที่ได้รับการอัพเกรดจาก GR Sport รุ่นปัจจุบัน(ราคา 1.299 ล้านบาท)
ด้วยการเพิ่มกำลังเครื่องยนต์ดีเซล 2.8 ลิตร เทอร์โบแปรผัน จาก 204 แรงม้า เป็น 224 แรงม้า แรงบิดจาก 500 นิวตัน-เมตรเป็น 550 นิวตัน-เมตร พร้อมขยายฐานล้อหน้า 140 มม. ฐานล้อหลัง 155 มม. เพิ่มความสูงอีก 20 มม. ปรับปรุงช่วงล่างใหม่ และใส่ดิสก์เบรกหลังมาให้
สำหรับ Toyota Hilux Revo GR Sport โมเดลปี 2024 กำลัง 224 แรงม้า TMC ผลิตเพื่อส่งออกไปออสเตรเลียตั้งแต่ต้นปี 2566 และการทำตลาดในไทยต้นปีนี้ จะกลายเป็นกระบะที่กำลังแรง และราคาสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ของโตโยต้าในไทย คาดราคาประมาณ 1.5 ล้านบาท
ทั้งนี้ ภายในงาน Toyota Multi Pathway ที่จัดขึ้น ณ สนามช้างฯ จ.บุรีรัมย์ ช่วงปลายปี 2566 บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น นำรถกระบะพลังงานไฟฟ้าต้นแบบ 3 รุ่นมาให้สื่อมวลชนได้ลองขับสั้นๆ และเปิดเผยถึงข้อมูลทางเทคนิคบางส่วน โดยทั้งหมดพัฒนาบนโครงสร้างบอดี้ออนเฟรม ภายใต้แชสซีส์ของ Toyota Hilux เจเนอเรชันปัจจุบัน
เริ่มจาก Toyota Hilux Diesel HEV ใช้เครื่องยนต์ดีเซลรหัส 1GD ขนาด 2.8 ลิตร ไมลด์ไฮบริด 48 โวลต์ ส่งกำลังด้วยเกียร์อัตโนมัติ 8 สปีด เมื่อเติมน้ำมันเต็มถัง รถวิ่งได้ระยะทาง 1,200 กม. ตลอดจน Toyota Hilux FCEV รถกระบะ Fuel Cell ใช้มอเตอร์ขับเคลื่อนเพลาหลัง โดยไฟฟ้าที่ได้มาจากก๊าซไฮโดรเจนที่ถูกส่งผ่าน Fuel Stack เมื่อเติมไฮโดรเจนเต็ม 3 ถัง รถจะวิ่งได้ 600 กม.
ขณะที่รถกระบะไฟฟ้า BEV เคยนำมาอวดโฉมตลอดปี 2566 ล่าสุดโตโยต้าอัพเดตว่า เมื่อชาร์จไฟเต็มหนึ่งครั้งรถสามารถวิ่งได้ 300 กม. แต่ยังไม่เปิดเผยสเปกของแบตเตอรี่
นายมาซาฮิโกะ มาเอดะ เจ้าหน้าที่บริหารภูมิภาคเอเชีย บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น (TMC) เปิดเผยว่า รถกระบะไฟฟ้าทั้ง 3 รุ่นมีแผนขายในไทย ซึ่งสอดคล้องกับนโยบาย Toyota Multi Pathway ที่ต้องการนำเสนอทางเลือกที่หลากหลายในการเดินทาง อย่าง Hilux Diesel HEV เหมาะกับการใช้งานส่วนบุคคล ขณะที่ Hilux FCEV สามารถใช้ในธุรกิจขนส่ง ส่วน Hilux BEV (วิ่งได้ระยะทางสั้นๆ) รองรับธุรกิจขนส่งที่มีเส้นทางประจำ หรือใช้ในเหมืองอุตสาหกรรม
ส่วนการที่นายกรัฐมนตรีไทย นายเศรษฐา ทวีสิน เคยออกมาให้ข่าวหลังเข้าพบผู้บริหาร TMC ที่ประเทศญี่ปุ่น (ต้นเดือน ธ.ค.66) ว่า โตโยต้า เตรียมผลิตรถกระบะ EV ในไทยปี 2025 ซึ่งประเด็นนี้บริษัทไม่สามารถยืนยันได้ 100% เพราะต้องดูสถานการณ์ต่างๆ ก่อนตัดสินใจในเรื่องนี้
จริงๆ โตโยต้าได้เข้าไปคุยท่านนายก และเจ้าหน้าที่ภาครัฐ เกี่ยวกับวิธีการส่งเสริมอุตสาหกรรมไทยในหลายๆ ด้าน ซึ่งการเพิ่มศักยภาพให้แข็งแกร่งจำเป็นต้องมีนโยบายอื่นๆ รองรับ เช่น ส่งเสริมการส่งออก การทำให้ผู้คนตระหนักรู้ถึงความเป็นกลางทางคาร์บอน ตลอดจนคำนึงถึงเครือข่ายซัพพลายเชน ที่ถือเป็นพื้นฐานของอุตสาหกรรมยานยนต์ และมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศ
“เราจะเสริมความสามารถในการแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ได้อย่างไร และที่ผ่านมาไทยมีความแข็งแกร่งเรื่องซัพพลายเชน เรียกกว่าแกร่งที่สุดในอาเซียน แต่การมาของ EV เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่า ซัพพลายเออร์เหล่านี้จะเข้ามาลงทุนในไทย ดังนั้นถ้าต้องการมุ่งไปที่ EV รัฐบาลต้องมีนโยบายดึงนักลงทุนมาสร้างซัพพลายเชนรถยนต์ไฟฟ้าด้วย ถ้าทำได้ถึงจะรักษาขีดความสามารถการแข่งขันได้” นายมาเอดะ กล่าว