แม้จะเตรียมการล่วงหน้ามาหลายปี แต่โปรเจ็กต์ Honda e:N1 กลายเป็นเรื่องยุ่ง วุ้งวิ้ง ตาลายคล้ายจะเป็นลม มากกว่าที่ฮอนด้าประเมินไว้ จากแผนขึ้นไลน์ประกอบ EV รุ่นแรกในไทย
Honda e:N1 เริ่มประกอบที่โรงงาน ฮอนด้า ออโตโมบิล จ.ปราจีนบุรี ช่วงปลายปี 2566 ซึ่งฉากหน้าที่ถ่ายภาพส่งข่าวประชาสัมพันธ์สวยงาม แต่เบื้องหลังนั้น ปวดใจไม่ราบรื่นอย่างที่คิด
เอาเป็นว่า การประกอบ EV ในไทย เป็นภาคบังคับที่ฮอนด้าต้องทำอยู่แล้วครับ ตามเงื่อนไขของบัตรส่งเสริมส่งการลงทุนกับ BOI โดยการตัดสินใจตอนนั้น ยังไม่เกี่ยวกับมาตรการ EV 3.0 หรือ EV 3.5 ที่คลอดออกมาใหม่
แต่นั่นละครับ เมื่อเริ่มลงมือทำโปรเจ็กต์กันอย่างจริงจัง ยังต้องพึ่งพาบริษัทพันธมิตร จากจีน จึงกลายเป็นโดนโขกทั้ง ราคาชิ้นส่วนต่างๆ (เพราะสั่งจำนวนน้อย) แถมโดนกรมศุลกากร ตีความด้านภาษีนำเข้าแบบเต็มพิกัด ยิ่งทำให้ต้นทุนของรถก่อนบวกกำไร สูงกว่าที่ฮอนด้าประเมินไว้ในตอนแรก
ดังนั้น ถ้าทำเอสยูวีพลังงานไฟฟ้ารุ่นนี้ขายเป็นการทั่วไปจริงๆ ราคาอาจจะกระโดดไปถึง 2 ล้านบาท (ถ้านำเข้าทั้งคัน อาจจะทำราคาได้ดีกว่า) ซึ่งถ้าเป็นเมื่อก่อนที่แบรนด์ญี่ปุ่นควบคุมตลาดเบ็ดเสร็จ และยังไม่มี EV จีนเข้ามาถล่ม ผมเชื่อว่าฮอนด้า นำ Honda e:N1 ขึ้นไปขายบนโชว์รูมแน่นอน แต่เมื่อรถจีนได้เปรียบเรื่องต้นทุนและภาษีนำเข้า พร้อมขายราคาล้านต้นๆ งานนี้ฮอนด้าจึงต้องขอหมอบ โดยเลือกที่จะผลิตแล้วปล่อยเช่าระยะยาว 2-5 ปีแทน (ผ่านบริษัทรถเช่าที่เป็นพันธมิตรกัน แต่ตัวรถฮอนด้ายังเป็นเจ้าของ 100%)
Honda e:N1 พัฒนาต่อยอดมาจาก Honda HR-V โฉมปัจจุบัน เรียกว่ายังไม่ใช่แพลตฟอร์ม EV แท้ๆ ดังนั้นเรายังเห็นแบตเตอรี่ห้อยตํ่ากว่าท้องรถเดิม และมีจุดชาร์จไฟอยู่ที่กระจังหน้า
สำหรับจุดชาร์จไฟฝังไว้ที่กระจังหน้า รองรับ AC 11 kW และ DC 78 kW ซึ่งการอยู่ในตำแหน่งนี้ สะดวกต่อการชาร์จ เพียงแต่ถ้าเกิดอุบัติเหตุการชนด้านหน้า อาจจะเกิดความเสียหายได้ง่าย
ด้านมอเตอร์ไฟฟ้าขับเคลื่อนล้อหน้ากำลัง 204 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 310 นิวตัน-เมตร แบตเตอรี่ลิเธียม-ไอออน NMC ความจุ 68.8 kWh ชาร์จไฟเต็มหนึ่งครั้งวิ่งได้ระยะ 500 กม. (มาตรฐาน NEDC)
รีวิว Honda e:N1 ขับจริงระบบขับเคลื่อนตอบสนองดี และไม่ออกแนวกระชากแบบหน้าทิ่มหัวจิก อัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ทำได้ 7.7 วินาที ขณะที่ช่วงล่างการควบคุมเนียนแน่นกว่าเอสยูวี EV จีนทุกรุ่นที่ขายอยู่ในท้องตลาดปัจจุบัน
เหนืออื่นใด ยังมีโหมดการขับขี่ให้เลือก 3 แบบ เหมือนกับรถยนต์ฮอนด้าหลายๆ รุ่น คือ Normal Sport และ Eco แถมด้วยแพดเดิลชิปหลังพวงมาลัย เพื่อควบคุมระบบเบรกรีเจเนอเรทีฟ ว่าจะเอาหน่วงมากหรือน้อยได้ตามต้องการ
ผมยังแอบชอบจอสัมผัสขนาด 15.1 นิ้ว รองรับ Apple CarPlay แบบไร้สายและ Android Auto ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ชั้น เห็นชัดเจนใช้งานสะดวก แบบไม่ต้องกดเข้าไปเมนูลึกๆ โดยด้านบนแสดงระบบนำทางและสะท้อนภาพขณะถอยหลัง ตรงกลางเป็นค่าสำคัญต่างๆ ของรถ และด้านล่างสุดเป็นการควบคุมแอร์อัตโนมัติ
ส่วนความปลอดภัย Honda SENSING มีระบบช่วยเตือนมุมอับสายตาที่กระจกมองข้าง (Blind Spot Information - BSI) ระบบเตือนเมื่อมี รถผ่านขณะถอย (Cross Traffic Monitor - CTM) และกล้องส่องภาพด้านหลัง แน่นอนว่าไม่มีฟังก์ชันลูกรักอย่าง Honda Lane Watch และไม่มีกล้องรอบคันมาให้
ด้านอัตราบริโภคพลังงานแสดงผลชัดเจนคำนวณง่าย ซึ่ง รีวิว Honda e:N1 ครั้งนี้ ผมได้ตัวเลข 6 กิโลเมตร ต่อ 1 kWh โดยผมลองขับจากกรุงเทพไปนครนายก ระยะทางกว่า 100 กม.ใช้ความเร็วตามกฎหมายกำหนด ดังนั้นหากวิ่งจริงจากข้อมูลนี้ รถจะวิ่งได้ระยะทางประมาณ 412 กิโลเมตร ต่อ การชาร์จไฟเต็มหนึ่งครั้ง
รวบรัดตัดความ...เป็นก้าวแรกของฮอนด้า ออโตโมบิล ประเทศไทย ที่เริ่มขึ้นไลน์ประกอบ EV ในไทย แน่นอนว่ายังไม่ราบรื่นนัก และหากมองว่า Honda e:N1 ปล่อยเช่า และฮอนด้ายังดูแลเรื่องบริการหลังการขายทั้งหมด สามารถอุ่นใจได้ และบริษัทจะได้มีโอกาสเก็บข้อมูลต่างๆ จากการใช้งานจริง เพื่อนำไปศึกษากับการทำตลาด EV รุ่นต่อๆ ไป ซึ่งจะเป็นการ นำเข้าทั้งคันจากจีน หรือจะประกอบที่โรงงาน จ.ปราจีนบุรี ต้องรอดูกันต่อไป แต่ถ้าพูดถึงสมรรถนะการขับขี่ล้วนๆ Honda e:N1 เป็นรถยนต์ไฟฟ้าที่ขับดีมากนะครับ
รีวิว Honda e:N1 : กรกิต กสิคุณ