จากนโยบายรัฐบาลได้ให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวมาโดยตลอด โดยตั้งแต่ปี 2562 ถึงปัจจุบันรัฐบาลต้องใช้งบประมาณเพื่อดำเนินโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีละกว่า 54,300 ล้านบาท ซึ่งเป็นการใช้เงินตามมาตรา 28 ของนโยบายการเงินการคลังของประเทศ เป็นการบริหารจัดการสภาพคล่องของประเทศเพื่อสนับสนุนการลดต้นทุนการผลิตและค่าเก็บเกี่ยวข้าวให้กับเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 20 ไร่ (ไม่เกินครัวเรือนละ 20,000 บาท)
ล่าสุดรัฐบาลได้ปรับเปลี่ยนนโยบายลดต้นทุนการเกษตร ผ่านโครงการปุ๋ยคนละครึ่ง ใน 2 สูตรปุ๋ยเคมี ตามผลการศึกษางานวิจัยของศูนย์เทคโนโลยีชีภาพการเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ได้แก่ ปุ๋ยสูตร 20-8-20 เหมาะสำหรับข้าวที่ไวต่อช่วงแสง และปุ๋ยสูตร 25-7-4 ล่าสุดมีความเคลื่อนไหวจากที่ประชุมผู้บริหารระดับสูงกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ถึงแนวทางการบริหาร “ปุ๋ยคนละครึ่ง”
แหล่งข่าวจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ในที่ประชุมเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2567 ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้สั่งการให้นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกรมการข้าว ได้เข้าไปตรวจสอบโครงการปุ๋ยคนละครึ่งว่าจะทำอย่างไรเพื่อให้เกษตรกรได้รับประโยชน์สูงสุด และไม่มีการล็อกสเปกสูตรปุ๋ยหรือบริษัทที่เข้าร่วมโครงการ ตามข้อกังวลของสังคมที่จับตามอง
ทั้งนี้มีชาวนาที่จะได้รับการสนับสนุนปุ๋ยในอัตราไม่เกินไร่ละ 50 กิโลกรัม (กก.) ครัวเรือนละไม่เกิน 20 ไร่ โดยรัฐช่วยเหลือค่าปุ๋ยครึ่งหนึ่งให้กับเกษตรกรที่จะปลูกข้าวในปีการผลิต 2567/68 ที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตรประมาณ 4.68 ล้านครัวเรือน แบ่งเป็นเกษตรกรที่ปลูกข้าวทั่วไป 4.48 ล้านครัวเรือน และเกษตรกรที่ปลูกข้าวอินทรีย์ 2 แสนครัวเรือน โดยจะสนับสนุนให้ใช้ 2 ปุ๋ยสูตร เพื่อเพิ่มรายให้ให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวเป็น 3 เท่าในระยะเวลา 4 ปี โดยทางกรมการข้าว ได้มีการปรับลดงบประมาณของโครงการนี้ใหม่เหลือ 2.98 หมื่นล้านบาท จากเดิม 3.3 หมื่นล้านบาท ก่อนที่จะเสนอโครงการต่อคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) และเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบ และอนุมัติงบประมาณต่อไป
นายอุบลศักดิ์ บัวหลวงงาม ประธานคณะกรรมการกลางกลุ่มเกษตรกรแห่งประเทศไทย กล่าวว่า โครงการปุ๋ยคนละครึ่ง ต้องถามว่าราคาปุ๋ยเท่าไร แล้วปุ๋ยสูตรดังกล่าวมีมาตรฐานแค่ไหน จะให้ชาวนาเป็นหนูทดลองให้กับนักธุรกิจหรือ? วันนี้ถ้าจะช่วยเหลืออย่างแท้จริงควรให้เงินให้เปล่าไปเลย จะไปซื้ออะไรก็เป็นเรื่องของชาวนา เพราะต้องซื้ออยู่แล้ว ที่สำคัญดินแต่ละพื้นที่กับความต้องการใช้ปุ๋ยก็ไม่เหมือนกัน เกรงจะเกิดการทุจริตเชิงนโยบาย ซํ้ารอยคดีกล้ายางพาราในอดีต
สอดคล้องกับนายพงษ์เทพ อันตะริกานนท์ นายกสมาคมธุรกิจปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยชีวภาพไทย ที่กล่าวว่า ในช่วงสถานการณ์เช่นนี้ มองว่าการช่วยเหลือเงินไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 20 ไร่แก่ชาวนาน่าจะเหมาะกว่า เนื่องจากปัจจุบันทั่วประเทศมีปัญหาเรื่องขาดนํ้า ดังนั้นไม่ว่าปุ๋ยเคมี และปุ๋ยอินทรีย์ ต้องใช้ในพื้นที่ที่มีความชุ่มชื้น เพื่อต้นข้าวได้ดูดซับปุ๋ยได้ ดังนั้นต้องดูจังหวะที่เหมาะสมในการให้ปุ๋ยกับชาวนา เพื่อให้ได้ผลผลิตเต็มเม็ดเต็มหน่วย แต่ถ้าจะให้ได้ประโยชน์สูงสุดมองว่าควรให้เป็นตัวเงินดีกว่า
อนึ่ง โครงการปุ๋ยคนละครึ่ง กรอบวงเงินงบประมาณโครงการทั้งสิ้น 29,855.363 ล้านบาท กรมการข้าว รายงาน ณ วันที่ 1 พ.ค. 67 1.รัฐบาลใช้เงินทุน ธ.ก.ส.สำรองจ่ายการดำเนินงานตามความต้องการฯ โดยจัดสรรงบประมาณชดเชยต้นทุนเงินในอัตราต้นทุนทางการเงินประจำไตรมาส (ปัจจุบันเท่ากับ 1.78) บวกค่าใช้จ่ายการดำเนินงาน (ปัจจุบันเท่ากับ 1.89) เท่ากับอัตราร้อยละ 3.67 ต่อปี โดให้มีการปรับเปลี่ยนอัตราต้นทุนทางการเงินที่แท้จริงทุกไตรมาส จำแนกเป็น ค่าปุ๋ยให้กับเกษตรกร จำนวน 28,350 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ 1,182.95 ล้านบาท และ 2.งบกลางฯ ปี 2567 เป็นค่าดำเนินการจัดหาปุ๋ยและส่งมอบ 323.163 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินโครงการตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติ-31 พฤษภาคม 2568
หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,990 วันที่ 9-11 พฤษภาคม พ.ศ. 2567