สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานอ้างอิงแถลงการณ์ของ กระทรวงกลาโหมจีน เมื่อวันพฤหัสฯ (9 พ.ค.) ว่า จีน จะส่ง เรือรบ สองลำมายัง กัมพูชา และติมอร์ตะวันออกในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงกลางเดือนมิถุนายน โดยลำหนึ่งจะเป็นเรือฝึกขนาดใหญ่ที่สุดของทัพเรือจีน คือ เรือฉีจี้กวง (Qijiguang) และอีกลำเป็นเรือยกพลขึ้นบกขนาดกลางชื่อจิงกวงชาน (Jinggangshan) ซึ่งจะใช้ในการฝึกเหล่าทหารของกัมพูชาและติมอร์ตะวันออก และกระชับความสัมพันธ์อันดีระหว่างทัพเรือของทั้งสามประเทศ
ทั้งนี้ กลาโหมจีนไม่ได้ให้รายละเอียดว่า เรือจะจอดเทียบที่ฐานทัพใดระหว่างอยู่ที่กัมพูชาและติมอร์ตะวันออก
ข่าวระบุว่า เรือจิงกวงชานนั้นสามารถบรรทุกเฮลิคอปเตอร์ รถหุ้มเกราะ เรือเล็ก เรือระบายพล รวมทั้งนายทหารจำนวนเกือบ 1,000 นาย ขณะที่เรือฉีจี้กวงเป็นเรือขนาดเล็กกว่าจิงกวงชาน แต่ก็เพียบพร้อมด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุดสำหรับการฝึกทางการทหาร
ความเคลื่อนไหวของจีนครั้งนี้ อาจจจะเพิ่มความกังวลใจให้กับสหรัฐเกี่ยวกับบทบาทของจีนที่ฐานทัพเรือเรียม (Ream Naval Base) ในกัมพูชา ซึ่งเพิ่งมีการปรับปรุงและขยายพื้นที่โดยได้รับการสนับสนุนจากจีน โดยเมื่อตอนที่รัฐบาลกัมพูชาอนุมัติให้จีนช่วยพัฒนาฐานทัพเรือเรียมนั้น รัฐบาลสหรัฐได้แสดงความไม่พอใจและถามหา "ความโปร่งใส" เกี่ยวกับบทบาทของจีนในการพัฒนาฐานทัพเรือแห่งนี้ และสมเด็จฮุนเซน ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีกัมพูชาในขณะนั้น ได้ออกมาโต้กลับ โดยระบุว่า ข่าวลือที่ว่ารัฐบาลกัมพูชาลงนามทำข้อตกลงให้สิทธิพิเศษแก่รัฐบาลจีนในการใช้พื้นที่บางส่วนของฐานทัพเรือเรียมซึ่งตั้งอยู่ในอ่าวไทย และอยู่ไม่ไกลจากสนามบินขนาดใหญ่ที่จีนเป็นผู้ก่อสร้างที่เกาะกงนั้น "เป็นข่าวลวงเกี่ยวกับกัมพูชาที่เลวร้ายที่สุด"
สมเด็จฮุนเซนยังย้ำด้วยว่า เรื่องนี้ไม่มีทางเกิดขึ้นได้จริง เพราะการให้ต่างชาติใช้ฐานทัพนั้นถือว่าขัดกับรัฐธรรมนูญของกัมพูชาเอง
สำหรับฐานทัพเรียมที่ถูกกล่าวถึงนั้น ตั้งอยู่บริเวณสำคัญในอ่าวไทย และทำให้จีนสามารถปักหมุดทางยุทธศาสตร์ใกล้กับทะเลจีนใต้ ซึ่งเป็นเขตที่จีนมีข้อพิพาททางทะเลอยู่กับหลายประเทศรวมทั้งชาติสมาชิกอาเซียนอย่างเวียดนามและฟิลิปปินส์
ทั้งนี้ ก่อนที่จีนจะเข้ามาช่วยพัฒนาส่วนขยายของฐานทัพเรือเรียมเมื่อเดือนมิถุนายนปี 2022 นั้น ฐานทัพเรือแห่งนี้ เคยถูกใช้สำหรับการซ้อมรบระหว่างสหรัฐฯ และกัมพูชามาก่อน ทางฝ่ายสหรัฐจึงตระหนักดีถึงความสำคัญของฐานทัพเรือเรียม และประโยชน์หรือความได้เปรียบที่จะได้จากการใช้ฐานทัพเรือดังกล่าว
นับตั้งแต่เดือนธ.ค.ปี 2566 จีนได้ส่งเรือรบมาจอดที่ฐานทัพเรือเรียมสองลำและยังคงอยู่มาจนถึงขณะนี้ โดยกระทรวงกลาโหมกัมพูชายืนยันว่า เรือทั้งสองลำของจีนซึ่งมาจอดอยู่นั้น ไม่ได้เป็นการประจำการถาวรในกัมพูชาแต่อย่างใด
ทั้งนี้ จีนได้สานสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับกัมพูชาซึ่งเป็นหนึ่งในชาติสมาชิกอาเซียนมากยิ่งขึ้นในช่วงหลายีที่ผ่านมา โดยในปี 2566 มีการแลกเปลี่ยนการเยือนของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของทั้งสองฝ่ายหลายครั้ง รวมทั้งการเยือนของเจ้าหน้าที่ระดับสูงด้านกลาโหมด้วย
ข้อมูลอ้างอิง