สิ่งของใกล้ตัวที่เป็นอันตรายกับตัวเด็ก มักเกิดขึ้นให้เห็นเป็นข่าวอยู่บ่อย ๆ ครั้ง อย่างรายล่าสุดมีเรื่องปรากฎขึ้นในโลกโซเชียลมีเดีย หลังมีเด็กน้อยรายหนึ่งเผลอกลืน “เบบี้คริสตัล” หรือตัวดูดน้ำ เข้าไปแล้วเกิดการพองตัวในลำไส้ ถือเป็นอุทาหรณ์ถึงบรรดาพ่อแม่ผู้ปกครองต้องระวังไม่ให้บุตรหลานเข้าใกล้กับสิ่งของอันตรายเหล่านี้
ล่าสุด สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ออกมาแจ้งเตือน โดยขอให้พ่อแม่ผู้ปกครองระวังอย่าเผลอซื้อให้ลูกเล่น เพราะตัวดูดน้ำ น้ำตานางเงือก หรือ เบบี้คริสตัล ของเล่นชนิดนี้เป็นอันตรายมากสำหรับเด็ก เพราะตัวดูดน้ำสามารถพองตัวได้ในน้ำย่อยเทียม ซึ่งมีสภาพเดียวกับน้ำย่อยในกระเพาะสำไส้มนุษย์
ที่น่าตกใจคือ ของเล่นชนิดนี้ สามารถพองตัวได้ถึง 5 เท่า ภายในระยะเวลาการย่อยตามสภาพในกระเพาะ และยังมีลักษณะเหนียวไม่มีการย่อยตัว หากกลืนกินเข้าไปจะส่งผลให้เกิดความผิดปกติต่อระบบย่อยการขับถ่ายและทำให้ลำไส้อุดตันได้
ที่ผ่านมา คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ คคบ. ได้ออกคำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ที่ 9/2527 เรื่อง ห้ามขายสินค้าที่เรียกว่า “ของเล่นชนิดพองตัว เมื่อแช่น้ำหรือตัวดูดน้ำ" ซึ่งได้ประกาศใช้ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ตั้งแต่วันที่ 8 พฤศจิกายน 2527
พร้อมทั้งกำหนดบทลงโทษ หากพบว่ามีผู้ประกอบธุรกิจที่ฝ่าฝืนผลิตเพื่อขาย สั่ง หรือนำเข้ามาในประเทศ เพื่อขาย หรือขายสินค้า มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 600,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับด้วย
อ่าน : คำสั่งห้ามขายสินค้าที่เรียกว่า “ของเล่นชนิดพองตัว เมื่อแช่น้ำหรือตัวดูดน้ำ"
รู้จักของเล่นอันตรายตัวดูดน้ำ “เบบี้คริสตัล”
ตัวดูดน้ำ “เบบี้คริสตัล” มีลักษณะเป็นเม็ดกลมขนาดเล็กสีสันต่าง ๆ ซึ่งผลิตจากสารเคมีคือสารโพลีอะครีลาไมด์ (polyacrylamide) และ สารโพลิเมอร์ดูดซับยิ่งยวด (Super absorbent polymers) มีคุณสมบัติช่วยดูดซับน้ำ หากนำไปแช่ไว้ในน้ำเพียงแค่ไม่กี่นาทีจะค่อย ๆ พองตัวขึ้นมาได้อย่างน้อย 5 เท่าตัวเป็นก้อนวุ้นหรือเจลใสที่เด็ก ๆ ชอบนำไปเล่น
คำสั่งห้ามขายตัวดูดน้ำของสคบ.
สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ สคบ.ได้พิจารณาเมื่อปี 2527 มีความเห็นว่า สินค้าที่เรียกกันว่า “ของเล่นชนิดพองตัวเมื่อแช่น้ำ” หรือ “ตัวดูดน้ำ” เป็นสินค้าที่อาจเป็นอันตรายแก่ผู้บริโภคโดยเฉพาะแก่เด็กเล็ก แม้ในต่างประเทศหลายประเทศจะยอมให้มีการจำหน่ายสินค้าดังกล่าวโดยมีฉลากกำกับไว้
แต่ตามสภาพของประเทศไทยในปัจจุบัน การให้ความสนใจหรือ ความสำคัญแก่ฉลากกำกับสินค้าของผู้บริโภคยังมีน้อย ดังนั้น แม้ว่าจะกำหนดให้เป็นสินค้าควบคุมฉลากและกำหนดให้ฉลากแสดงคำเตือน วิธีใช้ และวัตถุประสงค์ของสินค้าอย่างถูกต้องเพียงพอ ก็ไม่น่าเชื่อว่า จะสามารถป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้
โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้านี้เป็นสินค้าประเภทของเด็กเล่น ผู้ใช้ สินค้าเป็นแต่เพียงผู้บริโภคที่เป็นเด็กเล็กๆ ซึ่งไม่เข้าใจความหมายของฉลาก ประกอบกับปริมาณสินค้าที่ ผู้ประกอบธุรกิจแจ้งจำนวนมามีเพียง 126,300 ตัว ซึ่งมีมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่มาก ไม่เป็นสินค้าที่มีความ จำเป็นและไม่ใช่ของเล่นที่สามารถเอื้อประโยชน์ให้แก่เด็ก
ดังนั้นจึงมีมติว่า สมควรมีคำสั่งห้ามขายสินค้าที่เรียกกันว่า “ของเล่นชนิดพองตัวเมื่อแช่น้ำ” หรือ “ตัวดูดน้ำ” เป็นการถาวร พร้อมกำหนดบทลงโทษสำหรับผู้ประกอบธุรกิจที่ขาย สั่ง หรือนำเข้ามาในประเทศด้วย